ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ทรงหึงรัชกาลที่ 6 หลังการซ้อมละครเรื่องพระร่วง ที่พระราชวังมฤคทายวัน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารนั้น พระราชบิดา และพระราชมารดา ต่างก็ทรงคาดหวังให้พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับสตรีสูงศักดิ์ เพื่อให้มีประสูติกาลพระโอรส อันจะเป็นรัชทายาทสืบพระราชวงศ์ต่อไปในภายภาคหน้า
แต่จนสิ้นรัชกาลที่ 5 ก็ไม่มีท่าทีว่า รัชกาลที่ 6 จะทรงราชาภิเษกสมรสกับสตรีคนใด
กระทั่งต่อมา รัชกาลที่ 6 ทรงรับสตรีสองคนจาก สกุล “วรวรรณ” คือ หม่อมเจ้าวรรณวิมล วรวรรณ (ต่อมาคือ พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี) และหม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ (ต่อมาคือ พระนางเธอลักษมีลาวัณ) มาเป็นพระภรรยา
อย่างไรก็ตาม การดำรงชีวิตคู่ร่วมกับพระภรรยาทั้งสองไม่ประสบความสำเร็จ รัชกาลที่ 6 จึงทรงรับเอาสตรีจากสกุล “สุจริตกุล” มาเป็นพระภรรยา นั่นคือ คุณเปรื่อง สุจริตกุล และคุณประไพ สุจริตกุล
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์ใน “พระราชวงศ์จักรี ตอน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6” ทรงบรรยายเหตุการณ์ก่อนที่รัชกาลที่ 6 จะทรงรับสตรีจากสกุล “สุจริตกุล” มาเป็นพระภรรยา ความว่า
“พระองค์วัลภาฯ เป็นคู่หมั้นอยู่ได้ 3 เดือน พระองค์ลักษมีฯ รับต่อมาอีก 6 เดือน ในระหว่าง 6 เดือนนี้พระองค์ลักษมีฯ ทำทุกอย่างที่จะไม่ให้เหมือนกับพระองค์วัลภาฯ ผู้ผิดมาแล้ว กล่าวคือ ไม่หึงหวง, ไม่รู้มาก แต่ในไม่ช้าในหลวงก็ทรงเบื่อ, ทั้งนี้เพราะไม่มีเชื้อมาแล้วตั้งแต่แรก ที่ทรงรับไว้ก็เพราะจะเอาชนะพระองค์วัลภาฯ และต้องมีผู้หญิงเพื่อหาพระราชโอรส ผู้ชายบางคนอธิบายว่า ทรงเบื่อเพราะผู้หญิง flirt มากเกินไป! จะจริงเท็จอย่างไรรู้ไม่ได้…
แต่พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ‘คนหนึ่งก็รู้เสียหมดจนจะเป็นแม่, อีกคนหนึ่งก็ไม่รู้อะไรเสียเลย จะพูดด้วยไม่ได้, เข็ดจนตายพวกนี้!’ พระยาอนิรุธฯ ก็เกิดสงสารในหลวง คิดถวายว่าทรงมีแต่เจ้าจอมก็แล้วกัน ถ้ามีลูกเมื่อไรจึงค่อยยกย่องขึ้น แล้วพระยาอนิรุธฯ ก็มองไปเจอะเอาแม่เปรื่อง สุจริตกุล ผู้เป็นนางพระกำนัลอยู่กับพระองค์ลักษมีฯ ต่อมา คิดจะเอาแม่เปรื่องนั้นถวาย…”
สตรีสกุลสุจริตกุล
คุณเปรื่อง นางกำนัลพระนางเธอลักษมีลาวัณ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็น “พระสุจริตสุดา” ตำแหน่งพระสนมเอก ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงราชาภิเษกสมรสกับคุณเปรื่อง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2464 นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงประกอบพิธีราชาภิเษกสมรส
หลังจากนั้นเพียง 2 เดือน เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ได้นำความกราบบังคมทูลว่า
“เจ้าคุณพระประยูรวงษ์ อยากจะถวายแม่ฉวี บุนนาค (นักเรียนนอก) เป็นเจ้าจอม เพราะพวกบุนนาคเคยได้เป็นเจ้าจอมมาแล้วทุกรัชกาลจึงไม่อยากขาดความจงรักภักดีอันมีเกียรตินี้
พระสุจริตสุดากราบทูลว่า จะไปเอาคนอื่นเขามาทำไม น้อง ๆ ของพระสุจริตมีเท่าไรก็ขอถวายหมด ไม่รังเกียจเลย จะโปรดคนไหนก็ได้ทั้งนั้น แล้วพระสุจริตก็ใช้ให้แม่ประไพน้องสาวไปรับใช้บ่อย ๆ ด้วยกลัวคนนอกจะเข้ามาปะปน ในไม่ช้าก็เป็นผล ในหลวงทรงขอแม่ประไพจากพี่สาวในเดือนมกราคม พ.ศ. 2464…”
ต่อมาวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2464 รัชกาลที่ 6 จึงทรงราชาภิเษกสมรสอีกครั้งกับคุณประไพ สุจริตกุล น้องสาวของพระสุจริตสุดา แล้วทรงแต่งตั้งให้เป็น “พระอินทราณี” ตำแหน่งพระสนมเอก
