ย้อนบรรยากาศและข้อมูลขบวนเรือ ร.5 เสด็จประพาสต้น ไม่มีกรมการเมืองคอยท่ารับเสด็จ

ภาพประกอบเนื้อหา - รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้น เมืองกำแพงเพชร (ภาพจากหอจดหมายเหตุฯ)

…ประวัติศาสตร์การเสด็จประพาสต้นไปยังท้องถิ่นในสยามประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นที่รับรู้กันแพร่หลายถึงพระราชจริยวัตรเรียบง่าย ทรงพรางพระองค์เช่นคนสามัญเพื่อได้ทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรโดยมิถูกจัดแต่งแสร้งเสนอ

ดูเหมือนว่าพระนิพนธ์จดหมายเหตุเรื่องประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะดำรงอิทธิพลโดดเด่นที่สุดในบรรดาเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเสด็จประพาสต้น ซึ่งองค์ผู้ทรงพระนิพนธ์ใช้กลวิธีประพันธ์เป็นจดหมายคำพรางจำนวน 8 ฉบับ

Advertisement

จดหมายของนายทรงอานุภาพ หุ้มแพร มหาดเล็กตามเสด็จฯ มีไปถึงพ่อประดิษฐ์ (ใครก็ไม่ทราบ? บ้างว่าคือสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือบ้างก็ว่าคือเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ชะรอยบางทีพ่อประดิษฐ์อาจถูกประดิษฐ์ขึ้นตามชื่อก็ได้) เขียนขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ร.ศ. 123/พ.ศ. 2447

จากนั้นได้ทยอยพิมพ์ลงทวีปัญญารายเดือน ช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม ร.ศ. 125/พ.ศ. 2449 ก่อนจะพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานปลงพระศพ หม่อมเจ้าหญิงบันลุศิริศานต์ ดิศกุล พระธิดาเสด็จในกรมที่สิ้นชีพิตักษัยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อ ร.ศ. 131/พ.ศ. 2455 จดหมายเหตุดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ซ้ำไม่แพ้งานพระนิพนธ์เรื่องอื่นของพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย

อันที่จริงการแต่งจดหมายเหตุการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของชนชั้นนำสยามในช่วงทศวรรษ 2440 ถือเป็นเรื่องใหม่ ด้วยมีการจัดตั้งทวีปัญญาสโมสรสำหรับเป็นที่ชุมนุมทางภาษา นอกจากจดหมายคำพรางของนายทรงอานุภาพ ยังมีจดหมายนายแก้วกับท่านพรานบุญในจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อ ร.ศ. 128/พ.ศ. 2452 ทยอยพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ชวนหัว ก็มีลักษณะดุจเดียวกัน

จดหมายคำพรางมีโครงเรื่องหลักคือ พรางตัวบุคคลสำคัญผู้จงจรเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ใช้ท้องถิ่นและชีวิตประจำวันอันล้าหลังของชาวสยามเป็นฉากทัศน์ รวมถึงยังสามารถแทรกเสริมเติมแต่งเรื่องราวให้ขบขัน น่าติดตาม และดำเนินท้องเรื่องไร้ฉันทลักษณ์หรือโครงสร้างอย่างหนังสือราชการมาบังคับจนเสียสนุก มีตัวเอกที่มาเฉลยภายหลังว่าเป็นใคร ทั้งยังสร้างความประทับจับใจให้แก่ผู้พบเห็น (ผู้อ่าน)
จดหมายเหตุเรื่องประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 นี้ มีปริศนาคำทายอยู่แห่งหนึ่งเป็นข้อถกเถียงข้ามศตวรรษ คำว่าเรือต้นที่เสด็จในกรมทรงพระนิพนธ์ไว้

“…ได้ยินรับสั่งถามให้แปลกันว่าเรือต้นแปลว่ากระไร บางท่านแปลว่าเรือเครื่องต้น บางท่านแปลว่าเรือทรงอย่างในเห่เรือว่า ‘ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย’ ดังนี้ แต่บางท่านก็แปลเอาตื้นๆ ว่าหลวงนายศักดิ์เป็นคนคุมเครื่องมหาดเล็กตามเสด็จ หลวงนายศักดิ์ชื่ออ้น รับสั่งเรียกตาอ้น ตาอ้นเสมอ คำว่าเรือต้นนี้ก็จะแปลว่าเรือตาอ้นนั้นเอง แปลชื่อเรือต้นกันเป็นหลายอย่างดังนี้ อย่างไรจะถูกฉันก็ไม่ทราบแน่…”

อันหลวงนายศักดิ์ หรือเจ้าหมื่นเสมอใจราช (อ้น นรพัลลภ) ผู้คุมเครื่องครัวไปในเรือนั้นชื่ออ้น จึงเรียกเรือตาอ้น ครั้นออกเสียงเร็วเข้าก็จะเพี้ยนเป็นเรือต้นในที่สุด เห็นจะเป็นสำนวนชวนหัวมากกว่า เพราะเมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หรือ “ถึงลูกชายเล็ก” มีความตอนหนึ่งว่า

