การเมืองเรื่องชักว่าว ดูว่าวพนันสมัยร.5 ทำไมชนชั้นนำเล่นพนันขณะที่ทั่วเมืองโดนกวาดล้าง?

(ซ้าย) การจัดแข่งขันว่าว ณ ท้องสนามหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 (ขวา) พระภิรมย์ภักดี (ชม เศรษฐบุตร)

บทนำ

การเล่นว่าวอยู่คู่กับดินแดนอุษาคเนย์มาแต่ครั้งอดีต แม้หลักฐานกล่าวถึงการเล่นว่าวแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษรจะสามารถสืบย้อนไปได้เพียงสมัยสุโขทัยก็ตาม แต่กิจกรรมชนิดนี้น่าจะมีมาก่อนหน้านั้น ดังที่หลักฐานจากแหล่งอื่นๆ บ่งบอกว่าชาวสยามชอบชักว่าวมานานแล้ว ไม่ว่าไพร่หรือเจ้าต่างก็นิยมชักว่าวไม่น้อยหน้าไปกว่ากันเลย

แต่เดิม การเล่นว่าวน่าจะเป็นกิจกรรมของชาวบ้านที่เล่นกันอยู่ทั่วไปในแดนสยามและดินแดนอื่นๆ ในอุษาคเนย์ [1] เมื่อฤดูว่าวมาถึง [2] ชาวบ้านจะพากันเล่นว่าวเพื่อความเพลิดเพลิน ว่าวจึงเป็นทั้งการละเล่นและกิจกรรมชนิดหนึ่งเพื่อพักผ่อนหย่อนใจจากการทำเกษตรกรรม รวมเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อให้พืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์ด้วย

Advertisement

ต่อมาเมื่อการเล่นว่าวแพร่เข้าไปอยู่ในรั้วในวัง ก็ค่อยๆ ถูกทำให้ซับซ้อน และถูกเชื่อมโยงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมราชสำนักอันมีความศักดิ์สิทธิ์เหนือกว่าความเพลิดเพลิน จากการละเล่นที่เริ่มต้นและแพร่หลายกันทั่วไปในหมู่ชาวบ้าน การเล่นว่าวจึงถูกรับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชนชั้นปกครอง

เมื่อล่วงเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ ความศักดิ์สิทธิ์ของการเล่นว่าวดูจะลดลงไป เนื่องจากการเล่นว่าวกลายเป็นการพนันชนิดหนึ่งที่ชนชั้นนำไทยเล่นกันอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสนามว่าวพนันสวนดุสิตขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 การเล่นว่าวถูกให้ความหมายอีกครั้งหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงในวิธีการให้ความหมายที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงบริบทของสังคมไทยในช่วงเวลาดังกล่าวได้

เพราะการเล่นว่าวมิได้เสื่อมความนิยมลงเลยในหมู่ชาวไทย หลักฐานทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือภาพวาดบนผนังอุโบสถวัด ล้วนปรากฏเรื่องของการเล่นว่าวอยู่เนืองๆ ผู้เขียนจึงเห็นว่าการพยายามสำรวจตรวจสอบกิจกรรมชนิดนี้อาจจะสามารถแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทยบางประการที่อาจซุกซ่อนอยู่กับลมว่าวหรือสายป่าน ในประวัติศาสตร์ไทยช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ก็เป็นได้

ว่าวในประวัติศาสตร์ไทย

ก่อนที่จะกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของการเล่นว่าวที่เกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์หากจะกล่าวถึงการเล่นว่าวในช่วงก่อนหน้าสักเล็กน้อย

จากการตรวจสอบข้อมูลประวัติศาสตร์ของการเล่นว่าวในประเทศไทยทั้งในหนังสือและในอินเตอร์เน็ต พอจะเห็นได้โดยสังเขปว่า มีบันทึกเกี่ยวกับการเล่นว่าวอยู่อย่างกระจัดกระจายอยู่แทบทุกยุคทุกสมัย ในช่วงก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ บันทึกเกี่ยวกับการเล่นว่าวมักจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมของราชสำนักหรือเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ตัวอย่างเช่น พงศาวดารเหนือ [3] ทวาทศมาสโคลงดั้นต้นยุคกรุงศรีอยุธยา ตำราพระราชพิธีเก่า กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกของเจ้าฟ้ากุ้ง พงศาวดารเมืองละแวก [4] รวมทั้งยังมีบันทึกอยู่ในจดหมายเหตุลาลูแบร์

