อัตลักษณ์ข้าราชการ ในทัศนะของกรมพระยาดำรง ฯ

(ซ้าย) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และข้าหลวงเทศาภิบาล ในคราวประชุมเทศาภิบาล ณ พระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2441 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

บทความนี้ คัดย่อมาจาก “ข้าราชการ กับ ราษฎร ในทัศนะของสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ” ของสายชล สัตยานุเคราะห์ ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนธันวาคม 2545 เนื้อหาต้นฉบับเดิมนั้นกล่าวถึงทัศนะของพระองค์ ทั้งในส่วนของอัตลักษณ์ “ข้าราชการ” และ “ราษฎร”

แต่เนื่องจากเนื้อหามีความยาวมาก จึงแยกนำเสนอเป็น 2 ส่วน โดยส่วนของ “อัตลักษณ์ราษฎร” ได้นำเสนอไปก่อนหน้าแล้ว ครั้งนี้จึงเป็น “อัตลักษณ์ข้าราชการ” ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงแสดงทัศนะไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเหมือนกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในแง่ที่เห็นความสำคัญของการสร้างอัตลักษณ์ข้าราชการ ทั้งนี้เพราะทรงเน้นการแก้ปัญหาและการปรับปรุงประเทศให้เกิดความก้าวหน้าโดยใช้อำนาจรัฐ ทำให้กลไกอำนาจรัฐคือข้าราชการเป็นเงื่อนไขสำคัญของความสำเร็จหรือล้มเหลว…

…ทั้งสองพระองค์ทรงเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบทุนนิยมที่กำลังดำเนินไปหลังสนธิสัญญาเบาริ่ง และทรงพยายามส่งเสริมให้การเปลี่ยนแปลงนั้น “เจริญก้าวหน้า” รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะทรงพระราชดำริว่าเป็นที่มาของรายได้ของรัฐซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่บ้านเมือง ส่วนปัจจัยด้านโครงสร้างการเมืองการปกครองนั้น ทั้งสองพระองค์ทรงช่วยกันอย่างเต็มที่ในการปฏิรูปให้เหมาะสมแก่กาลสมัยอยู่แล้ว และการปฏิรูปนี้ย่อมต้องการ “คนดี” มาเป็นข้าราชการ…

………..

นอกจากปัญหาขาด “คนดี” ที่จะนำมาเป็นข้าราชการ ยังมีปัญหาอื่นอีกหลายประการที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างอัตลักษณ์ข้าราชการ เป็นต้นว่าปัญหาขอบเขตอำนาจหน้าที่ของข้าราชการแต่ละตำแหน่งยังไม่มีแบบแผนชัดเจน ต้องอาศัยการวินิจฉัยของข้าราชการเองและผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอ…

นอกจากนี้ยังมีปัญหาข้าราชการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมหรือละเลยหน้าที่ โดยที่รัฐยังไม่สามารถพัฒนากลไกทั้งภายในระบบราชการเอง และนอกระบบราชการ มาทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ…

ตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของข้าราชการ แม้ว่าจะมี “ข้อบังคับของเสนาบดี” ห้ามไว้แล้ว คือกรณีที่นายโพ วรจันทร กับพวก ได้ถวายฎีกากล่าวโทษข้าราชการซึ่งปกครองท้องที่เมืองอุบลว่า แย่งจับจองที่ดิน และใช้อำนาจในราชการกดขี่ข่มเหง

เหตุการณ์นี้สะท้อนว่าข้อบังคับเสนาบดีมหาดไทยที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตราขึ้นนั้น ต้องอาศัยอำนาจของเสนาบดีในการควบคุมข้าราชการในท้องที่ห่างไกลอยู่มาก โดยขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพอย่างอื่นที่อยู่ต่ำกว่าเสนาบดีลงมา และอยู่ใกล้ชิดข้าราชการหัวเมืองที่จะควบคุมตรวจสอบการทำงานและการใช้อำนาจของข้าราชการเหล่านั้น ดังปรากฏในลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลถวายความเห็นต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนี้

…ปัญหาเรื่องอย่างนี้ได้เคยพิจารณาตั้งแต่สมัยข้าพระพุทธเจ้ายังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และได้ตั้งเป็นข้อบังคับไว้เป็นเนื้อความ 2 ข้อ คือ

