ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
บ่ายวันหนึ่งของเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2504 “ทวี นันทขว้าง” กำลังนอนกลางวันอยู่อะพาร์ตเมนต์ บ้านเลขที่ 13 เปียสซ่า วิโตริโอ เอมมา นูเอล ภายในกรุงโรม ประเทศอิตาลี
มันคงเป็นวันธรรมดา ๆ วันหนึ่ง ของชายผู้ต่อมาคือ “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำ พ.ศ. 2533 แต่วันนั้นท่านดันตื่นขึ้นมาแล้วเหลือบไปเห็น “สตรีปริศนา” ลักษณะเหมือนแหม่มนักบุญคนหนึ่งที่ปลายเตียง
อาจารย์ทวี เล่าว่า “ผมหลับไปประมาณหนึ่งชั่วโมง ผมก็ลืมตามองเพดานไม่ได้มองปลายเท้า พอผมมองปลายเท้า ก็เห็นคนในชุดขาวเป็นชาวโรมันโบราณเลือน ๆ หน้าตาไม่น่าเกลียด จำหน้าได้ มานั่งอยู่ที่เก้าอี้ปลายเตียง มวยผมใหญ่ มีอะไรบางอย่างบอกเป็น ‘อย่างว่า’ ต้องไม่ใช่คนธรรมดาแน่…
ตอนนั้นผมรู้สึกกลัว ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่คนกลัว ผมก็ร้องตะโกนสุดเสียง จนนึกศึกษาชาวเปอร์เซียกับชาวเยอรมันสองคนซึ่งอยู่ห้องติด ๆ กันวิ่งมาถามว่า เกิดเรื่องอะไรขึ้น ผมก็เล่าให้ฟัง”
นี่คือเรื่องราวจากปากของอาจารย์ทวี นันทขว้าง ซึ่งเล่าให้เทพชู ทับทอง (ลุงหนวด) แห่ง นสพ. ไทยรัฐ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 และบันทึกไว้ในหนังสือ อามระดิษ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงอายุธประดิษฐ์ หรือศุข อามระดิษ (29 พฤษภาคม พ.ศ. 2515) ที่คุณเทพชูเป็นผู้เรียบเรียง
“พอผมร้อง ร่างนั้นก็ค่อย ๆ เลือนหายไป” อาจารย์ทวีกล่าว
ตอนนั้นอาจารย์ทวี เป็นอาจารย์สอนวิชาจิตรกรรมอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ได้รับทุนไปศึกษาเพิ่มเติมที่อิตาลี เมื่อ พ.ศ. 2502 พร้อมด้วยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) พ.ศ. 2541 และพักร่วมอะพาร์ตเมนต์กันที่กรุงโรม
ส่วนสาเหตุที่ “ผีนักบุญ” ตามหลอกอาจารย์ทวีถึงในห้องนอนตอนกลางวันแสก ๆ นั้น ท่านเล่าว่า คงเป็นเพราะเช้าตรู่วันเดียวกัน ท่านไปเที่ยว “โรมา คาตาโคเบ ดีซาน เซบาสเตียโน” อุโมงค์สำหรับทำพิธีกรรมทางศาสนาของชาวคริสเตียนและสุสานฝังชาวคริสต์สมัยโรมัน ซึ่งมีความเก่าแก่เป็นพัน ๆ ปี
เรื่องของเรื่องคือ ท่านดันไปหยิบเอา “ปิ่นปักผม” ตรงกระดูกนักบุญหญิงรายหนึ่งติดไม้ติดมือมาเป็นที่ระลึกด้วย!
