ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
มีบทความเรื่องหนึ่งเขียนโดยพระธรรมโกศาจารย์ หรือ “พุทธทาสภิกขุ” ชื่อว่า “พระรัตนตรัย เป็นเสมือนภูเขาหิมาลัยกั้นพระนิพพาน” เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2497 พอเห็นชื่อเรื่องก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ในเมื่อ “พระรัตนตรัย” หรือ 3 ดวงแก้วอันประเสริฐ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นเสาหลักของพระพุทธศาสนา แล้วจะเป็นสิ่งขวางกั้นพระนิพพานได้อย่างไร?
บทความดังกล่าวไม่เพียงเป็นที่มาของความสนใจ สงสัยใคร่รู้ของคนทั่วไปในยุคนั้น แต่ยังทำให้ท่านพุทธทาสถูกโจมตีอย่างหนักจากพระสงฆ์ด้วยกัน บุคคลที่โจมตีท่านก็เป็นถึงเปรียญ 6 ประโยค สำนักวัดมหาธาตุ และมีบรรดาศักดิ์เป็นถึงคุณพระ
ข้อกล่าวหาที่ท่านโดนในครั้งนั้นนับว่าร้ายแรงทีเดียว คือถูกหาว่าเป็นมิจฉาทิฐิ และเป็นคอมมิวนิสต์
ไขปรัชญาพุทธทาสภิกขุ
ศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิตสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้เขียนบทความ “ท่านพุทธทาส นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก” (วารสารราชบัณฑิต : ปีที่ 31 ฉบับที่ 3 ก.ค.-ก.ย 2549) มีโอกาสได้สนทนากับท่านพุทธทาสที่วัดปทุมคงคา ได้กราบเรียนถามว่า ทำไมพระรัตนตรัยจึงเปรียบเป็น “ภูเขาหิมาลัย” กั้นนิพพานไปเสียได้ เมื่อได้รับคำชี้แนะจึงนำมาเสนอไว้ในบทความข้างต้น
ครั้งนั้น ท่านพุทธทาสย้อนถามกลับว่า เคยนั่งเรือข้ามฟากไหม? อ. จำนงค์ตอบไปว่า เคยข้ามฟากอยู่เสมอ ท่านถามต่อว่า แล้วเมื่อไปถึงฝั่ง คุณต้องแบกเรือขึ้นไปด้วยไหม ราชบัณฑิตก็เรียนตอบกลับว่า เมื่อถึงฝั่งก็ขึ้นจากเรือ ทิ้งเรือไว้ในแม่น้ำ
ท่านพุทธทาสอธิบายว่า “ข้อนี้ฉันใด พระรัตนตรัยก็ฉันนั้น คือพระรัตนตรัยเปรียบเสมือนเรือที่จะพาข้ามฟากไปสู่ฝั่งแห่งพระนิพพาน ตราบใดที่เรายังไม่บรรลุนิพพาน ก็ต้องอาศัยพระรัตนตรัยอยู่ตราบนั้น แต่เมื่อเราถึงฝั่งพระนิพพานก็จำต้องทิ้งแม้แต่พระรัตนตรัย ถ้ายังยึดพระรัตนตรัยอยู่ก็เป็น ‘อุปาทาน’ คือความยึดมั่นถือมั่น เมื่อมีความยึดมั่นถือมั่นก็แสดงว่ายังมี ‘ตัณหา’ อยู่ ก็ชื่อว่ายังมี ‘อวิชชา’
ถ้าเรายังมี อวิชชา ตัณหา อุปาทานอยู่จะถึงนิพพานได้อย่างไร เวลาที่จะบรรลุนิพพานจึงจำต้องทิ้งแม้แต่พระรัตนตรัย”
อ. จำนงค์ได้ฟังดังนั้นก็เข้าใจทันที ให้ความเห็นว่า ผู้ที่วิจารณ์ท่านพุทธทาสนั้น แม้จะเป็นเปรียญ 6 ประโยค แต่ความรู้ด้านธรรมะเห็นจะลึกซึ้งสู้ท่านที่เป็นเปรียญ 3 ประโยคไม่ได้
พุทธทาสภิกขุมักอธิบายธรรมะแบบปรัชญา จึงทำให้คนสงสัยอยู่เสมอ สำนวนหรือวาทะของท่านจะมีเอกลักษณ์คือทำให้คนวิพากษ์วิจารณ์ไปในทาง “ติ” ก่อน แล้วจึงอธิบายให้ “กระจ่าง” ในภายหลัง ด้วยคำสอนที่ปัญญาชนฟังแล้วเข้าใจง่าย สิ่งนี้เองเป็นเหตุผลที่ทำให้ท่านเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงด้านความรู้ทางพระพุทธศาสนาในระดับสากล
อ่านเพิ่มเติม :
- อาหารมื้ออร่อยที่สุดของระธรรมโกศาจารย์คืออาหารชนิดใด?
- วาทะพุทธทาส การทำให้ประชาชนน้ำตาตก เป็นบาปมหันต์ของข้าราชการ
- วาทะพุทธทาส-ทำบุญปีใหม่ต้องไม่งมงาย…ต้องลืมหูลืมตาสว่างไสว แจ่มแจ้งขึ้น
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
จำนงค์ ทองประเสริฐ. ท่านพุทธทาส นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก. วารสารราชบัณฑิต ปีที่ 31 ฉบับที่ 3 ก.ค.-ก.ย. 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2567