1. ห้ามมิให้ข้าราชการผู้ปกครองท้องที่ แสวงหาประโยชน์ในการอันตนมีหน้าที่จะต้องชี้ผิดแลชอบ (ยกตัวอย่างเช่น เข้าหุ้นส่วนกับเจ้าภาษีอากรในมณฑลนั้นเอง เปนต้น)

2. ถ้าจะซื้อหาจับจองที่ดินในท้องที่ที่ตนปกครอง ต้องขออนุญาตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก่อน ข้อซื้อหาจับจองที่ดินนี้ได้ปรึกษากัน เห็นว่าจะห้ามขาดที่เดียวไม่เปนธรรม เพราะข้าราชการเหล่านั้นก็เปนชาวสยาม ควรจะมีที่ดินในบ้านเมืองของตนเองได้… [1]

วิธีการหนึ่งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงใช้สร้างอัตลักษณ์ของข้าราชการ คือทรงพระนิพนธ์ประวัติบุคคล เพื่อแสดง “คติอันสมควรให้ปรากฏอยู่” สำหรับให้ข้าราชการยึดถือ ตัวอย่างเช่น ทรงพระนิพนธ์ประวัติพระยาพฤฒาธิบดีศรีสัตยานุการ (อ่อน โกมลวรรธนะ) มีความว่า

…พระยาพฤฒาธิบดี, ได้รับราชการ…มีความหมั่นเพียร แลความมั่นคงเปนข้อสำคัญในจริยวัตร มาทำงานตรงเวลาและไม่ทิ้งงานจนเสร็จธุระประจำวัน การอันใดที่ท่านทำเปนหน้าที่ ท่านทำการนั้นโดยพินิจสถิรและซื่อตรงมิให้ติได้ อีกประการหนึ่งท่านไว้วางอัธยาศัยต่อเพื่อนข้าราชการเหมาะแก่ฐานะ คือ ฟังคำสั่งผู้มีตำแหน่งเหนือตัวท่าน แม้เปนเด็กกว่าก็ไม่แสดงความรังเกียจ วางตนเปนสหายกับผู้มีตำแหน่งชั้นเดียวกัน และเมตตากรุณาต่อผู้น้อยที่อยู่ในบังคับบัญชา และไม่หย่อนตัวให้ผู้ใดดูหมิ่น ไม่มีใครทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยที่จะรังเกียจเกลียดชังท่าน… [2]

สำหรับการทำให้ “เกียรติยศ” กลายเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของข้าราชการนั้น…

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสัมพันธ์กับข้าราชการโดยตรง ต้องทรงใช้สอยข้าราชการทั้งในส่วนกลาง มณฑลเทศาภิบาล และในหัวเมืองต่างๆ อย่างกว้างขวาง เช่น ในการปกครอง การศาล การเก็บภาษีอากร การศึกษา การปราบปรามโจรผู้ร้าย การโยธา การสุขาภิบาล การคมนาคม ฯลฯ [3] …จึงทรงเน้นเกียรติยศที่มาจากการได้ทำหน้าที่ราชการมาอย่างดีด้วย ซึ่งเกียรติยศจากการทำหน้าที่ต่อบ้านเมืองจนประสบความสำเร็จนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อข้าราชการมีคุณสมบัติที่ดี และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนทุกระดับ

คุณสมบัติที่ดีหรือ “คุณวุฒิ” ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเน้นให้เป็นอัตลักษณ์ของข้าราชการ ปรากฏอยู่ในประวัติบุคคลจำนวนมากที่พระองค์ทรงพระนิพนธ์ขึ้น เพื่อแสดงตัวอย่างรูปธรรมของข้าราชการที่ประสบความสำเร็จจนมีชื่อเสียงเกียรติยศเป็นที่เคารพยกย่อง เช่น พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ (เต็ม บุนนาค) ซึ่งแม้ได้รับบาดเจ็บจากอาวุธปืนในคราวเดินทางไปตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ แต่ก็ยังมีความต้องการที่จะทำงานต่อไปจนงานราชการที่ได้รับมอบหมายบรรลุความสำเร็จ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ประวัติของพระยาสุริยานุวงศ์ประวัติว่า

…ที่ข้าพเจ้านำเรื่องนี้มากล่าวในประวัติ ประสงค์จะแสดงเป็นอุทาหรณ์ให้เห็นอัธยาศัยของพระยาสุริยานุวงศ์ฯ ที่มีความซื่อตรงต่อหน้าที่ของตน เป็นคุณวุฒิสำคัญประจำตัวมาตลอดชีวิต… [4]

