ปาลเลกัวซ์-ลา ลูแบร์ ระบุ การนวด-ยืดเส้น แพทย์แผนโบราณใช้รักษาอาการป่วยไข้

ฤาษีดัดตน วัดโพธิ์ การนวด
ฤาษีดัดตน วัดโพธิ์ (ภาพจากหนังสือ ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน)

การนวด-ยืดเส้น เป็นการรักษาทางการแพทย์โบราณของไทยมาแต่อดีต ซึ่งทั้ง ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และบาทหลวง ปาลเลกัวซ์ ที่เข้ามายังกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่างก็กล่าวถึงการนวด-ยืดเส้นของไทยในสมัยอดีตไว้ทำนองเดียวกัน

ลา ลูแบร์ กล่าวว่า ในกรุงสยามนั้นถ้าใครป่วยไข้ลง ก็จะเริ่มทำให้เส้นสายยืดโดยให้ผู้มีความชำนาญในทางนี้ขึ้นไปบนร่างกายของคนไข้ แล้วใช้เท้าเหยียบ ๆ

กล่าวกันว่า หญิงมีครรภ์ก็มักใช้ให้เด็กเหยียบเพื่อให้คลอดบุตรง่าย ด้วยว่าในเมืองร้อนนั้น หญิงมักจะคลอดบุตรง่ายโดยธรรมชาติสร้างสรรค์ให้เหมาะกับลมฟ้าอากาศ แต่ก็ปรากฏว่าเจ็บปวดรวดร้าวอยู่มากเหมือนกัน ลางที่อาจเป็นเพราะมีอาการเตรียมขับถ่ายก่อนคลอดน้อยนักนั่นเอง

บาทหลวง ปาลเลกัวซ์ กล่าวว่า ระบบการรักษาคนไข้นั้นต่างกว่าที่กระทำกันในยุโรป เขาให้คนไข้ได้กินข้าวต้มน้ำใส ๆ กับปลาแห้งสักหน่อยเดียวเท่านั้น เขาให้คนไข้อาบน้ำหรือลูบตัววันละ 3-4 หน ผู้พยาบาลอมน้ำยาผสมรากไม้พ่นไปบนตัวคนไข้อย่างแรงเป็นฟูฝอย พ่นอยู่ดังนี้ตั้งเสี้ยวชั่วโมง

ข้อจำเป็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ การนวด ผู้ชำนาญการนวดจะบีบเฟ้นร่างกายทุกส่วนของคนไข้โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แขน หน้าท้อง และต้นขา บางทีหมอก็จะขึ้นไปเหยียบอยู่บนเข่าของคนไข้ แล้วก็ไปตามร่างกายอ้างว่าเพื่อให้เส้นสายกลับคืนเข้าที่”

การนวด-ยืดเส้น เป็นหนึ่งในศาสตร์ทางการแพทย์โบราณของไทยที่ตกทอดกันมาหลายรุ่น และมีความสำคัญอย่างยิ่ง จนรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมศาสตร์ด้านการแพทย์หลากหลายแขนง เขียนภาพและปั้นรูปฤษีดัดตน และจารึกวิชานวด หรือหัตถศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นจุดสำคัญในร่างกายมนุษย์สำหรับใช้นวดไว้อย่างละเอียด

นี่จึงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการนวด-ยืดเส้นของไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 สิงหาคม 2564