การชักว่าวที่เป็นส่วนประกอบของพิธีกรรมนั้นส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรม ซึ่งหมายความว่าการชักว่าวขึ้นมิได้เป็นเพียงเพื่อความศักดิ์สิทธิ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ว่าวยังมีหน้าที่อันสำคัญ คือเป็นเครื่องวัดลมในเดือนอ้ายและเดือนยี่ ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวที่จะมาถึงหลังจากฤดูฝนในเดือนสิบเอ็ดและเดือน 12 การชักว่าวขึ้นนั้นก็เพื่อจะได้สามารถสังเกตความแรงของลม ว่าจะพัดน้ำลดลงเร็วแค่ไหน และจะส่งผลให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าฤดูเก็บเกี่ยวจะมาถึงเร็วหรือช้า ข้อสังเกตของลาลูแบร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์สะท้อนความจำเป็นของว่าวได้เป็นอย่างดี โดยได้บันทึกเอาไว้ว่า ว่าวของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามปรากฏให้เห็นในท้องฟ้าทุกคืนตลอดระยะเวลาสองเดือนของฤดูหนาว และทรงแต่งตั้งขุนนางให้คอยผลัดเปลี่ยนเวรถือสายป่านไว้ [5]

การที่การชักว่าวมีความสำคัญในช่วงดังกล่าว น่าจะเป็นเพราะว่าการค้าข้าวในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีการขยายตัวมาก จึงต้องอาศัยความแม่นยำในการดูฤดูเก็บเกี่ยว เป็นที่น่าสันนิษฐานว่ากฎหมายเก่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งห้ามการเล่นว่าวข้ามพระราชวัง หากละเมิดมีโทษถึงตัดมือ [6] นั้น นอกจากเพื่อป้องกันการลบหลู่และความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างในวังแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเพราะต้องการป้องกันไม่ให้ว่าวของชาวบ้านไปทำให้เกิดความสับสนกับว่าวในวังที่กำลังทำหน้าที่สำคัญ คือเป็นเครื่องวัดลมอยู่ก็เป็นได้

ว่าวพนันในสมัยรัตนโกสินทร์

เมื่อล่วงเข้าสมัยรัตนโกสินทร์ หลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการชักว่าวในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ได้ลดลงไป ขณะที่หลักฐานส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นภาพของการชักว่าวในฐานะที่เป็นการละเล่นเพื่อความเพลิดเพลินดังที่เคยเป็นมาแต่ต้น [7] การชักว่าวเพื่อความบันเทิงนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงจากเจ้านายสยาม ดังปรากฏในหนังสือตำนานวังหน้าของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ โปรดทรงว่าวมาก [8] ไม่เฉพาะแต่ในหมู่เจ้านาย ประชาชนก็นิยมเล่นว่าวไม่แพ้กัน ดังจะเห็นได้จากประกาศในปี พ.ศ. 2398 ซึ่งมีการจัดที่บริเวณพระบรมมหาราชวังให้คนเล่นว่าว เพียงแต่ห้ามใกล้จนเกินไป เพราะจะก่อให้เกิดความเสียหายกับสิ่งก่อสร้างได้ [9]

อย่างไรก็ตาม ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นและตอนกลาง การเล่นว่าวได้กลายเป็นการพนันอันแพร่หลายด้วย โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำในพระนคร ประมาณช่วงต่อระหว่างปลายรัชกาลที่ 4 และต้นรัชกาลที่ 5 จะเห็นได้ว่ามีสนามว่าวพนันอยู่หลายแห่ง หลักฐานที่ค่อนข้างครอบคลุมเกี่ยวกับการเล่นว่าวพนันในช่วงเวลาดังกล่าวคือ ตำนานว่าวพนัน ตำราผูกว่าว วิธีชักว่าว และการเล่นว่าวต่อสู้กันในอากาศ เขียนโดยพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ในปี พ.ศ. 2464 [10] ในตำราดังกล่าวนอกจากจะบอกถึงวิธีการผูกว่าวแล้ว ยังมีประวัติศาสตร์ของการเล่นว่าวในไทยพอสังเขปด้วย [11]

