บันทึก “ลา ลูแบร์” เผย ชาวสยามผูกคอตายใต้ต้นโพธิ์ ถวายเป็นพุทธบูชา

ภาพลายเส้นวัดและพระพุทธรูปสมัยอยุธยา จากจดหมายเหตุลา ลูแบร์

ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ได้บันทึกเกี่ยวกับชาวสยามผูกคอตายใต้ต้นโพธิ์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ความว่า

“ยิ่งกว่านั้น ชาวชมพูทวีปทั้งปวงคิดอยู่ว่า การฆ่าตัวเองตายนั้นมิชั่วแต่เป็นสิ่งที่พึงอนุญาตให้กระทำได้ เพราะเขาเชื่อว่าเขาเป็นเจ้าของตัวของเขาเองเท่านั้น แต่หากเป็นความเสียสละอันมีประโยชน์แก่วิญญาณ ทำให้ได้บรรลุถึงซึ่งคุณธรรมชั้นสูงและความบรมสุข

Advertisement

ด้วยประการฉะนี้ในลางครั้งจึงมีการผูกคอตายเป็นพุทธบูชากับต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเขาเรียกเป็นภาษาบาลีว่า พระศรีมหาโพธิ (prá si mahà Pout) และในภาษาสยามเรียกว่า ต้นโพ (Top pô). ศัพท์ในภาษาบาลีนี้ดูเหมือนจะมีความหมายว่า ประเสริฐ หรือต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระพุธผู้ยิ่งใหญ่ (Grand Mercure) อันนามว่าพระพุธนี้เป็นนามวันพุธ (mercredi) ในภาษาบาลี. ชาวยุโรปเรียกต้นไม้นี้ว่า ต้นไม้อุโบสถ (Arbre des Pagodes) เพราะชาวสยามปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้หน้าพระอุโบสถ. 

ต้นไม้ชนิดนี้เติบโตขึ้นในป่าเช่นเดียวกับต้นไม้ชนิดอื่น ๆ ในประเทศนั้น แต่เอกชนคนใดจะนพเอาไปปลูกไว้ในสวนของตนมิได้ และเนื้อไม้นี้แลที่ใช้แกะทำเป็นพระปฏิมากรพระสมณโคดมในเมื่อต้องการสร้างขึ้นด้วยไม้ แต่ศรัทธาอันชักนำให้ชาวสยามไปผูกคอตายที่ต้นโพในลางครั้งนั้น มักจะมีสาเหตุเนื่องมาจากมีความเบื่อหน่ายในชีวิตเป็นประมาณ หรือว่าด้วยความหวาดกลัวอันใหญ่หลวง เช่นกลัวว่าจะได้รับพระราชอาญาเป็นต้น.”

นอกจากนี้ ลา ลูแบร์ยังบันทึกถึงเหตุการณ์ที่ชาวมอญ (พะโค) เผาตัวตายที่วัดสามพิหาร (วัดสามวิหาร) ความว่า

“เมื่อ 6 หรือ 7 ปีที่แล้วมานี้ ชาวพะโคคนหนึ่งได้เผาตัวเองภายในโบสถ์แห่งหนึ่ง ซึ่งชาวพะโคที่อยู่ในประเทศสยามเรียกว่า สามพิหาร (Sam Pihan) เขานั่งขัดสมาธิแล้วเอาน้ำมันชนิดหนึ่งทาตัวเสียหนาเตอะ หรือจะพูดให้ถูกก็เป็นน้ำยางชนิดหนึ่งแล้วก็จุดไฟขึ้น มีผู้เล่ากันว่าชาวพะโคผู้นั้นมีความไม่พอใจในครอบครัวของตน ที่แม้กระนั้นก็ยังมาร้องห่มร้องไห้อยู่เป็นหนักหนารอบ ๆ ตัว

เมื่อถูกไฟครอกและเนื้อตัวไม้เกรียมไปแล้ว ก็มีผู้เอาปูนชนิดหนึ่งมาพอกกะเลวร่างของผู้ตายเข้าไว้ นำเอาไปเป็นแม่พิมพ์หล่อรูปขึ้นแล้วลงรักผิดทอง นำไปประดิษฐานไว้บนแท่นชุกชีเบื้องปฤษฏางค์พระปฏิมากรแห่งพระสมณโคดม เขาเรียกนักบุญจำพวกนี้ว่า พระเที่ยงแท้ (prá tian tée) เที่ยง หมายความว่า แท้ (véritable) แท้ หมายความว่า แน่นอน (assurément). ชาวสยามเข้าใจศีลองค์แรกของเขาด้วยประการฉะนี้แล.”

แม้ ลา ลูแบร์จะไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ชาวมอญผู้นี้เผาตัวตาย แต่จากการที่มีการหล่อรูปลงรักปิดทองนำประดิษฐานให้สักการะนี้แล้ว ก็อาจเชื่อได้ว่าชาวมอญผู้นี้มุ่งเผาตัวตายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

อย่างไรก็ตาม จากบันทึกของ ลา ลูแบร์จะเห็นว่า สาเหตุของการสละชีพเพื่อพระพุทธศาสนานี้มิได้มีเหตุปัจจัยมาจากเรื่องพระพุทธศาสนาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตามที่ ลา ลูแบร์ได้อธิบายให้เห็นถึงบริบทแวดล้อมของเหตุการณ์เหล่านั้น กล่าวคือ การผูกคอตายใต้ต้นโพธิ์ก็มีเหตุปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากความเบื่อหน่ายในชีวิตหรือการหลบหนีพระราชอาญา ดังที่บันทึกว่า

“แต่ศรัทธาอันชักนำให้ชาวสยามไปผูกคอตายที่ต้นโพในลางครั้งนั้น มักจะมีสาเหตุเนื่องมาจากมีความเบื่อหน่ายในชีวิตเป็นประมาณ หรือว่าด้วยความหวาดกลัวอันใหญ่หลวง เช่นกลัวว่าจะได้รับพระราชอาญาเป็นต้น.”

ส่วนเรื่องชาวมอญเผาตัวตายก็มีเหตุปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากชีวิตส่วนตัว ดังที่บันทึกว่า “มีผู้เล่ากันว่าชาวพะโคผู้นั้นมีความไม่พอใจในครอบครัวของตน ที่แม้กระนั้นก็ยังมาร้องห่มร้องไห้อยู่เป็นหนักหนารอบ ๆ ตัว”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

มองซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์. (2548). จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. สันต์ ท. โกมลบุตร (แปล). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 เมษายน 2564