ผู้เขียน | บัณฑิตา คงสิน |
---|---|
เผยแพร่ |
“เวนิสวานิช” บทละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงนำเอาบทละครจากกวีชื่อดังอย่าง วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) มาแปล และนำมาแสดงเป็นละครพูดในคณะละครนายในของพระองค์

วิลเลียม เชกสเปียร์ นักกวี นักเขียนบทละคร ได้รับการขนานนามว่าเป็นกวีแห่งชาติของอังกฤษ ผลงานของเขามีการแปลในหลายภาษา เช่น โอเธลโล (Othello) คิงเลียร์ (King Lear) แม็คเบธ (Macbeth) เดอะเทมเปสต์ (The Tempest) และ โรมิโอ แอนด์ จูเลียต (Romeo and Juliet)
เวนิสวานิช (The Merchant of Venice) เป็นวรรณกรรมโรแมนติก เรื่องราวของ อันโตนิโย (Antonio) พ่อค้าแห่งเมืองเวนิสที่ต้องหาเงินให้เพื่อนสนิทชื่อ บัสสานิโย (Bassanio) เพื่อใช้เดินทางไปเมืองเบลมอนต์ (Belmont) เพื่อพบนางเปอร์เชีย (Portia) คนรัก อันโตนิโยจึงไปขอยืมเงินไชล็อก (Shylock) พ่อค้าเงินกู้ โดยมีเงื่อนไขว่า หากอันโตนิโยหาเงินมาคืนภายใน 3 เดือนไม่ได้ จะขอเนื้อ 1 ปอนด์จากร่างกายอันโตนิโย
เมื่ออันโตนิโยนำเงินมาคืน ไชล็อกกลับอยากแก้แค้นอันโตนิโย จึงเล่นแง่จนเป็นคดีความ สุดท้ายมีคำสั่งตัดสินว่า ไชล็อกสามารถตัดเนื้อไปจากร่างกายอันโตนิโยได้ แต่ห้ามนำเลือดจากตัวอันโตนิโยไปแม้แต่หยดเดียวเพราะนั่นไม่มีในสัญญา
ไชล็อกรู้ตัวว่าไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ จึงขอยอมแพ้ แต่ด้วยความฉลาดของนางเปอร์เชีย เธอได้บอกกับเขาว่า เพื่อเป็นการลงโทษไชล็อกต้องยกมรดกให้อันโตนิโย อันโตนิโยได้ยื่นข้อเสนอว่าถ้าไชล็อกเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์เขาสามารถเก็บมรดกไว้ครึ่งหนึ่งได้ ไชล็อกจึงตอบตกลงก่อนจะจากไป

รัชกาลที่ 6 ได้กล่าวถึงเหตุผลของการแปลเรื่องนี้ไว้ในคำนำของหนังสือเวนิสวานิชว่า “…เรื่องลครของเชกสเปียร์, นอกจากเปนเรื่องสำหรับเล่นออกโรงให้คนดู, เขาย่อมยกย่องกันว่าเปนหนังสือที่ควรอ่าน, เพราะเปนแบบอย่างอันดีแห่งจินตะกวีนิพนธ์ เต็มไปด้วยโวหารอันกล้า และถ้อยคำรจนาอย่างสละสลวย…เมื่อคำนึงดูว่า ในภาษายุโรปโดยมากมีคำแปลบทลครของเชกสเปียร์แล้ว, และในภาษาญี่ปุ่นก็มีแล้ว, ข้าพเจ้าก็ออกจะนึกละอายแก่ใจ ที่ในภาษาไทยเราไม่มีบ้างอย่างเขา. ”
โดยก่อนหน้าที่รัชกาลที่ 6 จะนำมาแปล หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) ได้ทำการแปลไว้แต่ไม่ได้ตรงตามแบบของเชกสเปียร์ ที่เป็นบทละครพูด พระองค์จึงได้นำมาแปลใหม่โดยคงรูปแบบเดิมไว้ซึ่งเป็นบทพูดโต้ตอบกัน
การแปลบทละครเรื่องนี้ของรัชกาลที่ 6 นั้น ยังสะท้อนถึงการที่พระองค์มีพระราชประสงค์แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในภาษา เพื่อให้ชาติตะวันตกอื่น ๆ ทราบถึงความเจริญก้าวหน้าของสยามในเวลานั้นว่ามีความศิวิไลซ์ไม่น้อยไปกว่าชาติตะวันตกอย่างอังกฤษ และฝรั่งเศส
สรุปแล้วเนื่องด้วยรัชกาลที่ 6 โปรดปรานบทกวีของเชคสเปียร์เป็นพิเศษ ทำให้พระองค์แปลบทละครเรื่องเวนิสวานิชขึ้นมา เพื่อใช้แสดงเป็นบทละคร รวมถึงเพื่อให้เรื่องนี้มีฉบับภาษาไทย ที่ให้คนไทยทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นผู้นำที่นำเอาความศิวิไลซ์เข้ามาภายในประเทศ
อ่านเพิ่มเติม :
- พระบรมราชินี ทรงหึงรัชกาลที่ 6 ในการซ้อมละครเรื่องพระร่วง
- “บทละครพูด” พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 เครื่องมือที่ทรงใช้สื่อสารกับสาธารณะ
- แนวคิด “ชาตินิยม” ใน “บทละครพูดคำกลอน เรื่องพระร่วงฯ” ของรัชกาลที่ 6
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ชานันท์ ยอดหงษ์ (2556). “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6, มติชน (พิมพ์ครั้งที่ 1) : กรุงเทพมหานคร
ปัทมา จันทรเจริญสุข (2554). การเมืองและความเป็นการเมืองในบทพระราชนิพนธแปล “เวนิสวาณิช”. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2568