ข้อมูลสำคัญที่พระยาภิรมย์ภักดีบันทึกเอาไว้ คือบรรยากาศอันคึกคักของการเล่นว่าวพนันระหว่างนักเลงว่าวทั้งหลายในพระนครช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 โดยเล่าย้อนไปตั้งแต่สมัยบิดาของตนเอง พระภิรมย์ภักดี (ชม เศรษฐบุตร) ยังเป็นหนุ่ม ได้ประเดิมเข้าร่วมเล่นว่าวพนัน ณ สนามว่าวหน้าโรงหวย (ประตูสามยอด) ต่อมาย้ายไปที่สะพานเสี้ยวริมพระราชวังบวร จากนั้นตนเองเมื่อยังเด็กก็เข้าร่วมสังเกตการณ์เป็นครั้งแรกที่สนามพนันวัดโคก (ถนนเทพศิรินทร์) ซึ่งถือว่าเป็นสนามว่าวพนันที่เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยมีเล่นติดต่อกันถึง 8 ปี (พ.ศ. 2425-32) [12]

สนามพนันวัดโคกนี่เองเป็นแหล่งรวมของเจ้านายที่พิสมัยการพนันว่าว โดยปรากฏว่าสมาชิกของสนามแห่งนี้ล้วนแต่เป็นผู้มีบรรดาศักดิ์เกือบทั้งสิ้น อาทิ พระยาอนุชิตชาญชัย (พึ่ง สุวรรณทัต) พระยาปุรุราชรังสรรค์ (จุ้ย สุวรรณทัต) พระนายเสมอใจ (จู โชติกะสเถียร) พระยาราชานุประพันธ์ (ทุ้ย บุนนาค) หลวงเลขาวิจารณ์ (ใหญ่ สุวรรณบุณย์) หลวงสารจักร (บรรยง บุญศิริ) พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก จารุจินดา) รวมทั้งพระภิรมย์ภักดีเอง [13]

ถึงแม้ว่าจะมีบุคคลธรรมดาเข้าร่วมด้วยบ้างก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าจะต้องเป็นผู้มีฐานะพอสมควรทีเดียว เพราะการเข้าร่วมสนามว่าวพนันนั้นดูจะใช้เงินอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่ค่าทำว่าวไปจนถึงเงินวางเดิมพัน ดังที่พระยาภิรมย์ภักดีบันทึกไว้ว่า

…ท่านผู้ที่เคยเล่นว่าวพนันมาแล้วย่อมจะทราบได้ดีว่า การใช้จ่ายในการเล่นว่าวคราวหนึ่งไม่ใช่น้อย ผู้เล่นย่อมขาดทุนแทบทุกคน ถึงแม้บาญชีรายพนันเดิมพันจะปรากฏว่าได้กำไรอยู่บ้างก็ดี ก็ไม่ใคร่พอโสหุ้ยค่าว่าวค่าป่านยานพาหนะกับแจกจ่ายลูกน้อง…เมื่อท่านผู้ใดประสงค์จะเล่นว่าวพนันกับเขา ก็ต้องลงทุนซื้อป่านสร้างว่าวเสียชั้นหนึ่ง ถ้าผู้เล่นทำว่าวเองไม่เปน ก็ต้องจ้างหรือซื้อเขาเปนเบื้องต้น วันจะไปเข้าสนามเล่าก็ต้องมีลูกน้องหลายคนถือว่าวถือป่าน กับต้องจ่ายยานพาหนะ เมื่อหมดเวลาเล่นวันหนึ่งๆ ก็ต้องแจกสตางค์ค่าเหนื่อยแม้จะได้มีลมเล่นหรือไม่ก็ตาม หรือจะแพ้ชะนะได้เสียไม่เข้าใจด้วย… [14]