พระยาราชสงครามก็มีคุณสมบัติของข้าราชการที่ดีหลายประการ

พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ได้รับราชการต่างๆ ในหน้าที่มากมายหลายอย่างอยู่เปนนิจ เปนผู้บริบูรณ์ด้วยความเพียรและอุตสาหะทำการอันใดก็สำเร็จทันพระราชประสงค์ เปนผู้มีอัธยาศัยซื่อตรง เปนคนมักน้อยแต่โอบอ้อมอารี [5]

พระยาวรพุฒโภไคย นอกจากจะมีคุณสมบัติของข้าราชการที่ดีตามปรกติแล้ว ยังกล้าเตือนผู้ใหญ่เมื่อเห็นว่าผู้ใหญ่ทำไม่ถูกต้อง แต่มิได้ทำให้ผู้ใหญ่โกรธเคืองด้วยรู้จักเลือกใช้ถ้อยคำ

พระยาวรพุฒิโภไคย (ชุ่ม สุวรรณสุภา)…เปนผู้มีความสามารถในกิจการ ถ้ามอบธุระให้ทำการงานอย่างใดมักทำสำเร็จได้ดังผู้ใหญ่ประสงค์อย่าง 1 อีกอย่าง 1 เปนผู้ที่ซื่อตรงต่อหน้าที่ ถ้าเห็นการอย่างใดจะเสื่อมเสียไม่เพิกเฉย มักกระซิบตักเตือนผู้ใหญ่ แลกล้าขัดขวางผู้ใหญ่ในเวลาที่ไม่เห็นชอบด้วย แต่รู้จักใช้ถ้อยคำที่มิให้ขัดใจผู้ใหญ่… [6]

ส่วนในเรื่อง “อำนาจ” นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพไม่ทรงต้องการให้ข้าราชการยึดถืออัตลักษณ์ของตนในฐานะของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจเหนือผู้ใต้บังคับบัญชา หรืออำนาจเหนือราษฎร แต่ทรงเน้น “ความสัมพันธ์ที่ดี” ให้เป็นอัตลักษณ์สำคัญของข้าราชการ…การบังคับให้ข้าราชการในบังคับบัญชาและการบังคับให้ราษฎรทำตามกฎหมาย ยังไม่อาจกระทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากกลไกบังคับใช้กฎหมายยังขาดประสิทธิภาพ และประมวลกฎหมายเองก็ยังไม่สมบูรณ์

ดังนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงเน้นให้การมีความสัมพันธ์ที่ดีเป็นอัตลักษณ์ของข้าราชการ เพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากผู้ใต้บังคับบัญชาและจากราษฎร ความสัมพันธ์ที่ดีนี้ด้านหนึ่งเกิดจากคุณสมบัติทางจิตใจ หรือนิสัยใจคอ หรืออัธยาศัย อีกด้านหนึ่งเกิดจากการ “รู้จักวางอัชฌาศัยของตนให้สมควรแก่ผู้ใหญ่แลผู้น้อย” [7] ซึ่งก็คือการรู้จักที่ต่ำที่สูงนั่นเอง…

ปรากฏหลักฐานว่าอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2433 มาแล้วที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเน้นการมีความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับผู้มีสถานภาพสูงกว่า ผู้มีสถานภาพที่เสมอกัน และผู้มีสถานภาพที่ต่ำกว่า ดังที่ทรงชี้แจงเรื่อง “การอำนวยพร” ว่า

…ถ้าจะให้เปนพรอย่างวิเศษ คือถ้าผู้ซึ่งจะรับพรเปนผู้ปกครองเรา ก็ต้องตั้งใจจงรักภักดีซื่อตรงต่อท่านผู้นั้น ถ้าผู้จะรับพรเปนผู้เสมอด้วยเรา ก็ต้องรักใคร่ผูกพันด้วยความดี ถ้าหากเปนผู้ต่ำกว่าเราก็ต้องเมตตากรุณาไม่รังเกียจเดียดฉัน… [8]

ในการทำงานของข้าราชการนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเน้นว่า การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้น้อยมีความสำคัญมากกว่าการใช้อำนาจให้คนกลัวเกรง ยิ่งกว่านั้นความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้น้อยยังเป็นอำนาจในตัวเองอีกด้วย ดังปรากฏว่าเมื่อพระองค์ประทานโอวาทให้ข้าราชการนั้น ทรงเน้น 3 ข้อด้วยกัน แต่ข้อที่ทรงเน้นเป็นพิเศษคือข้อที่ต้องทำให้ผู้น้อยนับถือ ดังความว่า

