วาทะพุทธทาส การทำให้ประชาชนน้ำตาตก เป็นบาปมหันต์ของข้าราชการ

ข้าราชการ
(ภาพจาก www.matichon.co.th)

เมื่อปี 2526 พระธรรมโกศาจารย์ หรือ พุทธทาสภิกขุ (พ.ศ. 2449-2536) แห่งสวนโมกพลาราม เขียนบทความชื่อ “ปรมัตถธรรม สำหรับข้าราชการพลเรือน” (วารสารข้าราชการ ปีที่ 28 ฉบับที่ 7 เดือนกรกฎาคม 2526, สวัสดิการสำนักงาน ก.พ.) เนื้อหาตอนหนึ่ง พุทธทาสภิกขุ กล่าวถึงบทบาทของ “ข้าราชการ-ประชาชน” ซึ่งผู้เขียนเก็บความ “วาทะพุทธทาส” มานำเสนอดังนี้

การศึกษาของเราไม่สมบูรณ์ หรือจะเรียกว่าการศึกษาในโลกก็ได้ไม่สมบูรณ์ คือให้เรียนกันแต่หนังสือและอาชีพ เรียนหนังสือกันจนสุดที่จะเรียนได้ และก็เรียนอาชีพในรูปแบบเทคโนโลยีต่างๆ อย่างมากมายมหาศาลลึกซึ้ง แต่มันก็ไม่สมบูรณ์ เพราะมันไม่ได้เรียนกันในข้อที่ว่า เราจะเป็นมนุษย์กันอย่างไร

เราจะเป็นมนุษย์กันอย่างไรนี่ เราไม่ได้เรียนการศึกษามันจึงไม่สมบูรณ์ มีลักษณะเหมือนกับว่าเป็นสุนัขที่หางด้วนไม่น่าดู หรือพระเจดีย์ยอดด้วนมันก็ไม่น่าดู การศึกษาไม่สมบูรณ์นี้แหละเป็นเหตุให้วรรณะประชาชนกับการปกครองเข้าใจกันไม่ได้ ประชาชนกับผู้ปกครองเข้าใจกันไม่ได้ว่าเราเป็นพลโลกด้วยกัน เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน จึงไม่ได้ทําหน้าที่เพื่อหน้าที่และไม่ได้ทําหน้าที่ร่วมกัน เพราะการศึกษาไม่สมบูรณ์ ไม่ทําให้เราสํานึกในข้อนี้

แต่ละคนมุ่งทําประโยชน์ส่วนตน ทุกคนเป็นคนของประโยชน์ของตน ขออภัยใช้คําว่า เป็นคนของประโยชน์ของตน รายได้หรือเงินเดือน เขาไม่รู้ว่าหน้าที่ของมนุษย์ทุกชนิดล้วนแต่เป็นธรรม คือธรรม ธรรมะคือหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องประพฤติในฐานะที่เป็นมนุษย์

พุทธทาส
ท่านพุทธทาส (กลาง) คณะสงฆ์ และฆราวาส

ถ้ารู้ว่าการทําหน้าที่เป็นธรรมะแล้วจะบูชาหน้าที่จะพอใจในหน้าที่ และจะหาความสุขได้ที่โต๊ะทํางานนั่นเอง มีความสนุก มีความสุขที่โต๊ะทํางานก็ทํางานได้มาก เงินเดือนก็เหลือใช้ ไม่ต้องทําคอร์รัปชัน เพราะเงินเดือนไม่พอใช้ ที่หาความสุขจากการทํางานที่โต๊ะทํางานนั้นเป็นการประพฤติธรรม ไม่ต้องทําคอร์รัปชันเพื่อไปหาความสุขจากสถานกามารมณ์จนเงินเดือนไม่พอใช้

ดูต่อไปในระบอบประชาธิปไตย ข้าราชการต้องรู้ว่า โต๊ะทํางานนั่นแหละคือ บัลลังก์ที่ประชาชนมอบให้ ดังนั้น พอเข้ามาในห้องทํางานก็ควรจะพนมมือให้แก่โต๊ะทํางาน ในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และทําใจให้ถูกต้องว่าโต๊ะทํางานนี่ คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนมอบให้

เหมือนกับพระในบางนิกายจะขึ้นเทศน์บนธรรมาสน์ก็เคารพธรรมาสน์ ทําอาการเคารพธรรมาสน์เสียก่อน เพราะธรรมาสน์เป็นสิทธิของพระพุทธองค์ที่จะประทับนั่งแสดงธรรม เราเป็นสาวกจะขึ้นไปนั่งต้องทําความเคารพธรรมาสน์เสียก่อน อย่างนี้เป็นต้น ก็จะทำหน้าที่ของตนอย่างประณีตละเอียดลออลึกซึ้งมีผลสมบูรณ์

การทำให้ประชาชนน้ำตาตก ถือว่าเป็นบาปมหันตโทษของข้าราชการ เมื่อแยกกันเป็นข้าราชการ และเป็นประชาชนแล้ว ขอให้รับรู้ว่า การทำให้ประชาชนน้ำตาตกนั้นเป็นบาปมหันตโทษของข้าราชการ” [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

คำพูดของท่างพุทธทาสยังมีอีกหลายวาระและหลายโอกาส หากได้ศึกษาน่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราและสังคมกันได้บ้าง 

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2566