แม้รัชกาลที่ 6 กับพระนางเธอลักษมีลาวัณจะทรงแยกกันอยู่ และทรงรับพระสุจริตสุดา กับพระอินทราณี เป็นพระสนมเอก แต่เมื่อทรงออกงาน พระนางเธอลักษมีลาวัณก็ทรงเป็นผู้นำ และประทับคู่กับรัชกาลที่ 6 โดยมีพระสุจริตสุดา และพระอินทราณีเป็นผู้เดินตามอย่างธรรมเนียมโบราณ แต่รัชกาลที่ 6 “ทรงมีพระนิสสัยที่ชอบมีเมียคนเดียว จึงไม่โปรดที่จะอยู่พร้อม ๆ กันหลาย ๆ คน…”
3 เดือนต่อมาหลังจากทรงแต่งตั้งพระอินทราณี ท่านก็ตั้งครรภ์ ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงพระโสมนัสมาก ทรงมีพระราชประสงค์จะให้พระหน่อนั้นประสูติเป็นเจ้าฟ้า คือประสูติแต่พระภรรยาเจ้า จึงทรงสถาปนาพระอินทราณีขึ้นเป็น พระวรราชชายา พระอินทรศักดิศจี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2465 ตามความในประกาศสถาปนาตอนหนึ่งว่า
“ทรงพระราชดำริห์ว่า พระอินทราณีได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณ โดยความซื่อสัตย์กตเวทีมีความจงรักภักดีในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัย อีกนัยหนึ่ง พระอินทราณีก็เปนราชินิกูลแลเปนภาตาป์ปุตติในพระอัยิกา อันพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นให้เปนเจ้า ตามราชประเพณีที่ได้มีมาในรัชกาลที่ 1 ซึ่งได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารีนั้นด้วยแล้ว สมควรที่จะสถาปนาพระอินทราณี ให้มียศเหมือนเจ้าได้ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอินทราณีขึ้นเปนพระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี…”
ต่อมา รัชกาลที่ 6 ทรงสถาปนาพระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2465 (นับศักราชอย่างเก่า)
เหตุการณ์ในช่วงเวลานี้ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ทรงบันทึกไว้ว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพอพระราชหฤทัย ไม่เห็นมีวี่แววว่าโปรดผู้หญิงคนใดอีก ทรงเป็นพระสามีที่หาไม่ได้ง่าย ๆ ดังเขาเล่ากันว่า จะเสด็จไปไหนแม้เวลาแต่งแฟนซีก็ต้องทรงคอยพระมเหสีตั้งชั่วโมงก็ไม่กริ้ว และเวลามีท้องก็เสด็จไปเยี่ยมบ่อย ๆ และเอาหนังสือดี ๆ ไปอ่านให้ฟัง คุยเล่นเอาใจสารพัด…”
อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงตกพระโลหิตเสียก่อนที่จะมีพระประสูติกาล
เหตุการณ์พระบรมราชินี ทรงหึงรัชกาลที่ 6
ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2467 รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ ไปประทับยังพระราชวังมฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ มีการซ้อมละครเรื่องพระร่วง สำหรับงานวันพระราชสมภพสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 มิถุนายน
รัชกาลที่ 6 ทรงรับบทเป็นนายมั่นพรานป่า เจ้าพระยารามราฆพรับบทเป็นพระร่วง คุณหญิงกิมไล้ (พระมารดาของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ) รับบทเป็นนางจันทร์ มารดาพระร่วง ตัวละครนางจันทร์มีสาวรับใช้ 2 คน รับบทโดย “แม่ติ๋ว” และ “แม่ตุ๋ย” ซึ่งเป็นหลานของหม่อมแก้ว ผู้เป็นครูละคร
การซ้อมละครครั้งนี้เป็นเหตุให้รัชกาลที่ 6 ทรงใกล้ชิดกับ “แม่ติ๋ว” หรือคุณเครือแก้ว อภัยวงศ์ (ต่อมาคือ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี) ธิดาของพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) กับคุณเล็ก บุนนาค
เนื่องจาก “ตอนหนึ่งในเรื่องมีการจับระบำ flirting ในระหว่างละครผู้ชายกับผู้หญิง แม่ติ๋วก็ผลักไสได้เห็นจริงกับนายมั่น…” ทำให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงไม่พอพระราชหฤทัย วันรุ่งขึ้นพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสต่อว่ารัชกาลที่ 6 ขณะที่รัชกาลที่ 6 ตรัสตอบว่า “อะไรหึงจนคนอย่างนั้น! ไม่เชื่อก็ไปดูเอาเองซี…”
ต่อมาคุณหญิงกิมไล้ก็ไปบอกสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ว่า “มัวแต่นอนแพ้ท้อง ไม่ไปดูอะไรบ้างเล่า! ไม่ช้าก็จะได้มีเรื่องดอก!!”
