ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สงสัยกันไหม กีฬาพื้นเมืองอย่าง “ตะกร้อ” มาจากไหน ของไทยแท้หรือไม่ และหลักฐานการเล่นตะกร้อของคนไทยมีเมื่อใด
ส.พลายน้อย เล่าไว้ในหนังสือ “เกร็ดโบราณคดี ประเพณีไทย” อย่างน่าสนใจว่า “ไม่รู้ใครเริ่ม แต่หลายคนเชื่อว่าไทยเอาอย่างมาจากพม่าเมื่อครั้งเสียกรุงฯ พ.ศ. 2310”
ส.พลายน้อยให้ทัศนะไว้ด้วยว่า เอาเข้าจริงตะกร้อตำรับค่ายโพธิ์สามต้นที่เชื่อว่าไทยรับจากพม่านั้น เป็น “ตะกร้อวง” ไม่ใช่ “เซปักตะกร้อ” แบบที่แข่งในสนามและแพร่หลายอย่างทุกวันนี้
ที่สำคัญคือ สมมติฐานข้างต้นถูกข้อเท็จจริงใหม่แย้งไปนานแล้ว และแย้งอย่างน่าเชื่อถือด้วย เพราะมีกฎหมายโบราณของไทยที่เล่าถึงการลงโทษคนผิดโดยจับใส่ตะกร้อหวายแล้วให้ “ช้าง” เตะ
แล้วทำไมคนไทยจะสานตะกร้อเป็นลูกเล็ก ๆ ให้ “คน” เตะไม่ได้?

อีกหลักฐานอยู่ในวรรณคดีเรื่อง อิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ได้กล่าวถึงเหล่าเสนาอำมาตย์ที่ตามเสด็จว่า หากว่างก็จะพากันตั้งวงเตะตะกร้อในลานวัด ดังว่า
“บ้างตั้งวงลงเตะตะกร้อเล่น เพลาเย็นแดดร่มลมสงัด
ปะเตะโต้คู่กันสันทัด บ้างถนัดเข่าเดาะเป็นน่าดู”
ถัดมาเป็นหลักฐานใน จดหมายเหตุโหร ปีระกา จ.ศ. 1151 (พ.ศ. 2332) สมัยรัชกาลที่ 1 กล่าวถึงการเล่นตะกร้อ ไม้หึ่ง ไม้จ่า กันเอิกเกริก
หรือถ้าจะครหาว่า ที่ว่ามาก็ยังไม่เก่าไปกว่าเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2310) อยู่ดี ต้องบอกว่า ที่เก่ากว่าก็มี คือย้อนไปไกลถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามที่ บาทหลวง เดอ แบส ได้เขียนบันทึกจดหมายเหตุบอกเล่าสภาพสังคมในอยุธยา มีตอนหนึ่งระบุว่า “พวกมลายูหมู่หนึ่งเล่นตะกร้อ”
โดยทั่วไปแล้วลูกตะกร้อมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือสานด้วยหวาย ส่วนอีกแบบทำจากหนัง ปักด้วยพู่ขนไก่ ซึ่งทางมลายูและภาคใต้ของไทยแถว ๆ จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี ก็นิยมทำลูกตะกร้อจากหนังวัวหนังควายแล้วผูกขนไก่ตัวผู้ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นหวายตะคร้า ซึ่งเบากว่าหวายของคนไทยภาคกลาง
แม้เราจะไม่รู้ว่าลูกตะกร้อที่แขกมลายูในบันทึกของเดอ แบส ทำจากหนังหรือหวาย อีกทั้งพวกเขาก็ไม่ใช่คนสยาม แต่นั่นก็เป็นหลักฐานว่า ในกรุงเก่ามีการละเล่นตะกร้อกันแล้ว (โว้ย)
แต่สิ่งนี้เพียงพอหรือยังที่จะบอกว่า “ตะกร้อนั้นไซร้คือไทยแท้” คำตอบคือ “ไม่”
อย่างที่ ส.พลายน้อย ว่าไว้นั่นแหละ “…ไม่รู้ใครริเริ่ม…”

ทีนี้ลองมาดูชื่อเรียกของตะกร้อในท้องถิ่นหรือแต่ละชาติกันบ้าง ในภาษาไทยแถบพายัพ เรียกตะกร้อว่า มะต้อตา ภาษาปักษ์ใต้เรียก ร่อ ภาษาพม่าเรียกว่า ชินลอง หรือชินลง และฟิลิปปินส์เรียกว่า ซีปัก (Sipak)
ด้านพงศาวดารจีนเรื่องซุยถัง เรียกว่า ทาก้อ หรือเตกโก (T’ek K’au) และเกาหลีซึ่งทำลูกตะกร้อด้วยขี้เถ้าห่อผ้าสำลีแล้วปักหางไก่ฟ้าก็ดูเหมือนจะใช้ชื่อนี้ แต่ปัจจุบันแทบไม่เล่นกันแล้ว
ส่วนมาเลเซียซึ่งภูมิใจว่าตะกร้อเป็นกีฬาประจำชาติของตน เรียกกีฬานี้ว่า เซปัก รากา (Sepak Raga)
ถึงตรงนี้คงพอจะเห็นเค้าเงื่อนบางอย่าง นั่นคือที่มาของชื่อ “เซปักตะกร้อ” โดยเฉพาะคำว่า Sepak ในภาษามลายูแปลว่า “เตะ” กับ ทาก้อ ในเอกสารจีน นี่อาจเป็นที่มาของชื่อกีฬานี้ที่เราเรียกกันคุ้นหู
ปัจจุบันตะกร้อหวายมีเล่นแพร่หลายในไทย พม่า กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงชาวไดยักบนเกาะบอร์เนียว
ดังนั้น ต่อให้มองด้วยความชาตินิยม แต่คงต้องทำใจยอมรับว่า “ตะกร้อ” หรือเซปักตะกร้อ ไม่ใช่ไทยแท้ และไม่ใช่กีฬาของชาติใดชาติหนึ่งด้วย แต่เป็นนวัตกรรมร่วมกันของชาวอุษาคเนย์
แค่เอาวัสดุในท้องถิ่นมาทำเป็นลูกกลม ๆ แล้วผลัดกันเตะ-เดาะไปมา นานวันเข้าบัญญัติกติกาการเล่นร่วมกัน ที่ไหนก็คิดได้ ไม่เห็นต้องแย่งกัน “เคลม” ให้วุ่นวาย
อ่านเพิ่มเติม :
- “Slap Kabaddi” กีฬาพื้นบ้านปากีสถาน ตบกันไม่ยั้งแค่ไหนก็ได้ แต่ห้ามต่อย!
- เกม “ลูกบอล” ยุคโบราณคือเกมกีฬาแห่งความรุนแรง ที่ (บางครั้ง) ผู้แพ้ “ต้องตาย”
- การเมืองเรื่องชักว่าว ดูว่าวพนันสมัยร.5 ทำไมชนชั้นนำเล่นพนันขณะที่ทั่วเมืองโดนกวาดล้าง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กองบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม. ‘ตะกร้อใคร หรือไทยแท้’. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม พ.ศ. 2541.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2567