“ลา ลูแบร์” เผย คนสยาม “ขี้อาย” แม้จะแต่งกายเกือบเปลือย

ผู้หญิงสยาม ใน ชุดไทย กับ บุตร ขุนนางสยาม สมัย พระนารายณ์ อยุธยา คนสยาม ขี้อาย
(ซ้าย) ผู้หญิงสยามกับบุตร (ขวา) ขุนนางสยาม จาก จดหมายเหตุลาลูแบร์

ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ได้บันทึกวิถีชีวิตคนกรุงเก่าฯ ไว้อย่างน่าสนใจหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือความ “ขี้อาย” ของคนสยาม

ผู้หญิง สมัยโบราณ
แม่ให้นมลูก ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรปที่เข้ามาบันทึกชีวิตชาวสยามในปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงต้นรัชกาลที่ ๕

บันทึกของ ลา ลูแบร์ แสดงความคิดเห็นต่อการแต่งกายของคนสยามที่เป็นชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปอย่างตรงไปตรงมาว่า “ไม่ใคร่จะพอใจหุ้มห่อกายตัวนัก… เพราะอากาศร้อนจัด เป็นสาเหตุให้ชาวสยามพอใจประพฤติอนาจารเปลือยกายมากกว่าปกคลุมด้วยเสื้อผ้า”

และ “ไปไหนก็เดินไปท้าวเปล่า ๆ ศีรษะก็เปลือย ชั่วแต่จะปิดบังที่อุจาดเท่านั้น”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ลา ลูแบร์ เล่าว่า แท้จริงแล้วคนสยามละอายอย่างยิ่งที่จะปล่อยให้ชาวต่างชาติเห็นเรือนร่างของตน ดังว่า

“แม้ชาวสยามจะแต่งตัวอย่างฝรั่งค่อนว่า ว่าเปลือยกายโทงเทงฉันใด ชาวสยามก็ยังเต็มไปด้วยความละอาย ไม่ยอมอุจาดตา ว่ากันที่แท้ชายหญิงในกรุงสยามเป็นคนขี้ละอายอย่างยิ่งในโลก ที่จะแสดงอวัยวะในร่างกาย ซึ่งอย่างธรรมเนียมจำใจจะให้ชาวสยามต้องซ่อนเร้น ผู้หญิงที่เปลือยอกนั่งเอ้เตมาในเรือของเจ้าหล่อนในวันเอกอัครราชทูตของพระราชา (ฝรั่งเศส) แห่เข้าพระนคร ยังต้องนั่งผินหลังให้ขบวนแห่ ข้อปลาดที่สุดนั้น ยากที่ใครแม้แต่ตั้งใจสอดตาดูก็แลเห็นพ้นแขนเจ้าหล่อนเข้าไปไม่ได้…”

นอกจากนี้ คนสยามยังเลือกนุ่งห่มเสื้อผ้าเวลานอน และเลี่ยงการเปลือยกายอาบน้ำ ซึ่งปฏิบัติกันเป็นกิจวัตรอันพึงกระทำมากกว่าเพื่อหาความสำราญ (ต่างจากชาวยุโรปที่อาบน้ำเพื่อความสำราญ) รวมถึงการงดเว้นร้องเพลงเนื้อหาสัปดนอย่างโจ่งแจ้ง ดังว่า

 “ชาวสยามไม่ยอมเปลื้องผ้าปกกายในเวลานอน หรืออย่างที่สุดก็เป็นเพียงผลัดผ้านุ่งที่นุ่มนวล เช่น ผลัดผ้าชุดอาบน้ำเวลาลงอาบน้ำในแม่น้ำลำคลองเหมือนกับผู้ชาย”

“ความละอายของชาวสยามส่อธรรมเนียมให้การอาบน้ำเกือบจะมิใคร่เอาความสำราญ และมีน้อยคนในจำพวกคนสยาม กล้าเอาความสุขในเวลาอาบน้ำได้ ด้วยแม้ชาวสยามแทบจะเปลือยกายอยู่เอง กระนั้นก็ยังรังเกียจรังกลเอื้อนอายในการขึ้นชื่อว่าเปลือยกายมาก

ทั้งชาวสยามเอาเป็นธุระระวังไม่น้อย ในเรื่องความละอายอุจาดหู กลับยิ่งร้ายขึ้นไปกว่าอุจาดตาเสียอีก ด้วยเห็นเพลงขับที่ไม่บริสุทธิ์และสัปดนนั้นกฎหมายสยามห้ามเหมือนกฎหมายเมืองจีน”

ลา ลูแบร์ Simon de La Loubère
ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

บันทึกของลา ลูแบร์ จึงสะท้อนมุมมองของชาวต่างชาติที่มีต่อคนไทยสมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี และเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญยืนยันถึงพฤติกรรมและจารีตของคนโบราณ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ลา ลูแบร์, กรมนราธิปประพันธ์พงศ์ แปล. (2505). จดหมายเหตุลาลูแบร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2567