“ประพาสต้น” เมื่อกษัตริย์ทรงเที่ยวเป็นการส่วนพระองค์ ทำไมต้องใช้คำนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ประทับนั่งขวาสุด) ขณะเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 พ.ศ. 2449 ที่เมืองกำแพงเพชร

“ประพาสต้น” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง “เที่ยวไปเป็นการส่วนพระองค์” หรือ “เที่ยวไปอย่างไม่เป็นทางการ” ใช้กับกษัตริย์… การเที่ยวประพาสต้นเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2447 ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ มีจุดประสงค์เพื่อให้รัชกาลที่ 5 ทรงพักผ่อนจากงานบ้านเมือง

ทำไมต้องใช้คำว่า “ประพาสต้น”

พระกระยาหาร รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ประทับนั่งขวาสุด) ขณะเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 พ.ศ. 2449 ที่เมืองกำแพงเพชร

ใน จดหมายเหตุ เรื่อง เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 ครั้งแรกและครั้งที่ 2 ปรากฏข้อมูลที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า…

“เหตุที่จะเรียกว่าประพาสต้นนั้น เกิดแต่เมื่อเสด็จในคราวนี้ (เมื่อ พ.ศ. 2447-ผู้เขียน) เวลาจะประพาสมิให้ใครรู้ว่าเสด็จไป ทรงเรือมาดเก๋งสี่แจวลำ ๑ เรือนั้นลำเดียวไม่พอบรรทุกเครื่องครัว จึงทรงซื้อเรือมาดประทุน ๔ แจวที่แม่น้ำอ้อมแขวงจังหวัดราชบุรี ๑ ลำ

โปรดให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช เป็นผู้คุมเครื่องครัวไปในเรือนั้น เจ้าหมื่นเสมอใจราช ชื่ออ้น จึงทรงดำรัสเรียกเรือลำนั้นว่า ‘เรือตาอ้น’ เรียกเร็วๆ เสียงเป็น ‘เรือต้น’ เหมือนในบทเห่ซึ่งว่า ‘พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย ฟังดูก็เพราะดี

แต่เรือมาดประทุนลำนั้นใช้อยู่ได้หน่อยหนึ่ง เปลี่ยนเป็นเรือมาดเก๋ง ๔ แจวอีกลำ ๑ จึงโปรดให้เอาชื่อเรือต้นมาใช้เรียกเรือมาดเก๋ง ๔ แจวลำที่เป็นเรือพระที่นั่งทรง อาศัยเหตุนี้ ถ้าเสด็จประพาสโดยกระบวนเรือพระที่นั่งมาดเก๋ง ๔ แจว โดยพระราชประสงค์จะมิให้ผู้ใดทราบว่าเสด็จไป

จึงเรียกการเสด็จประพาสเช่นนั้นว่า ‘ประพาสต้น’’”

รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้น เมืองกำแพงเพชร (ภาพจากหอจดหมายเหตุ)

การประพาสดังกล่าวมักเป็นการเสด็จไปประพาสเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถอย่างสามัญ ไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใด ๆ ขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์ว่าอยากประทับที่ไหนหรือทรงเดินทางอย่างไร

คำว่าต้นยังใช้กับคำราชาศัพท์อื่น ๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงจากคำดังกล่าว เช่น ทรงเครื่องต้น คือ ทรงเครื่องอย่างคนสามัญ หรือ เรือนต้น พระตำหนักที่อยู่ในพระราชวังดุสิต ก็คือ เรือนกระดานอย่างไทยที่มีรูปแบบอย่างที่คนทั่วไปอยู่ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, 2405-2486 และ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระฯ, 2396-2453. จดหมายเหตุ เรื่อง เสด็จประพาสต้นในรัชชกาลที่ 5 ครั้งแรกและครั้งที่ 2. [ม.ป.ท.]:โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2477. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:48027.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2567