ในแง่นี้ การเล่นว่าวพนันจึงไม่ได้เป็นกิจกรรมสำหรับราษฎรทั่วไปเป็นแน่ สนามว่าวพนันเป็นการรวมตัวทำกิจกรรมในเวลาว่างของผู้ดีและผู้มีฐานะในพระนคร ในขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงถึงเส้นที่ขีดแบ่งระหว่างผู้ที่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันว่าวพนันกลุ่มหนึ่ง และกลุ่มคนที่ไปนั่งดูอีกกลุ่มหนึ่ง ลักษณะดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศการใช้เวลาว่างของชาวพระนครแล้ว ที่สำคัญกว่านั้นคือสนามว่าวพนันเป็นการให้ความหมายใหม่ต่อการเล่นว่าว ด้วยการเชื่อมโยงกลุ่มชนชั้นนำซึ่งมีวิถีปฏิบัติและรสนิยมเดียวกันมาใช้เวลาว่างร่วมกัน เพื่อให้แยกออกไปจากสนามว่าวของประชาชนที่ไม่ได้มีความซับซ้อน ไม่ได้มีกติกาละเอียด และไม่ได้ใช้เงินมากอย่างสนามว่าวพนันของเจ้านาย

ความข้อนี้เห็นได้จากเมื่อสนามพนันที่วัดโคกได้สร่างซาลง กลุ่มเจ้านายผู้เล่นว่าวพนันก็นัดไปรวมตัวเล่นกันที่สนามวังนอกสระประทุม ซึ่งเป็นสนามที่ตั้งอยู่ห่างออกไป ยากที่ผู้ไม่มีพาหนะส่วนตัวจะเดินทางไปได้ นอกจากนี้สนามว่าวก็อยู่ในความอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ [15] สนามวังนอกสระประทุมนี้จัดขึ้นเพื่อเหล่าเจ้านายโดยแท้

อย่างไรก็ตาม สภาพของกรุงเทพฯ ในช่วงครึ่งหลังของรัชสมัยรัชกาลที่ 5 กลับไม่ได้ทำให้ชนชั้นนำสามารถแยกตนเองออกไปได้ง่ายนัก การขยายตัวของเมือง บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง และประชากร ทำให้จำนวนสนามว่าวพนันลดลงและต้องย้ายบ่อยครั้งขึ้น [16] จนในที่สุดก็หนีไม่พ้นจะต้องเล่นว่าวพนันในพื้นที่สาธารณะที่มีประชาชนทั่วไปเล่นอยู่เป็นปกติ ส่งผลให้เกิดความอึดอัดในความแตกต่างทางรสนิยม (หรือความไร้รสนิยมตามสายตาของชนชั้นนำ) ของราษฎร

การจัดแข่งขันว่าว ณ ท้องสนามหลวงสมัยรัชกาลที่ 5

ว่าวพนันที่สนามวัดดอนเป็นตัวอย่าง 

…[หลังจากสนามวังนอกสระประทุมเลิกไปแล้ว] ผู้ที่ยังชอบว่าวพากันมาประชุมเล่นที่สนามวัดดอน บ้านทวาย ในสนามนี้ชั้นต้นก็ดูครึกครื้นดี เพราะเปนทำเลเหมาะมีผู้นำว่าวไปเล่นมากสาย แต่ครั้นเล่นกันไปได้หน่อยหนึ่ง เกิดมีพวกพาลชนมากขึ้น นายสนามก็อ่อนแอไม่แข็งแรง ตกเวลาเย็นเปนเมาแอ๋กันแทบเต็มทุ่ง เปนที่น่าหวาดเสียวแลรังเกียจของผู้เล่นว่าวเปนอย่างยิ่ง ผู้นำว่าวไปเล่นจึงน้อยลงไปทุกวันจนต้องเลิกนัดเล่นว่าวกัน…[17]

