ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เรื่อง “ผีนางไม้” ที่บ้าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เล่าไว้กับ เทพชู ทับทอง หรือ “ลุงหนวด” คอลัมนิสต์ มาลัยเสี่ยงรัก แห่ง นสพ. ไทยรัฐ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2506 ซึ่งคุณเทพชูเป็นผู้เรียบเรียงไว้ในหนังสือ อามระดิษ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงอายุธประดิษฐ์ หรือศุข อามระดิษ (29 พฤษภาคม พ.ศ. 2515)
ณ วันที่พูดคุยกัน บ้านทรงไทยหลังต้นเรื่องในตรอกบ้านพระพินิจชนคดี ซอยสวนพลู พระนคร ปลูกมาได้ประมาณ 4 ปีแล้ว เป็นบ้านไม้สักล้วน ประกอบด้วยบ้าน 3 หลังติดกัน หลังแรกซึ่งใหญ่ที่สุดทำเป็นห้องรับแขก อีก 2 หลังทำเป็นห้องนอนและห้องสมุด
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทยเล่าว่า ท่านซื้อบ้านหลังที่เป็นห้องรับแขกมาจากย่านเสาชิงช้า เนื่องจากมีการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างศาลาเทศบาลนครกรุงเทพฯ ส่วนอีก 2 หลังซื้อมาจากพระนครศรีอยุธยา
หลังที่ซื้อมาจากเสาชิงช้าเป็นบ้านเก่ามาก ท่านประเมินเอาเองว่าคงมีอายุไม่น้อยกว่าร้อยปี ขณะที่หลังอื่น ๆ น่าจะราว 40-50 ปี เท่านั้น และเป็นหลังห้องรับแขกซึ่งมีอายุมากที่สุดนั่นแหละที่มีตำนานความหลอนเกิดขึ้น โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เล่าถึงเหตุการณ์ประหลาดที่ท่านประสบพบเจอด้วยตนเองว่า
“เย็นวันหนึ่งเวลาใกล้ค่ำแล้ว แต่ยังมีแสงสว่างสลัวๆ ผมได้ออกมาเดินดูบ้านที่ปลูกใหม่ ซึ่งขณะนั้นใส่ฝาและขึ้นเครื่องหมดแล้ว แต่หลังคายังไม่ได้มุง ผมได้เห็นผู้หญิงรูปร่างท้วมๆ นุ่งผ้าสีเข้ม จะใส่เสื้อหรือห่มผ้าสีขาวก็มองไม่ถนัด นั่งมองผมอยู่ที่ใต้ถุน พอผมเห็นก็หายไป ลักษณะที่หาย เห็นเหมือนจอโทรทัศน์ขาด”
วันเดียวกันนั้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ยังพาคุณเทพชูไปดูจุดใต้ถุนห้องรับแขกที่เห็นผู้หญิงคนนั้น ก่อนจะพาขึ้นไปดูบานประตูห้องรับแขกที่ “ตกน้ำมัน” ด้วย
สำหรับบานประตูดังกล่าวท่านเคยให้ช่างเอาไปล้างน้ำและกัดด้วยโซดาไฟแล้ว แต่น้ำมันไหลเยิ้มออกมาอยู่ดี กัดด้วยโซดาไฟอีกรอบก็ไหลเหมือนเดิม ให้ช่างจีนมาทาชะแล็กทับ แต่ก็ยังไหลซึมอยู่อย่างนั้น
อีกเรื่องประหลาดที่ตามมาติด ๆ หลังเห็น “ผี” ใต้ถุนบ้านคือ 15 วันต่อมา มีคนขับรถสามล้อถีบมาถามว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ (ตอนนั้นท่านยังอยู่บ้านหลังเก่าที่ติดกัน) ว่า บ้านหลังนั้นเป็นบ้านของท่านใช่ไหม? เมื่อบอกว่าใช่ คนขับสามล้อเล่าให้ฟังว่า มีผู้หญิงร่างท้วมขึ้นสามล้อจากปากตรอกมาลงที่หน้าบ้านหลังนี้แล้วเดินหายไปบนบ้าน ค่าโดยสารก็ไม่ให้ ท่านจึงให้เงินค่ารถไปสองบาท