ข้อ 1 เปนผู้น้อยต้องเคารพต่อผู้ใหญ่เหนือตัว ข้อ 2 เปนข้าราชการต้องซื่อตรงและจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้อ 3 เป็นผู้ปกครองต้องเอาใจผู้อยู่ในบังคับให้นับถือ ความข้อ 3 คือความนับถือของผู้น้อย หรือถ้าจะว่าอีกนัยหนึ่งคือความที่ผู้น้อยเชื่อถือนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าคือตัวอำนาจในการปกครองบังคับบัญชาทีเดียว…หากสำคัญผิดหลงนิยมว่าเปนข้าราชการแล้ว จำต้องวางกิริยาท่าทางให้ผู้น้อยกลัวเกรงจึงจะมีเกียรติยศแลอำนาจ ผู้ซึ่งมีความนิยมอย่างนี้ ที่ข้าพเจ้าเห็นมามักมิใคร่เอาตัวรอดได้… [9]

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานโอวาทแก่ข้าหลวงเทศาภิบาลคนหนึ่ง มีใจความคล้ายกัน ดังนี้

…เจ้าคุณ อำนาจอยู่ที่ราษฎรเชื่อถือ ไม่ใช่อยู่ที่พระแสงราชสัตรา จะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าเจ้าคุณทำให้ราษฎรเชื่อถือ ด้วยความศรัทธาแล้ว ไม่มีใครถอดเจ้าคุณได้แม้ในหลวง เพราะท่านก็ทรงปรารถนาให้ราษฎรอยู่เย็นเปนสุขเช่นเดียวกัน… [10]

…………..

ในหนังสือที่พิมพ์ขึ้นให้ข้าราชการอ่านเมื่อ พ.ศ. 2441 ทรงเตือนให้ข้าราชการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำท้องถิ่นด้วย

…การหัวเมืองที่เรียบร้อยได้ทุกวันนี้เพราะเรื่องจัดกำนันผู้ใหญ่บ้าน รัฐบาลได้คนที่ดีมีราษฎรนิยมเชื่อถือเข้ามาเปนกำลังของราชการเปนอันมาก จึงทำให้ราษฎรอยู่ในบังคับบัญชาของรัฐบาลสนิทขึ้นกว่าแต่ก่อน กลัวนักที่ผู้ว่าการเมืองกรมการบางเมืองซึ่งไม่เข้าใจความจริงในข้อนี้ จะบังคับบัญชาว่ากล่าวกำนันผู้ใหญ่บ้านตามแบบที่เคยใช้อย่างแต่ก่อน โดยไม่มีความเกรงใจหรือความคิดจะเอาใจอย่างใด กำนันผู้ใหญ่บ้านชั้นนี้ไม่ใช่คนจำพวกที่ซื้อตำแหน่งหาเงินกินอย่างกำนันแต่ก่อน ถ้าถูกกดขี่ขู่เข็ญโดยไม่เอาใจ จะย่อท้อแลละเลยความอุตสาหะเสียโดยง่าย ถ้าเมื่อความย่อท้อเกิดขึ้นแก่กำนันผู้ใหญ่บ้านเมื่อใด ความเสื่อมทรามจะมาถึง… [11]

ทรงเน้นด้วยว่าการที่ข้าราชการได้รับความนับถือนั้นอาจช่วยให้ปฏิบัติราชการได้ผลดี แม้ว่าข้าราชการผู้นั้น “ไม่รอบรู้แบบแผนวิธีการที่ทันสมัย” ก็ตาม

ยกตัวอย่างซึ่งข้าพเจ้าได้เคยสังเกตเห็นมา เมื่อครั้งยังอยู่ในกระทรวงมหาดไทย เช่นนายอำเภอที่เป็นคนชั้นสมัยเก่า ตั้งขึ้นในเวลาไม่มีตัวเลือก มีหลายคนที่สามารถปกครองเรียบร้อย ดีกว่านายอำเภอชั้นสมัยใหม่ เหตุด้วยราษฎรนับถือ…เวลามีราชการเกิดขึ้นราษฎรก็พร้อมใจกันเข้ามาช่วยเหลือด้วยยินดี มิพักต้องลงโทษผู้หนึ่งผู้ใด สามารถบังคับบัญชาการงานได้สิทธิ์ขาด นายอำเภอชนิดนี้ในกระทรวงมหาดไทยเรียกกันว่า “คุณพ่อ” ตามคำซึ่งราษฎรชอบเรียก แม้จะไม่รอบรู้แบบแผนวิธีการที่ทันสมัย ผู้ปกครองมณฑลก็ต้องจัดปลัดอำเภอรู้แบบแผนไปอยู่ช่วย หากล้าเปลี่ยนตัวนายอำเภอไม่… [12]