พื้นที่สาธารณะที่นำให้กลุ่มชนชั้นนำมาพบเจอกับเหล่าประชาชนเช่นนี้ ไม่ได้มีเพียงสนามว่าวสาธารณะเท่านั้น หากยังมีพื้นที่อื่นๆ อีก งานของสกอต บาร์เม ได้กล่าวถึงโรงภาพยนตร์ว่าเป็นพื้นที่ (ทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงนามธรรม) สำคัญอีกแห่งหนึ่งซึ่งทำให้เจ้านาย (รวมทั้งชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาที่เพิ่มจำนวนขึ้นในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 25) และราษฎรมามีปฏิสัมพันธ์กัน ส่งผลให้ฝ่ายแรกอดรนทนไม่ไหวที่จะเขียนไปแสดงทรรศนะในนิตยสารต่างๆ ถึงบรรยากาศการชมภาพยนตร์ที่เลวร้าย เช่น กลิ่นตัวเหม็นสาบของผู้เข้าชมภาพยนตร์คนอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้เขียนตอบโต้ว่าแท้จริงนั้นกลิ่นเหม็นมาจากพวกที่พรมน้ำหอมจนฉุนที่เข้าไปชมภาพยนตร์มากกว่า [18]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงเป็นองค์ประธานการแข่งขันว่าวชิงถ้วยทองพระราชทาน

สนามว่าวพนันสวนดุสิตกับการเมืองปลายรัชกาลที่ 5

ปี พ.ศ. 2440 เป็นต้นมา การเล่นว่าวได้เข้าสู่ยุคทอง โดยสนามหลวงได้กลายเป็นสถานที่ชักว่าวที่ได้รับความนิยมสูงสุดในพระนคร ถึงมีประกาศกระทรวงนครบาลในการห้ามไม่ให้ชักว่าวริมพระบรมหาราชวังทีเดียว [19] อาจจะไม่เป็นการกล่าวจนเกินเลยไปว่า ว่าวเป็นการละเล่นที่มีคนสนใจมากที่สุดในช่วงเวลานั้น โดยได้รับความนิยมติดต่อกันหลายปี พระยาภิรมย์ภักดี (ผู้ซึ่งก็กลายเป็นนักเลงว่าวแถวหน้าเป็นที่เรียบร้อย) ได้กล่าวถึงบรรยากาศการเล่นว่าวในช่วงเวลาดังกล่าวว่า

…คนดูว่าวพนันพากันมาดูมากขึ้นแทบเต็มท้องสนามหลวงทุกวัน ได้เล่นว่าวพนันในสนามนี้มาอีกหลายปี กำแพงวังน่าจึงรื้อลงทำสนามหลวงเปนพื้นเดียวกัน เพิ่มความกว้างขวางและสดวก…ขึ้นอีกมาก เมื่อถึงฤดูว่าวพนัน ก็มีผู้นำว่าวไปเล่นแข่งขันกันมากขึ้น รวมทั้งผู้ฝึกหัดเล่นขึ้นใหม่อีกก็หลายนาย…คนดูว่าวพนันคราวนี้ไม่ใช่มีแต่ผู้ชายฝ่ายเดียว ทั้งผู้หญิงสาวแก่เด็กเล็ก พระสงฆ์สามเณรตลอดจนชาวต่างประเทศแลท่านผู้ดีชั้นสูง กับเจ้านายบางองค์ก็เสด็จ แลมายืนดูแทบล้นสนามหลวงทุกวัน…งานอะไรนอกจากงานหลวงแล้ว จะมีคนมาประชุมมากเหมือนมาดูว่าวพนันนี้ยากที่จะเคยเห็น… [20]

อย่างไรก็ดี ควรเป็นที่เข้าใจได้ว่าแม้จากข้อความดังกล่าวจะดูเหมือนว่าว่าวพนันไม่ได้เป็นกิจกรรมที่ผูกขาดอยู่แต่ชนชั้นนำอีกต่อไป แต่อันที่จริงผู้ที่เข้าร่วมพนันก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิม หากแต่มีคนดูเพิ่มขึ้นมากกว่าครั้งใดๆ เท่านั้น