“ต่อมาในระยะใกล้ๆ กันนั้น แต่คราวนี้ผมไม่อยู่ ก็ได้มีผู้หญิงขึ้นรถสามล้อ แล้วมาลงเดินหายเข้าไปในบ้านของผมอีก คนที่บ้านผมก็ได้ให้ค่าโดยสารไปสองบาทเหมือนกัน” ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ กล่าว
แต่ท่านยังให้ความเห็นไว้ว่า ถนนในซอยเฉอะแฉะมากหลังฝนตก แล้วตอนปลูกบ้านใหม่ ๆ ท่านไม่ได้ทำรั้วกั้น ชาวบ้านมักเดินลัดผ่านบ้านหลังนี้เสมอ ท่านก็ปล่อยให้ใช้ทางกัน ผู้หญิงคนนั้นจึงอาจเป็น “คน” หรือเป็นใครก็ได้ที่เบี้ยวค่ารถแล้วลงจุดนี้พอดี
แต่ความเฮี้ยนของผีนางไม้บ้าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ยังไม่หมดเท่านี้!
ในวันทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ท่านผู้หญิงคนหนึ่ง (ไม่ได้ระบุนาม) มาร่วมทำบุญเลี้ยงพระเพล และไม่น่าทราบเรื่องหลอน ๆ ของบ้านมาก่อน แต่อยู่ ๆ ได้เข้ามาบอกกับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ว่า ขณะที่พระกำลังสวดมนต์อยู่นั้น เธอนั่งกษิณหลับตาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งนั่งพนมมือฟังพระสวดอยู่ตรงประตูห้องรับแขก (จุดตกน้ำมัน) แล้วจึงแนะนำให้ท่านเซ่นสรวงผีตนนี้ด้วย
ตั้งแต่นั้นมา ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ จึงแบ่งอาหารเซ่นสรวงผีนางไม้เป็นประจำทุกวัน เฉพาะเมื่อกินข้าวที่บ้าน เพราะหากไปกินนอกบ้านจะไม่ได้เซ่นสรวง แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทราบเรื่องนี้มักคอยย้ำเตือนให้ท่านทำด้วย “ผู้ใหญ่ให้ทำ ผมก็ทำ ดูเหมือนเอาใจผู้ใหญ่มากกว่าเอาใจผี”
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ยังมาทราบภายหลังจากมิตรสหายท่านหนึ่ง (ไม่ระบุนามอีกเช่นกัน) ว่า บ้านหลังนี้ถูกเล่าลือกันตั้งแต่เสาชิงช้าถึงบางลำพูว่าผีดุ ถึงอย่างนั้น ท่านได้กล่าวต่อว่า “แต่ผมไม่เห็นมีอะไรนี่ สุขสบายดี ไม่เคยเจ็บไข้ ถ้าหากมี (ผี) ก็ไม่ใช่ของให้โทษ อยู่ด้วยกันได้ เรื่องนี้ผมไม่ค่อยสนใจ แต่ก็ไม่ลบหลู่หรือหวาดระแวงอะไร… ผมไม่เดือดร้อน ผมอยู่ได้”
ครั้งหนึ่งเคยมีเพื่อนบ้านเข้ามาบอกท่านด้วยว่า เคยเห็นผู้หญิงปริศนาโผล่มาตรงหน้าต่างตรงห้องรับแขก ตัวท่านเองรับทราบไว้ แต่ไม่ถึงขั้นปริวิตกอะไร “แต่เมื่อผมยืนอยู่ที่นอกชานหันหลังให้เรือนรับแขกหลังนี้ครั้งใด ก็มีความรู้สึกว่า เหมือนมีคนมองอยู่ เดี๋ยวนี้ก็ยังรู้สึกอย่างนั้น หรืออาจจะเป็นเพราะรู้เรื่องเข้าหรืออะไรก็ไม่รู้”