“…ความเจ็บใจในเรื่องฝรั่งเสศทำกวนด้วยจุกจิกมาก ก็ตั้งน่ามืดเวียนหัว ไม่มีแรง โลหิตอ่อน น่ากลัวจะเปนโบราณโรค ต้องแก้กันอย่างหักหาญ คือ ทิ้งราชการหมด ลงเรือเล๊ก เที่ยวไปทั้งทางแม่น้ำ แล่นไปในทเลครบเดือนหนึ่งกลับมาจึ่งฟื้น เรียกกันว่า เที่ยวต้น เปนการเที่ยวอย่างไทยๆ พลเรือน จนถึงสร้างเรือนหลังที่จดชื่อมาข้างบนนี้…” (ผู้สนใจสามารถดูพระราชหัตถเลขาชุดนี้ได้จาก Digitised Manuscripts ทางเว็บไซต์ของ British Library)

เห็นได้ว่าการเที่ยวต้นคงไม่มีนัยยะถึงการเที่ยวกับตาอ้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นแต่ทรงพระนิพนธ์ให้ผู้อ่านนึกขันขึ้นเท่านั้น คำว่าต้นควรหมายถึงอันดับแรก หรือ Number One ดังพระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร (กุ้ง) ว่า “เรือกระบวนต้นแพร้ว เพริศพริ้งพายทอง” และ “พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย”

ทีนี้จะเล่าเรื่องเสด็จประพาสต้นจากปากคำของพนักงานเก็บเงินค่าธรรมเนียมคลองดำเนินสะดวกที่มีนามว่า “นายบ่าย” เจ้าพนักงานรักษาคลองดำเนินสะดวกตอนใน (หลักหนึ่ง บางยาง บ้านแพ้ว สมุทรสาคร) ดังปรากฏในเอกสารกรมคลอง กระทรวงเกษตราธิการ เรื่องพนักงานรักษาคลองภาษีเจริญแลดำเนินสะดวกบอกการที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จในคลอง ลงวันที่ 17 กรกฎาคม ร.ศ. 123/พ.ศ. 2447 ความว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“เรียนมายัง คุณหลวงวิจารณสาลี เจ้ากรมๆ สารบรรณได้ทราบ

ด้วยเมื่อวันที่ 16 เดือนนี้ เวลาเช้า 5 โมงกับ 55 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งไปในคลองดำเนินสดวก เรือพระที่นั่งจวนจะถึงที่พักเจ้าพนักงานเก็บเงินค่าธรรมเนียมตอนใน เรือกลไฟที่จุงเรือพระที่นั่ง ก็รอจักรแล่นแต่พอช้าๆ ครั้นเรือพระที่นั่งมาถึงที่ออฟฟิศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงแหวกพระวิสูตรเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรออฟฟิศ แล้วทรงพระราชดำรัสว่า ที่นี่เขาก็มีโปริสมาอยู่แล้ว แต่โซร่สำหรับขึงกั้นเรือเห็นจะยังไม่ได้ทำ

พอเรือพระที่นั่งแล่นเลยไปถึงที่หลักสำหรับกว้านโซร่ จึงมีพระราชดำรัสอิกว่า โซร่แลโปริสเขาก็มีพร้อมหมดแล้ว เรือพระที่นั่งก็แล่นเลยคล้อยโซร่ไปแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินออกมาที่ท้ายเรือพระที่นั่ง มีพระกระแสรับสั่งให้กว้านโซร่ขึ้นให้ดูเพื่อจะทอดพระเนตร จึงได้กว้านโซร่ขึ้นสูงพ้นน้ำได้ประมาณสักคืบหนึ่ง ทอดพระเนตรแล้วจึงทรงพระราชดำรัสว่าโซร่ของเขาก็กว้านขึ้นได้ดีโดยรวดเร็ว แล้วเรือพระที่นั่งก็แล้วเลยไป

ในเวลานั้นได้มีเรือพระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการตามเสด็จไปด้วยอิกหลายลำ ดังจะมีแจ้งอยู่ในบาญชีที่ได้ส่งมาพร้อมกับหนังสือฉบับนี้ด้วยแล้ว

ขอได้นำขึ้นกราบเรียนเจ้าคุณปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการทราบ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
เกล้ากระผม นายบ่าย”

จากหนังสือรายงานของนายบ่าย ได้ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่ง โดยเฉพาะบาญชีขบวนเรือทั้งหมด ได้ลงรายละเอียดของชนิดเรือ พระนามและนามของผู้มาในเรือกระทั่งขนาดกว้างยาวของลำเรือว่ากี่วากี่ศอก มีเรือกลไฟ 23 ลำ เรือปิกนิก 11 ลำ เรือบดเก๋ง 1 ลำ เรือบด 16 ลำ เรือพระที่นั่ง 1 ลำ เรือเป็ด 1 ลำ เรือมาดเก๋ง 1 ลำ เรือมาด 2 ลำ เรือสำปั้น 1 ลำ และเรือโป๊ะ 2 ลำ รวมทั้งสิ้น 59 ลำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับเรือพระที่นั่ง “สมจิตร์หวัง” มีเรือกลไฟชื่อ “เบอร์ 1” นำเสด็จ (ดังกล่าวแล้วว่าเรือต้นควรหมายถึง Number One)

