ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“อาหาร” เป็นวัฒนธรรมร่วมของผู้คนในอุษาคเนย์ แม้เชิงรัฐศาสตร์จะถูกขีดคั่นด้วยพรมแดน ทว่าอาหารกลับส่งผ่านถึงกัน ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมร่วม และคลี่คลายเป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง เช่น อาหาร “สำรับพิธีกรรมเขมร” ในงานมงคลต่างๆ ซึ่งมีด้วยกัน 5 เมนูที่ขึ้นชื่อ
5 เมนูขึ้นชื่อ “สำรับพิธีกรรมเขมร”
องค์ บรรจุน ชาวไทยเชื้อสายมอญที่หลงรักวัฒนธรรมอุษาคเนย์ เล่าไว้ในหนังสือเล่มล่าสุด “ข้างสำรับอุษาคเนย์” (สำนักพิมพ์มติชน) ตอนหนึ่งว่า
ชาวเขมรมีประเพณีพิธีกรรมโบราณที่ประณีตพิถีพิถัน ให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนและทุกรายละเอียด แต่ละพิธีกรรมต้องมีทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน เช่น
“อามก เตร็ย” (amok trey) หรือห่อหมกทำจากปลาน้ำจืด ใส่เครื่องเทศ ถั่วลิสงอบ กะทิ ไข่ ห่อด้วยใบตอง นำไปนึ่งจนสุก ลักษณะคล้ายห่อหมกของไทยและลาว ต่างกันที่รสชาติไม่เผ็ด
อามก เตร็ย เป็นอาหารในพิธีกรรมดั้งเดิมของชาวเขมร ไทย และลาว นับเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในพิธีกรรมต่างๆ โดยใช้ห่อหมกในการสังเวยเทวดา เซ่นไหว้ผี แห่ขันหมากหรืองานแต่งงาน และเลี้ยงผู้คนในเทศกาลทั่วไป
“ซัมลอ การี” (samlor kari) ลักษณะคล้ายแกงกะหรี่ ใช้ได้ทั้งเนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อไก่ มักใส่มันเทศ หอมแดง หน่อไม้ บางครั้งกินกับขนมปังฝรั่งเศส หรือกินกับขนมจีนที่เรียกว่า “นม บัน เจ๊าะ ซัมลอ การี” นิยมใช้เลี้ยงแขกในงานแต่งงาน
“ปราฮอก กะติ๊” (prahok kati) หรือน้ำพริกปลาร้า มีวัตถุดิบหลักคือ ปลาร้า กะทิ และเครื่องแกงทั้งหลาย เช่น หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ ข่า ขมิ้น ผิวมะกรูด โขลกรวมกันแล้วผัดในกระทะ เติมเนื้อหมูหรือเนื้อปลา กินแนมกับผักสด นิยมทำขึ้นเพื่อเซ่นไหว้บรรพชน และเลี้ยงแขกในงานเทศกาลทั่วไป
“อ็อนซอม” (ansom) ลักษณะคล้ายข้าวต้มมัดของไทย เป็นขนมที่ทำจากข้าวเหนียวห่อด้วยใบตอง หากใส่ไส้กล้วยเรียก “อ็อนซอม เจก” หากใส่ไส้หมูเรียก “อ็อนซอม จรูก” นิยมทำขึ้นเพื่อเซ่นไหว้บรรพชนและทำบุญตักบาตรทั่วไป
“กร็อฬาน” (kralan) ลักษณะคล้ายข้าวหลามของไทย ทำจากข้าวเหนียว ใส่ถั่วเขียวหรือถั่วลันเตา มะพร้าว กะทิ และน้ำตาล กรอกส่วนผสมทั้งหมดลงในกระบอกไม้ไผ่ นำไปย่างหรือหลาม
องค์บอกว่า ชาวเขมรในไทยนิยมทำถวายพระและแจกจ่ายญาติมิตรในพิธี “สมเปรี๊ยะพระแข” เทศกาลไหว้พระแข (พระจันทร์) ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ส่วนชาวเขมรในกัมพูชาได้รวมเอาเทศกาลน้ำ (water festival) เข้าไว้ด้วยกัน มีประเพณีไหว้พระจันทร์ ลอยเคราะห์ และการละเล่นทางน้ำ เช่น แข่งเรือ รวมเรียกว่า “บอง อม ตู๊ก” (bon om touk)
ใครได้ลอง 5 จานเด็ด อาหารสำรับพิธีกรรมเขมรนี้แล้ว มาเล่าสู่กันฟังได้เลย
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดตำราอาหารชาววังพม่า เมื่อ 200 กว่าปีก่อน “กษัตริย์ราชวงศ์อลองพญา” โปรดเสวยเมนูอะไร?
- เปิด 2 จานเด็ด “อาหารเขมร” ที่ได้รับวัฒนธรรมอาหารไทย มีเมนูอะไรบ้าง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
องค์ บรรจุน. ข้างสำรับอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567. (สั่งซื้อออนไลน์ที่เว็บไซต์สำนักพิมพ์มติชนได้ที่นี่)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2567