เมื่อถึงวันซ้อมละครอีกครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร “ถึงวันซ้อมอีกครั้งสมเด็จอินทร์ฯ ก็ขึ้นรถไสไปดูเอง แต่ปวดตาทนไม่ได้กลับมา แต่นั้นก็ขุ่นเคืองสะบัดสบิ้งอยู่เรื่อย…”
กระทั่งถึงวันซ้อมใหญ่ ก็เกิดเหตุการณ์ที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงหึงรัชกาลที่ 6 จนทำให้พระเจ้าอยู่หัวไม่พอพระราชหฤทัย ดังที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ทรงบันทึกว่า
“จนถึงวันซ้อมใหญ่มีคนดูมากหน่อย สมเด็จอินทร์ฯ ก็พาพวกข้าหลวงไปดูด้วย และพอถึงตรงแม่ติ๋วผลักไสนายมั่น สมเด็จอินทร์ฯ กับบ่าวก็ตบมือลั่น…ไม่หยุดหย่อน คนที่เขานั่งดูอยู่ที่นั่นเล่าว่า- ‘ในหลวงท่านตลึงมองขึ้นไปแล้วก็เฉย! แต่นางจันทร์นั้นตาเหลือกหน้าซีด แกรู้ทีเดียวว่าต้องเกิดความ!…’ ”
“จนงานวันที่ 10 มิถุนายน ได้มีสำเร็จไปแล้วโดยเรียบร้อย แม้คนกรุงเทพฯ ที่ขึ้นไปช่วยงานก็ไม่รู้อะไรกลับมา เขาเล่ากันว่า พอเสร็จงานแล้ว…เจ้าพระยารามฯ ก็จูงมือแม่ติ๋วขึ้นไปเฝ้ารับพระราชทานชื่อใหม่ว่า สุวัทนา พร้อมด้วยเสมาผูกคอชั้นที่ 2 แล้วตีเพลงโอดกราบถวายบังคมลากลับกรุงเทพฯ กับคณะละคอนหลวงด้วยกัน
อีก 2-3 วัน ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ ทางรถไฟแต่พระองค์เดียว เพราะสมเด็จอินทร์ฯ ยังแท้งอยู่มาไม่ได้ แล้วกลับมาทางเรือกับวงษ์ญาติอันต้องพลอยหงอยเหงาไปตามกัน พอถึงกรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้วก็โปรดให้คุณสุวัทนาไปอยู่ที่วังปารุสกวันกับท่านยาย คือ หม่อมแก้ว…”
จากบันทึกที่ว่า “แต่ปวดตาทนไม่ได้กลับมา” ปวดตาคำนี้น่าจะมีความหมายโดยนัย ซึ่งอาจสันนิษฐานว่าสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงไม่พอพระราชหฤทัยการซ้อมละครในฉาก “flirting ในระหว่างละครผู้ชายกับผู้หญิง” ระหว่างรัชกาลที่ 6 กับคุณเครือแก้ว จึงทำให้พระองค์ทรง “ขุ่นเคืองสะบัดสบิ้ง” อันอาจเป็นพระอาการแสดงความหึงหวงที่ทำให้รัชกาลที่ 6 ไม่สบพระราชหฤทัยก็เป็นได้
ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2467 รัชกาลที่ 6 ก็ทรงราชาภิเษกสมรสกับคุณสุวัทนา เจ้าจอมสุวัทนา จึงนับเป็นพระสนมอีกท่านหนึ่งในรัชกาลที่ 6
ต่อมา ในการเสด็จประพาสสิงคโปร์และสหพันธ์มลายาของอังกฤษ ระหว่างวันที่ 21 กันยายน – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2467 รัชกาลที่ 6 ก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมสุวัทนาโดยเสด็จไปในกระบวนเสด็จ ในฐานะ “Queen” และไม่นานเจ้าจอมสุวัทนาก็ตั้งครรภ์
เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เจ้าจอมสุวัทนาจะให้กำเนิดพระหน่อ ดังนั้น ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2468 รัชกาลที่ 6 จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี เสียใหม่ว่า “สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา” นับเป็นการลดพระอิสริยยศสมเด็จพระราชินีครั้งแรกในประวัติศาสตร์
และในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2468 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็น “พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี” ทั้งนี้ “เพื่อผดุงพระราชอิศริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า”
พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงมีประสูติกาลพระราชธิดา คือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 หลังจากนั้นเพียง 1 วัน รัชกาลที่ 6 ก็เสด็จสวรรคต
อ่านเพิ่มเติม :
- ละครชีวิต “พระนางเธอลักษมีลาวัณ” ในร.6 ที่ทรงขอแยกทาง-บั้นปลายพระชนม์สุดสลด
- “พระคู่หมั้นพระองค์แรก” ของร.6 กับความขัดข้องพระราชหฤทัยใน “พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี”
- คุณเปรื่อง สุจริตกุล “เลดี้อินเวตติ้ง” ในร.6 สู่พระสนมเอกผู้ไม่เคยขัดพระราชหฤทัย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2567