ประวัติศาสตร์การใช้ “น้ำมันหอมระเหย” เครื่องมือช่วยผ่อนคลาย

ภาพประกอบเนื้อหา - น้ำมันหอมระเหย (ภาพจาก pixabay.com - public domain)

ประวัติศาสตร์ของการใช้น้ำมันหอมระเหยเข้ามาเป็นเครื่องมือในการช่วยผ่อนคลายความเครียดและเหนื่อยล้ามีมาตั้งแต่อดีตสามารถนับย้อนกลับไปได้หลายพันปี โดยชนชาติแรกเริ่มที่มีการนำมาใช้ได้แก่ จีน โดยนำน้ำมันหอม มาใช้ในพิธีบูชาเทพเจ้า [1] ในขณะที่อียิปต์โบราณได้มีการสกัดน้ำมันออกมาจากสมุนไพรและดอกไม้ เช่น คาโมมาย และโรสแมรี่ เป็นต้น โดยใช้เป็นน้ำหอมสำหรับฟาโรห์ [2] ที่เป็นผู้ปกครองเมือง โดยฟาโรห์มีสถานะดังสมมุติเทพซึ่งมีจุดรวมกันก็คือความสูงส่งและเทพเจ้า

น้ำหอม หรือการใช้น้ำมันหอมระเหยในอดีตจึงเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคม น้ำมันหอมถูกนำกลับมาใช้อย่างแพร่หลายในสังคมชนชั้นสูงยุโรปเพื่อดับกลิ่นกาย เนื่องจากทวีปยุโรปนั้นมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นจึงทำให้ผู้คนไม่ค่อยอาบน้ำกันบ่อยนัก ประกอบกับระบบสุขภิบาลที่ไม่เป็นระบบจึงส่งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออกมา น้ำหอมจึงเป็นเครื่องมือในการช่วยดับกลิ่น [3] อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กรรมวิธีการผลิตนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาต่อยอดในทุกยุคทุกสมัย

กรรมวิธีในการทำน้ำมันหอมระเหยสามารถทำได้โดยการนำเอาส่วนต่างๆ อาทิ ดอก ใบ แก่น รากมาสกัดให้เป็นน้ำมัน [4] น้ำมันหอมระเหยถูกใช้อย่างแพร่หลายในวงการ สปา การนวดผ่อนคลายการนวดอโรม่ามีส่วนช่วยทำให้เพิ่มการหมุนเวียนของเลือดและยังผ่อนคลายกล้ามเนื้ออีกด้วย [5]

โดยในปัจจุบันได้นิยมนำน้ำมันหอมระเหยมาผสมทำเทียนหอม กลิ่นของน้ำมันหอมระเหยมีส่วนช่วยในการทำให้ร่างกายตื่นตัว และผ่อนคลายความเครียด [6] ส่วนที่กลิ่นนิยมมาสกัดจากใบ ได้แก่ เปปเปอร์มินต์, ตะไคร้ ส่วนที่สกัดจากผล ได้แก่ ส้ม โดยใช้เปลือกส้มในการสกัด กลิ่นที่นิยมนำมาสกัดจากดอก ได้แก่ ลาเวนเดอร์, กระดังงา และ มะลิ เป็นต้น [7]

โดยในปัจุบันได้มีการพัฒนาน้ำมันหอมระเหยกลิ่นใหม่ๆ โดยใช้กลิ่นของขนมหวานเข้ามาเป็นจุดสนใจ คือ กลิ่นวนิลา ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศในแถบยุโรป [8] ซึ่งในอนาคตเองก็น่าจะมีกลิ่นใหม่ๆแปลกๆ ออกมาอย่างแพร่หลายก็เป็นได้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

[1] อำไพลี ละรัตนวงศ, & สิริวัฒน์ ศรีเครือดง. (2564). สุคนธบำบัด ศิลปะจากธรรมชาติเพื่อผ่อนคลายจิตใจผ่านอายตนะ. วารสารจิตวิทยาVol.19(No. 1), 59.

[2] González-Minero, F. J., Bravo-Díaz, L., & Ayala-Gómez, A. (2020). Rosmarinus officinalis L. (Rosemary): An Ancient Plant with Uses in Personal Healthcare and Cosmetics. Cosmetics7(4), 77. https://doi.org/10.3390/cosmetics7040077 

[3] พิทยา บุนนาค (2553). เรื่องของส้วม. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กรกฎาคม 2553.

[4] วิจิตรา หลวงอินทร์. (2561). สุคนธบำบัดจากน้ำมันหอมระเหย วารสารวิทยาศาสตร์บูรพาVol. 23 (No.1), 61–78.

[5] ภรภัทร วุฒิวัฒนกุล. (2557). แผนธุรกิจร้านสปาเพื่อสุขภาพของผู้บริโภคในจังหวัดนนทบุรี (p. 12).

[6] อนุช แซ่เล้า, & สุชาดา กรเพชรปาณี.(2561). ผลของน้ำมันหอมระเหยดอกจำปีต่ออารมณ์ : การศึกษาอารมณ์ ความรู้สึกและจิตสรีรวิทยา. วารสารวิทยาการวิจัยและวิทยาการปัญญา, Vol. 16 (No.1), 150–162.

[7] พงษ์ศักดิ์ จิตตบุตร และคณะ. (2562). ระบบการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรโดยใช้แกลบเป็น เชื้อเพลิง. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. Vol. 4 (No.2), 67

[8] ผจงศักดิ์ หมวดสง. (2556). แนวทางการพัฒนาศักยภาพการตลาดสำหรับผู้ประกอบการ:กรณีศึกษาวิสาหกิจ ผลิตภัณฑ์เทียนหอม จังหวัดเชียงใหม่ . วารสารวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์บูรพาปริทัศน์vol.8(No.1), 29–39.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ธันวาคม 2565