“ความจริงเมื่อก่อนผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องผีสางเท่าใดนัก วันนั้นผมได้หยิบเอาโครงกระดูกเชิงกรานและกระดูกไหปลาร้าของนักบุญผู้หญิงดู ก็เห็นว่าเป็นกระดูกผู้หญิงจริง ที่ตรงนั้นมีเครื่องประดับเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผู้หญิงวางอยู่หลายชิ้น เช่น หวีและปิ่น ของเหล่านี้เป็นของที่เขาถอดวางไว้บูชากระดูกนักบุญหญิงคนนั้น
ผมก็เลยหยิบปิ่นปักผมติดมือมาด้วยอันหนึ่ง พอปัดฝุ่นออกก็เห็นยังดีอยู่เลย และก็สวยเสียด้วย
ปิ่นอันนี้เป็นของสมัยเมื่อ 20 ปี มาแล้วนี่เอง ผมจึงเอาไปให้เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง เพื่อนผู้หญิงคนนั้นก็ชอบปิ่นอันนี้มาก ถามผมว่า เอามาจากไหน ผมก็บอกว่า เอามาจากที่ตรงกระดูกนักบุญผู้หญิง เพื่อนหญิงคนนั้นก็ว่าเอามาทำไม แล้วก็เอาปิ่นอันนั้นโยนทิ้งไปเลย”
อาจารย์ทวีมองเป็นเรื่องสนุก เห็นแล้วหัวเราะชอบใจใหญ่ ท่านเล่าว่า เมื่อก่อนจะไปไหนมาไหนก็มักเอาของติดมือมาเป็นที่ระลึกเสมอ ครั้งหนึ่งยังเคยเอาเทียนเหลืองจากหิ้งบูชาโบราณติดมือมาด้วยซ้ำ (ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างจริง ๆ)
สุสานโบราณใต้ในกรุงโรมมีมากมาย สถานที่ชวนขนลุกเหล่านี้เริ่มต้นจากการเป็นอุโมงค์ใต้ดินสำหรับทำพิธีกรรมทางศาสนาของชาวคริสต์อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ มาก่อน เพราะสมัยจักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจ ผู้ปกครองชาวโรมันสั่งห้ามการนับถือศาสนาคริสต์อย่างเข้มงวด
อาจารย์ทวียืนยันว่า เรื่องผีนักบุญนั้น “ไม่ใช่ฝันแน่ เดี๋ยวนี้ก็ยังจำได้ติดตา เรื่องนี้ใคร ๆ ถาม ผมก็สาบานให้เลย แหละนี่เป็นการเห็นผีครั้งมโหฬารที่สุดในชีวิต ความจริงผมเคยเห็นมาหลายครั้งแล้ว แต่เป็นเพียงเงา ๆ คราวนี้ชัดเจนจริง ๆ”
ท่านเล่าด้วยว่าหลังจากนั้นมีโอกาสกลับไปสุสานใต้ดินอีก แต่คราวนี้ไม่ได้ทำอะไรแผลง ๆ หรือหยิบอะไรติดมาเลย (ไม่กล้า) และไม่มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นตามมาแต่อย่างใด
อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ เพื่อนร่วมอะพาร์ตเมนต์ของอาจารย์ทวี ซึ่งอยู่ร่วมวงสนทนาด้วยกัน พูดเสริมว่า ตึกที่พวกท่านไปอยู่กันนั้นเป็นอาคารเก่า มี 4 ชั้น สร้างเมื่อหลายร้อยปีก่อนและผ่านอะไรมามากมาย ยิ่งส่งเสริมบรรยากาศความหลอนของที่นั่นเข้าไปอีก
“บ้านนั้นน่ากลัวครับ คล้ายบ้านผีสิงจริง ๆ แล้วก็พวกคนแก่ที่อยู่ชอบเอาผ้าคลุมหัวเดินเสียด้วย บ้านนั้นคนอยู่ไม่ทน อยู่ประมาณเดือนสองเดือนก็ไป” อาจารย์ประหยัดกล่าว
คุณเทพชูถามย้ำกับอาจารย์ทวีว่า สิ่งที่อาจารย์เห็นคือ “ผี” จริง ๆ ใช่ไหม ท่านก็ตอบว่า “ถ้าไม่เป็นผีแล้วจะเป็นอะไร เราเรียกว่าเป็นผีดีกว่าครับ” เรื่องผีนักบุญสตรีกรุงโรมก็จบลงเพียงเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- ตำนานหลอน “ผีนางไม้” ที่บ้านทรงไทยของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
- คฤหาสน์วินเชสเตอร์ ตำนานบ้านสุดหลอนอายุกว่า 100 ปี ที่ไม่มีวันสร้างเสร็จแห่งสหรัฐอเมริกา
- เจาะลึกเรื่องหลอน “ผีกะ” ผีพื้นบ้านภาคเหนือ มีที่มาอย่างไร เลี้ยงแบบไหน ใช้วิธีใดปราบ?!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2567