กระทั่งถึงฤดูว่าวใน พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ผ่านท้องสนามหลวงและพบว่าว่าวกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากเช่นนั้น จึงโปรดให้เหล่านักเลงว่าวเข้าไปเล่นเสดงที่หน้าพระที่นั่งบริเวณสนามพระราชวังสวนดุสิต กอปรกับเป็นโอกาสงานสมโภชในการตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอองค์หนึ่ง จึงโปรดจะให้มีการให้เล่นว่าวฉลอง [21]

จากนั้น ว่าวพนันสนามสวนดุสิต ได้กลายเป็นเวทีประลองฝีมือของเหล่านักเลงว่าวครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา มีการจัดประลองไปแทบทุกปีจนกระทั่งสิ้นรัชกาล และทำให้การชักว่าวและดูว่าวได้รับความนิยมจากเจ้านายชั้นสูงเป็นอย่างมาก [22] เรียกได้ว่าเป็นสนามว่าวเฉพาะกิจของเจ้านายเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญเมื่อเราลองพิจารณาบริบทของสยามในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 คือ ในขณะที่รัฐกำลังมีนโยบายหลักในการยกเลิกบ่อนเบี้ย และลดการพนันลงอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ เหตุใดจึงให้เกิดมีการพนัน (ที่ผู้ปกครองเห็นว่าเป็นสิ่งเลวร้าย) ขึ้นที่จุดศูนย์กลางของอำนาจ คือหน้าพระที่นั่งเสียเอง?

ในระหว่าง พ.ศ. 2430-60 เป็นช่วงที่รัฐดำเนินนโยบายยกเลิกบ่อนเบี้ยทั่วประเทศ อันเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานและมีปัญหามากมาย โดยเฉพาะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2441 เป็นช่วงเวลาที่การยกเลิกบ่อนเบี้ยเป็นไปอย่างเข้มข้นที่สุด มีการยกเลิกบ่อนเบี้ยทั้งหมดในมณฑลนครศรีธรรมราช ชุมพร และบ่อนเบี้ยอีก 46 แห่งทั่วราชอาณาจักร และกระทั่งปี พ.ศ. 2446 เพียง 2 ปีก่อนหน้าจะมีการจัดสนามว่าวพนันสวนดุสิตครั้งแรก ก็ยกเลิกอีก 76 แห่ง [23]

เหตุใดชนชั้นนำจึงมาเล่นพนันกันเสียเอง ในขณะที่กวาดล้างการพนันอยู่ทั่วประเทศเล่า?

ผู้เขียนทดลองเสนอว่า เราอาจทำความเข้าใจว่าวพนันสนามสวนดุสิต ว่าเป็นกิจกรรมที่ชนชั้นนำไม่ได้มองว่าเป็น การพนัน ในความหมายเดิมอีกต่อไป ว่าวพนันในสนามนี้มีความแตกต่างจากสนามว่าวอื่นๆ อยู่อย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก ว่าวพนันสนามสวนดุสิตไม่ได้เป็นเพียงเวทีประลองฝีมือเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการแสดง (performance) สำหรับการชมเพื่อความเพลิดเพลินเป็นหลัก (ของในหลวง เจ้านายชั้นสูง และราษฎรที่มาชมกันอย่างคับคั่ง) ด้วย ทั้งนี้เห็นได้จากการที่โปรดเกล้าฯ ให้มีแตรวงของทหารแลพิณพาทย์บรรเลงเพลงต่างๆ เมื่อกำลังเล่นว่าวกันด้วย เมื่อปักเป้าตาย จุลาวิ่งรอกพาไปกินได้ พิณพาทย์ก็ทำเพลงเหาะ กับทำเพลงโอดเมื่อขณะว่าวจุลาเข้าเหนียงหรือประกบปักเป้าหมุนจนตกลงดิน [24] ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนที่อื่น เมื่อจบวันหนึ่งๆ ก็จะมีพระราชทานเลี้ยงอาหาร บางครั้งทรงแจกบุหรี่รอดไชล์ [25]