ใน พ.ศ. 2445 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานโอวาทของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแก่ข้าราชการ เนื้อหาของโอวาทเสนาบดีมหาดไทยนี้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ข้าราชการที่ทรงสถาปนาขึ้นทุกประการ กล่าวคือ ทรงเริ่มต้นด้วยการชี้แจงว่า ข้าราชการถึงจะมีสติปัญญาและวิชาความรู้มากเพียงใด แต่หากไม่ประพฤติตนให้อยู่ในอัธยาศัยดีโดยสมควรแก่ตำแหน่ง มักไม่ใคร่ได้ดีในทางราชการ

และหากจะให้ได้ความดีมีชื่อเสียงเกียรติยศในทางราชการ ต้องเอาใจใส่ในความประพฤติด้วยจงมาก [13] ความเป็นข้าราชการจึงมีอัธยาศัยเป็นเครื่องหมาย เพราะอัธยาศัยเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การปฏิบัติราชการบรรลุเป้าหมาย “อัธยาศัยซึ่งเปนสำคัญ… มีอยู่ 3 อย่าง คือ ความซื่อตรง… ความอุตสาหะ แลความอารี” [14] ด้วยอัธยาศัยเหล่านี้ข้าราชการจะสามารถทำหน้าที่ของตนในระบบราชการที่ยังไม่มีแบบแผน และโครงสร้างที่เป็นทางการอย่างมีประสิทธิภาพ

การนิยามความหมาย “หน้าที่” ของข้าราชการ ในเงื่อนไขที่ระบบราชการยังขาดความสมบูรณ์และขาด “คนดี” ดังกล่าวมาแล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพยายามทำให้ข้าราชการสำนึกว่า ตนคือคนที่มีหน้าที่กว้างขวางกว่าหน้าที่ตามตำแหน่งที่ตนรับผิดชอบ ดังนั้นในโอวาทของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงทรงเน้นให้ข้าราชการเข้าใจความมุ่งหมายโดยรวมของราชการ ซึ่งก็คือความมุ่งหมายของรัฐซึ่งข้าราชการมีหน้าที่ต้องกระทำให้บรรลุถึงนั่นเอง ทรงอธิบายดังนี้

…ความมุ่งหมายของราชการนั้นจำแนกโดยใจความเป็น 3 ประการ คือ

1. ที่จะให้คนทั้งหลายในพระราชอาณาจักร์อยู่เย็นเปนศุข แลเปนปกติมิให้เบียดเบียนซึ่งกันและกันประการ 1

2. ที่จะให้พระราชอาณาจักร์เจริญบริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ แลสิ่งซึ่งเปนเครื่องเกื้อกูลความสุขสำราญแก่คนทั้งหลายประการ 1

3. ที่จะป้องกันและรักษาความเปนอิสระภาพของพระราชอาณาจักร์ กล่าวคือ ที่จะให้บ้านเมืองของเราคงอยู่ในความปกครองเปนของเรา มิให้ต้องเปนข้าของชาติอื่นประการ 1 [15]

…………

จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2480 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ยังทรงเน้นให้ข้าราชการยึดถือความสัมพันธ์ทางใจเป็นลักษณะสำคัญของความเป็นข้าราชการที่ดี นอกเหนือจากความซื่อตรงต่อหน้าที่ เมื่อพระโอรสคือ ม.จ.พิศิษฎ์ดิศพงษ์ ดิศกุล ได้เลื่อนยศจากร้อยเอกเป็นพันตรี พระองค์ประทานโอวาทว่า

