ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“แซ่” เปรียบเสมือน “นามสกุล” ที่คนไทยคุ้นเคย สามารถบอกบรรพบุรุษของบุคคลนั้นได้ ซึ่งแต่ละแซ่ก็มีที่มาการตั้งแซ่แตกต่างกันไป
ที่มาการตั้งแซ่ของคนจีนแต่ละตระกูลที่รู้จักในปัจจุบัน
1. แซ่ตั้งตามชื่อดินแดนที่ปกครองหรือแคว้น เช่น แซ่ตั้ง ฉั่ว โง้ว แต้ ฌ้อ ฮ้อ ซิง จู อึ๊ง เซียว เล่า ฮั้ว ฮั้ง
2. แซ่โฮ้ว กงซุน อ๋องซุน กลุ่มนี้ตั้งมาจากฐานันดรศักดิ์หรือบรรดาศักดิ์ ในสมัยราชวงศ์โจว มีการแบ่งอาณาจักรเป็นแคว้นน้อย แคว้นใหญ่ พระราชวงศ์และขุนนางต่างต้องไปปกครองบ้านเมืองเป็นพระยาสามนตราช มีบรรดาศักดิ์จากสูงไปต่ำ 5 ระดับ ได้แก่ กง (เจ้าพระยา) โหว (พระยา) ป๋อ (พระ) จื่อ (หลวง) และ หนัน (ขุน)
แซ่โฮ้วจึงมาจากบรรดาศักดิ์ที่ว่า ส่วนกงซุน หมายถึง หลานของสามนตราชั้นกง และอ๋องซุน ก็หมายถึงหลานของอ๋อง ซึ่ง 2 คำหลังเป็นคำบอกฐานันดรคล้ายหม่อมเจ้าในภาษาไทย

3. แซ่ซีเบ๊ ซีคง ซีทู้ หลี (ลี้) จี๊ มาจากการตั้งตามตำแหน่งราชการ เนื่องจากซีเบ๊หรือซือหม่า คือตำแหน่งผู้บัญชาสูงสุดของทหาร คล้ายกับสมุหกลาโหม ซีคง คือโยธาธิการ ซีทู้หรือซือถูมาจากมหาดไทย หลีหรือลี้ คือยุติธรรม และจี๊ มาจากเฉียน คือทำงานด้านการเงินหรือการคลัง
4. แซ่ตั้งตามอาชีพ เช่น แซ่เท้าหรือเถาคือช่างเครื่องปั้นดินเผา แซ่บูหรือวูคือหมอดู-พ่อมด หรือแซ่ผกคือหมอดู
5. แซ่ที่มาจากถิ่นที่อยู่หรือถิ่นกำเนิดของผู้กำเนิดแซ่ เช่น ไซมึ้งคือซีเหมิน ประตูตะวันตก ตังมึ้ง คือตงเหมิน ประตูตะวันออก แซ่จูกัด คือคนที่เดิมแซ่กัดและอพยพมาจากเมืองจู คนเรียกกันว่าจูกัด ส่วนแซ่ลิ้มคือพวกเกิดในเขาเชียงลิ้ม แซ่เอี้ยว คือไต้ซุ่นที่เกิดบ้านเอี้ยวฮือ
6. แซ่ตามชื่อตัวและชื่อรองของบรรพบุรุษ อย่าง แซ่ขงมาจาก ขงจื๊อ หรือแซ่เปา ของเปาบุ้นจิ้น มาจากนามรองว่า เปาซู

7. แซ่ที่ตั้งตามสมญาหรือสมัญญาของบรรพบุรุษ เนื่องจากคนชั้นสูงของจีน นอกจากจะมีชื่อรองแล้ว ยังต้องมีสมญา (ตั้งเองตอนมีชีวิตอยู่) และสมัญญา (คนอื่นตั้งให้เมื่อตายแล้ว) จึงทำให้คนนิยมเอาสมญาหรือสมัญญามาตั้ง เช่น แซ่บู๊ ของบูเช็คเทียนก็มาจากสมัญญาซ่งบู๊กง
8. แซ่ที่มาจากการไล่ลำดับ ไม่ว่าจะเป็นระบบกานจือ ที่มาจากการนับวันเดือนปี ได้แก่ แซ่กะ แซ่อิก แซ่เต็ง รวมไปถึงการนับลำดับพี่น้อง ปรากฏแซ่เม่งหรือเมิ่ง ของเมิ่งจื๊อ เหตุที่ใช้เมิ่งเพราะแต่เดิมต้นวงศ์นี้เป็นหลานคนโตของเจ้าผู้ครองแคว้นหลู่ และคำว่าเมิ่งก็คือคำที่เรียกลูกคนโตของครอบครัว
แซ่ที่ว่ามานี้ เป็นเพียงแค่การแบ่งประเภทจากชนกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มสำคัญเท่านั้น เพราะชื่อหรือการเรียกเหมือนกัน ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมาจากที่ทางเดียวกันทั้งหมด เหมือนกับไทยที่บางนามสกุลอาจจะซ้ำกัน แต่แท้จริงแล้วบุคคลต้นกำเนิดไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลยแม้แต่น้อย
อ่านเพิ่มเติม :
- แซ่ฉั่ว (ไช่) หนึ่งในตระกูลใหญ่และเก่าแก่ของจีน
- แซ่-ระบบตระกูลแซ่ สิ่งที่ทำให้โลก มีแต่ “จีนโพ้นทะเล”
- ตำนานแซ่คนจีน แนวเหยียนตี้-หวงตี้คือพี่น้องกัน แตกสาขาแล้วเป็นแซ่ของลิโป้-ทักษิณ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ถาวร สิกขโกศล. เรื่องของแซ่เซียว. [ม.ป.ท.]:ม.ป.พ., 2545. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:192787.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567