ประการที่ 2 มีการเขียนกฎกติกาโดยละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนและพิมพ์แจกจ่าย มีการแต่งตั้งกรรมการ (นายสนาม) เป็นผู้ตรวจผู้เข้าร่วมแข่งขันให้ถูกต้องตามข้อบังคับ มีการจดทะเบียนว่าว กำหนดเขตสนาม เวลาเล่น ข้อห้าม วิธีการนับแต้ม ฯลฯ เพื่อเป็นมาตรฐานในการเล่นว่าวครั้งต่อๆ ไป ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นผู้ร่างกฎนี้ด้วยพระองค์เองก่อนจะทูลเกล้าฯ เพื่อให้เป็นแบบฉบับเฉพาะของสนาม เรียกว่า กฤติกาเล่นว่าว ที่สนามหลวงสวนดุสิต รัตนโกสินทรศก 125 [26]

ประการที่ 3 รางวัลของสนามว่าวพนันนี้คือ ถ้วยทองพระราชทาน โดยผู้เข้าแข่งขันต้องสะสมแต้มตลอดฤดูกาลว่าว ผู้ที่ได้แต้มสูงสุดเมื่อจบฤดูกาลจะได้ถ้วยไปครอง ผู้ได้คะแนนรองๆ ลงมาก็จะได้ผ้าห้อยว่าวและดอกจันทน์พระราชทาน [27] นอกจากนี้เมื่อแข่งว่าวจบในแต่ละวัน ผู้ทำแต้มสูงสุดก็จะได้รับพระราชทานพวงมาลัย [28] ความนิยมดูว่าวระหว่างเจ้านายมีมากกระทั่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ จัดให้นัดเล่นชิงถ้วยเงินอีกถ้วยหนึ่งด้วย ว่าวพนันสนามนี้เป็นการแข่งขันเพื่อชิงรางวัลที่กำหนดเอาไว้ ไม่ได้เล่นพนันเอาเงินเดิมพันเป็นหลักอีกต่อไป [29]

สนามว่าวพนันสวนดุสิตนี้เป็นการเปลี่ยนความหมายให้การเล่นว่าวพนันระหว่างเจ้านายเปลี่ยนจากการเป็นการพนัน (gambling) ชนิดหนึ่งให้กลายเป็นกีฬา (sport) ซึ่งมีการแข่งขันอย่างเป็นระบบ โดยเป็นความพยายามสร้างความหมายพฤติกรรมของชนชั้นนำแบบใหม่ ในช่วงเวลาที่การพนันคือสิ่งที่รัฐกำลังปราบปรามกวดขัน ทั้งๆ ที่ไม่ว่าเจ้านายหรือราษฎรต่างก็เป็นนักพนันไม่น้อยหน้าไปกว่ากันเลย อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ก่อนหน้าจะมีจัดว่าวพนันสนามสวนดุสิตนี้ เหล่าเจ้านายก็เล่นว่าวพนัน (ซึ่งเป็นการพนันโดยไม่ต้องสงสัย) กันอยู่อย่างทั่วไป หากแต่เมื่อจะดึงเอาการพนันที่ได้รับความนิยมสูงสุดเข้าไปที่หน้าพระที่นั่ง จำต้องมีการเปลี่ยนรายละเอียดของการเล่นว่าวพนันให้ไม่เป็นการพนันอีกต่อไป [30]

ช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เองที่ความคิดเรื่องกีฬา หรือ น้ำใจนักกีฬา [31] เริ่มปรากฏให้เห็นได้ในหมู่ชนชั้นนำไทย ซึ่งเป็นวิธีคิดและวิถีปฏิบัติแบบใหม่ที่เป็นศิวิไลซ์ อย่างยุโรปเช่นเดียวกับการบริโภคและรสนิยมประเภทอื่น [32]