…เธอต้องพยายามทำตามหน้าที่ใหม่โดยซื่อตรงต่องาน ให้สำเร็จประโยชน์เปนอย่างดีที่สุดที่จะทำได้ มีคำสุภาษิตไทยแต่โบราณกล่าวว่า “ชอบสิ่วไม่ขอบขวาน ชอบราชการไม่ชอบน้ำใจคน” แต่ในคำสุภาษิตไม่ได้บอกวิธีแก้กรณีเช่นนั้นไว้ วิธีของพ่อมีคือ 1) ระวังศรีหน้าและวาจา ให้เขาเห็นว่าเราทำหน้าที่แต่มีน้ำใจดีต่อเขา 2) ต้องเอาตัวเรานำหน้า จะให้เขาทำอย่างไร เราต้องทำอย่างนั้นด้วย ไม่เอาเปรียบผู้น้อย วิธีแก้อย่างนี้จะได้ความไว้วางใจของผู้น้อย ได้ความไว้วางใจนั้นเอง คือได้อำนาจ… [16]

เป็นที่น่าสังเกตว่าในรัฐไทยระยะหลัง เมื่อมีการเน้นให้ข้าราชการรับผิดชอบเฉพาะหน้าที่ในตำแหน่งของตน ไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของคนอื่น และให้มุ่งทำงานในหน้าที่ของตนตามที่ได้รับมอบหมายโดยไม่ต้องนึกถึงความรับผิดชอบต่อระบบราชการโดยรวม

การยึดหลัก “น้ำใจ” หรือ “ความไว้วางใจ” เช่นที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงให้ความสำคัญนี้ ในที่สุดแล้วกลายเป็นสิ่งที่ข้าราชการยึดถือในความสัมพันธ์เฉพาะภายในกลุ่มอุปถัมภ์ของตน แต่ไม่ถูกเน้นในความสัมพันธ์กับราษฎรอีกต่อไป

และยังเป็นที่น่าสังเกตอีกด้วยว่า การยึดถือความมี “น้ำใจ” หรือ “ความไว้วางใจ” ภายในกลุ่มเช่นนี้ ทำให้หลักการของกฎหมายและระบบคุณธรรม (Merit system) มีความสำคัญน้อยลงในระบบราชการไทยสืบมา

อ่านเพิ่มเติม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] หจช. สบ. 2 44/80 เอกสารส่วนพระองค์ กรมดำรงฯ อภิรัฐมนตรี เรื่องถวายความเห็นในฎีกานายโพ วรจันทร กับพวกร้องกล่าวโทษข้าราชการซึ่งปกครองท้องที่จังหวัดอุบลฯ หาว่าแย่งจับจองที่ดิน และใช้อำนาจในราชการกดขี่ข่มเห่ง (พ.ศ. 2470)

[2] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “พระยาพฤฒาธิบดีศรี สัตยานการ (อ่อน โกมลวรรธนะ)” ในประวัติบุคคลสำคัญ (กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2531)

[3] จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับกระทรวงมหาดไทย, หน้า 171-286

[4] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก (กรุงเทพฯ : ชมรมดำรงวิทยา, 2526) : 243

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 206

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 128

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 269

[8] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “การอำนวยพร” ในชุมนุมพระนิพนธ์และนิทานโบราณคดี (บางเรื่อง) ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และประเพณีทำบุญของกรมศิลปากร พระนคร : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย, 2504 (พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือวชิรญาณวิเศษ พ.ศ. 2433 ในโอกาสที่เป็นมงคลฤกษ์เฉลิมพระชนมพรรษาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

[9] หจช. สบ. 2.32/12 22 กุมภาพันธ์ 2471 ส่วนพระองค์กรมดำรงฯ โรงเรียนและการศึกษา เรื่องการศึกษาเมื่อพ้นเขตต์โรงเรียน

[10] ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย 2501

[11] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จดหมายเหตุระยะทาง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จตรวจราชการหัวเมือง มณฑลกรุงเก่า มณฑลนครไชยศรี มณฑลราชบุรี ในรัตนโกสินทร์ 117 หนงสือพิมพ์ในราชการสำหรับข้าราชการ

[12] หจช. สบ. 2.32/12 เอกสารส่วนพระองค์ กรมดำรงฯ โรงเรียนและการศึกษา

[13] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โอวาทของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พิมพ์ในงานปลงศพนางราชเนตรรักษา (ยิ้ม พุกกะคุปต์) ปีมะแม พ.ศ. 2474 (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณนิทรรศธนากร, 2474) : 1

[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2

[15] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2-4

[16] หจช. สบ.2.53/124 เอกสารส่วนพระองค์ กรมดำรงฯ สาส์นพระญาติวงศ์ ม.จ. พิศิษฎ์ดิศพงษ์ ดิศกุล (ท่านชายแอ๊ว) 30 มกราคม 2480


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2565