“ปลาหลีกระโดดประตูมังกร” คำสอนเรื่องความพยายามเหนือจินตนาการแบบจีน

ปลาหลีกระโดดประตูมังกร
ภาพ "ปลาหลีกระโดดประตูมังกร" ที่ด้านหน้าของโต๊ะในโรงเจเขากลางทุ่ง นครสวรรค์ (ภาพ วิภา จิรภาไพศาล)

“ปลาหลีกระโดดประตูมังกร” หรือ “หลีฮื้อเทียวเล้งมึ้ง (鲤鱼跳龙门)” ในภาษาแต้จิ๋ว เป็นคำสอนเรื่องความพยายามของจีน หากเทียบเคียงในภาษาไทยก็น่าจะเป็นสำนวนที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

ที่มาจากปัญหาน้ำท่วม

ขอเริ่มจากอธิบายความหมายแต่ละคำกันก่อน หลีฮื้อ-ปลาคาร์พ, เทียว-กระโดด (ข้าม), เล้งมึ้ง-ประตูมังกร (แค่การเปรียบเทียบ ที่จริงคือประตูระบายน้ำ) ฟังดูก็แค่นั้นธรรมดา ไม่เห็นเกี่ยวข้องกับความพยายามตรงไหน

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ถ้ากระโดดข้าม “ประตูมังกร” ไปได้ “ปลาคาร์พ” นักสู้ตัวนั้นจะข้ามขั้น, ข้ามสายพันธุ์ ไปเป็น “มังกร”

เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยบรรพกาลของจีน “อวี่” (禹 แต้จิ๋วว่า “อู๊”) เป็นผู้นำซึ่งรับหน้าที่แก้ปัญหาแม่น้ำเหลืองและแม่น้ำแยงซีที่มักเอ่อล้นตลิ่ง ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชน

อวี่ใช้เวลา 13 ปีทุ่มกับงานไม่ว่า ขุดลอกคูคลอง เจาะภูเขาเป็นประตูน้ำ เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะล ฯลฯ แม้เดินทางผ่านบ้านตัวเองก็ไม่แวะเยี่ยมครอบครัวในเวลางาน จนในที่สุดก็ช่วยผู้คนให้รอดพ้นจากปัญหา “น้ำท่วม” ซ้ำซาก ได้รับการยกย่องว่า “ต้าอวี่-อวี่ผู้ยิ่งใหญ่”

“ปลา” กลายเป็น “มังกร” !?! 

แต่ปัญหากลับมาตกกับปลา เพราะระบบชลประทานของอวี่ ทำให้เส้นทางน้ำเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม, กระแสน้ำเชี่ยวกราก ฯลฯ ทำให้ปลาหลีไม่สามารถว่ายกลับต้นน้ำอันเป็นบ้านเกิดได้ พวกมันจึงพากันรวมตัวประท้วง

หลังการเจรจาก็หาทางออกร่วมกันได้ ต้าอวี่รับปากจะไปทูลขอพรจากเง็กเซียนฮ่องเต้ (เทพเจ้าชั้นสูงของจีน) ว่า “ถ้าปลาตัวใดสามารถกระโดดข้ามประตูน้ำไปได้ ก็จะกลายร่างเป็นมังกร” อันเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า “ปลาหลีกระโดดประตูมังกร”

บางส่วนของด้านในบานประตูกลาง ของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เขียนรูป “ปลาหลีกระโดดข้ามประตูมังกร” ตัวหนังสือบนซุ้มมประตูจีน (ในวงรีสีแดง) เขียนอักษรจีนตัวเต็มว่า 門禹 -ประตูอวี่ แทน 門龍 -ประตูมังกร (ภาพจาก เพจพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ)

“ประตูมังกร” บ้างเรียก “ประตูอวี่” ก็คือ “ประตูระบายน้ำ” ที่ต้าอวี่สร้างขึ้น สำหรับปลาหลีมันก็เป็นเสมือนด่านเคราะห์พิสูจน์ความพยายามและฝีมือ ต้องกระโดดกี่ครั้งไม่รู้ แต่ถ้ากระโดดข้ามได้ก็จะเป็น “มังกร” สัตว์มงคลตามคติจีน

คำสอนนี้อยู่ที่ไหน

“ปลาหลีกระโดดประตูมังกร” เห็นได้ทั่วไปในศาสนสถานของจีนเกือบทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็น วัดจีน, โรงเจ, ศาลเจ้าจีน, ศาลประจำตระกูลแซ่ ฯลฯ เพียงแต่มันไม่ได้เขียนเป็นตัวอักษร หากวาดเป็นภาพเขียน

ภาพดังกล่าวมักประดับอยู่ที่ “ด้านหน้า” ของโต๊ะที่ตั้งเครื่องไหว้, ตั้งกระถางธูป โดยทั่วไปจะประกอบด้วยมังกร 2 ตัวอยู่ด้านซ้ายและขวา ตรงกลางของภาพมีซุ้มประตูจีน ใต้ซุ้มประตูมีปลาหลี 1 ตัว อยู่เหนือเกลียวคลื่นของแม่น้ำเหลือง หรือแม่น้ำแยงซี

ขณะที่นั่งลงกราบไหว้เจ้าในศาล พอเงยหน้าขึ้นก็จะเห็น ภาพปลาหลีพยามกระโดดข้ามประตูมังกร อยู่ตรงหน้าพอดี เสมือนกับสถานที่นั้นๆ อวยพรให้ผู้คนที่มาเยือน ยิ่งใครที่ไปไหว้เจ้าเมื่อมีเรื่องทุกข์ใจก็คงน่าจะมีแรงฮึดสู้ขึ้นมา

แต่ปัญหาคือ หนึ่งบางคนอ่านความหมายของภาพอวยพรไม่ออก หนึ่งคือไม่รู้ว่าปลาหลีกระโดดข้ามประตูอยู่นานแค่ไหนกว่าจะสำเร็จได้เป็นมังกร

ภาพ “ปลาหลีกระโดดประตูมังกร” ที่ด้านหน้าของโต๊ะในโรงเจเขากลางทุ่ง นครสวรรค์ (ภาพ วิภา จิรภาไพศาล)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หลี่เฉวียน เขียน, เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย แปล. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ, สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2556.

เสี่ยวจิว. ตัวตน คน ‘แต้จิ๋ว’, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2554.

Wang Lijiao. การศึกษาเปรียบเทียบตำนานการกำเนิดและประเพณีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพญานาคของไทยและมังกรของจีน, วิทยานิพนธ์หลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2555.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2567.