ในที่นี้จะคัดชื่อเรือมาเพียงบางลำ ตลอดจนพระนามและนามของผู้มาในเรือ (สะกดตามต้นฉบับ) ดังนี้

เรือกลไฟศรียุทธยา (มีหมายเหตุว่าเรือนำริ้วมา 1 ทุ่ม กับ 35 นาที) เรือกลไฟของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีจิรเดช (ที่ถูกควรเป็นกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช) เรือกลไฟพิศณุเทพของนายร้อยเอก มิสเตอร์วามิง กรมตำรวจภูธร เรือกลไฟพิศณุแสนของเจ้าพระยาสุริยวงษ์ฯ (ที่ถูกควรเป็นเจ้าพระยาสุรวงษ์วัฒนศักดิ์)

เรือกลไฟอินทราของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เรือกลไฟเบอร์ 1 นำหน้าเรือพระที่นั่งสมจิตร์หวังของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเรือปิกนิกหยั่งใจถูกตามเสด็จ เรือกลไฟศุลกากรของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เรือกลไฟเบอร์ 37 ของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมติอมรพันธ์ (ที่ถูกควรเป็นกรมขุนสมมติอมรพันธุ์) เรือกลไฟเบอร์ 9 ของกรมทหารเรือ และเรือกลไฟเบอร์ 4 พร้อมด้วยเรือปิกนิกแลลืมพลิบ (คงแปลว่าตะลึงแลจนลืมกะพริบตากระมัง) กับยอดไนยนา เรือกลไฟนครนายกของนายร้อยตรี นายเหล็ง กรมตำรวจภูธร เรือกลไฟเล็กของพระยาอินทราธิบดีฯ เรือกลไฟเบอร์ 5 เรือกลไฟเบอร์ 6 ของกรมทหารเรือ พร้อมด้วยเรือปิกนิกหนึ่งในหมู่ เรือกลไฟมหาวิไชย เรือกลไฟเบอร์ 34 เรือกลไฟสมใจ เรือกลไฟเบอร์ 15 เรือกลไฟนพรัตน และเรือกลไฟเบอร์ 7 ของกรมทหาร เป็นอาทิ

เป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่ขบวนเรือมากมายเพียงนั้น แม้จะมิได้มีท้องตราให้กรมการเมืองคอยท่ารับเสด็จ แต่ด้วยจำนวนเรือเกินกว่าการเดินทางของเสนาคหบดีทั่วไป นั่นหมายถึง การเสด็จประพาสต้นผ่านคลองดำเนินสะดวกเมื่อครั้งกระโน้น ย่อมอยู่ในความรับรู้ของชาวบ้านร้านตลาดอยู่เอง ไม่รู้ก็แต่ใครอยู่บนขบวนเรือ

ที่แน่ๆ ต้องเป็นเจ้าคนนายคนถึงได้ยกกันมาแน่นขนัดทั้งคุ้งน้ำด้วยเหตุดังนั้น แม้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะทรงพระนิพนธ์ไว้ในจดหมายนายทรงอานุภาพต่อไปถึงเรื่องราวที่ราษฎรไม่รู้ว่า “ใครเป็นใคร” ที่มาเยือนถึงเรือนชาน แล้วมาล่วงรู้ภายหลังว่าชายผู้ “คล้ายนัก” เป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน คงอาศัยเค้าเรื่องจริงแต่แต่งเติมด้วยสำนวนปนสนุกไว้สำหรับอ่านกันในหมู่ชาวทวีปัญญาสโมสร

ท่านผู้อ่านในชั้นหลัง แม้จะเกิดไม่ทันร่วมยุค แต่ก็รู้สึกร่วมไปกับพระนิพนธ์ของเสด็จในกรม ครั้นเมื่อมีการค้นพบเอกสาร โดยเฉพาะจากสายตาสามัญชนอย่างนายบ่าย และได้อ่านจากอีกแง่มุมหนึ่งบ้าง ย่อมทำให้ประวัติศาสตร์การเสด็จประพาสต้นแต่หนหลังแจ่มกระจ่างสมจริงขึ้น และยิ่งทำให้นึกถึงโคลงพระนิพนธ์ของ น.ม.ส. ที่ว่า

“สยามินทร์ปิ่นธเรศเจ้า จุลจอม จักรเอย นึกพระนามความหอม ห่อหุ้ม อวลอบกระหลบออม ใจอิ่ม เพราะพระองค์ทรงอุ้ม โอบเอื้อเหลือหลายฯ”

อ่านเพิ่มเติม :


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ประวัติศาสตร์ประพาสต้น ฉบับนายบ่าย : คลองดำเนินสะดวกอีก (สัก) ที” เขียนโดย ภานุพงศ์ สิทธิสาร บ้านริมคลองบางน้อย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2564