เกิดเรื่องราวมากมายเช่นนี้ ไม่แปลกที่ผีนางนี้จะประทับอยู่ในความคิดความรู้สึกท่านอยู่บ้าง…
เรื่องราวยังไม่หมดเท่านั้น อีกเหตุการณ์ประหลาดที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ประสบด้วยตนเอง (อีกแล้ว) คือ มีวันหนึ่ง เสื้อกันหนาวของท่านที่ควรจะอยู่ในตู้และห้องเก็บของใต้ถุน ซึ่งทั้งตู้และห้องใส่กุญแจแน่นหนา แต่อยู่ ๆ เสื้อตัวนั้นมาโผล่นอกห้องบริเวณที่ท่านนั่งเป็นประจำตั้งแต่เมื่อใดไม่มีใครทราบ ถามคนรับใช้ก็ไม่มีใครรู้เรื่อง!
“ที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือ ผมเลี้ยงหมาไว้มาก ปรากฏว่าสองหลัง (หลังที่ท่านนอนกับที่เป็นห้องสมุด) หมาเข้า ส่วนหลังนั้น (ห้องรับแขก) หมาไม่เข้าไปเลย หรืออาจเป็นเพราะไม่ได้อยู่ในนั้น?”
นอกจากนี้ คุณเทพชูเล่าไว้ในหนังสือ อามระดิษ ด้วยว่า พอหาข้อมูลเพิ่มก็พบว่า บ้านหลังดังกล่าวครั้งอยู่ที่เสาชิงช้ายังเป็นข่าวลงในหนังสือพิมพ์ และมีเรื่องเล่าลือกันว่า สามล้อเคยถูก “ผีผู้หญิง” หลอกขึ้นรถจากตึกดิน (บริเวณเสาชิงช้าและวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร) ไปวัดราชนัดดาราม หรือจากวัดราชนัดดารามมาตึกดิน บางครั้งลงจากสามล้อแล้วไม่ให้เงิน หายเข้าไปในบ้านหลังนี้ บางครั้งนั่งมาแล้วหายไปเฉย ๆ ก่อนถึงปลายทางยังมี กลายเป็นที่เล่าขานกันของสามล้อย่านนั้น
คนโบราณมักถือว่าเสาหรือไม้ตกน้ำมันในบ้านเป็นสิ่งอัปมงคล ควรรื้อไปถวายวัด และต่อให้กองกันอยู่ในวัดเฉย ๆ เป็นเวลานานก็ไม่หาย เพราะไม่มีคนเอา ไม่มีใครกล้าเอาเข้าบ้าน อย่างไรก็ตาม หากบ้านไหนมีเสาตกน้ำมันแล้วเจ้าบ้านประพฤติดีประพฤติชอบ จะอยู่เย็นเป็นสุข อย่างบ้านของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะท่านกล่าวเองว่าไม่เคยเกิดภัยร้ายใด ๆ กับท่านในบ้านดังกล่าวเลย
“ผีนางไม้” ที่สถิตอยู่บ้านของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงน่าจะเป็นผีให้คุณ อย่างที่ท่านเล่าไว้นั่นเอง เอวัง…
อ่านเพิ่มเติม :
- กลางคืนกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 น่ากลัว วังเวง และมีคนทำผีหลอก
- เมื่อรัชกาลที่ 6 มีพระราชดำรัสเล่าประสบการณ์ “เจอผี”
- ตำนานความเฮี้ยน ท้าวหิรัญพนาสูร “ผีทรงเลี้ยง” ในรัชกาลที่ 6
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ตุลาคม 2567