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้หาได้เกิดอย่างฉับพลัน หรือครอบคลุมชนชั้นนำทั้งหมดไม่ การพนันและการกีฬายังอยู่คู่กันไปในสังคมไทย แม้จะไปแยกกันอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อมีการจัดตั้งสมาคมกีฬาสยามขึ้นในปี พ.ศ. 2469 ผู้เขียนยกตัวอย่างสนามว่าวพนันสวนดุสิตขึ้นมาก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเมื่อเจ้านายชั้นสูงรับเอาวัฒนธรรมชนิดหนึ่งเข้าไปปฏิบัติ ทั้งๆ ที่ในขณะเดียวกันก็น่าสันนิษฐานได้ว่า การเล่นว่าวพนันก็ยังคงเล่นกันอยู่ทั่วไปในสนามอื่นๆ และก็ยังคงเล่นกันต่อแม้สนามว่าวสวนดุสิตเลิกลงแล้ว

ผู้เขียนจะส่งท้ายด้วยการเปิดประเด็นที่น่าสนใจหลังจากได้ผ่านการสำรวจตรวจสอบเรื่องว่าวไทยที่มีอยู่อย่างจำกัดสัก 2 ประเด็น ประเด็นแรก เกี่ยวข้องกับชนิดของว่าวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 2 ประเภท คือ ว่าวจุลา และว่าวปักเป้า สิ่งที่น่าสนใจคือว่าวทั้ง 2 ชนิดถูกมองว่าเป็นตัวแทนของเพศ จุลาแทนเพศชายและปักเป้าแทนเพศหญิง ตามตำนานว่าไว้ว่าในสมัยอยุธยามีช่างทำว่าวมือทองชื่อจุลาเข้าทำว่าวถวายพระมหากษัตริย์เพื่อให้ว่าวนั้นดักจับว่าวอื่นๆ ที่หลงเข้ามาในเขตพระราชวัง ส่วนว่าวปักเป้าก็เป็นชื่อพระราชทานแก่หญิงที่ทำว่าวได้สวยงามนามว่าเป้า นอกจากนี้เหล่านักเลงว่าวคงจะทราบว่า ส่วนต่างๆ ของว่าวก็เปรียบดังส่วนต่างๆ ของร่างกายคน สุนทรภู่เองยังได้เคยประพันธ์เทียบว่าวปักเป้าเป็นสตรีเพศเข้าล่อว่าวบุรุษจุลาด้วย [33] หากจะมีการศึกษาว่าวในแง่มุมดังกล่าวก็จะขออนุโมทนา

ประเด็นที่ 2 แม้ประวัติศาสตร์การเล่นว่าวของไทยในตำนานว่าวพนันฯ นั้นจะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนเกี่ยวกับการเล่นว่าวของชนชั้นปกครองทั้งหมดทั้งสิ้น หากไม่มีการบันทึกถึงการเล่นว่าวของชาวบ้านทั่วไปมากนัก ทั้งๆ ที่การเล่นว่าวนั้นเป็นกิจกรรมที่เล่นกันทั่วไปอยู่แล้ว เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือวัฒนธรรมของประชาชนถูกบันทึกเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรน้อย ส่วนใหญ่ก็จะสืบทอดด้วยการบอกเล่ากันรุ่นต่อรุ่นจนมาถึงปัจจุบัน ยังพอมีตัวอย่างที่บ่งบอกถึงการเล่นว่าวตามชุมชนต่างๆ เช่น ชุมชนวัดพระศรีอาริย์ จังหวัดราชบุรี ชุมชนฮูหยงตันหยง จังหวัดนราธิวาส และตำบลชุมเห็ด จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งก็มีเอกลักษณ์ของการทำว่าวต่างกันไป [34]

หากจะมีงานศึกษาประวัติศาสตร์ของว่าวในท้องถิ่นต่างๆ มากขึ้น ก็จะดีอยู่ไม่น้อย เพราะจะได้แสดงให้เห็นว่าว่าวนั้นเป็นการละเล่นของชาวไทยที่มีอยู่ทั่วไป ไม่ได้เล่นอยู่เพียงในรั้วในวังในเขตเมือง หรือระหว่างเจ้านายเท่านั้น

 


เชิงอรรถ :

[1] มีการสันนิษฐานว่าคนจีนนำว่าวเข้ามาในสยาม เพราะจีนประดิษฐ์กระดาษเป็นที่แรก ดู www.sci4fun.com/kite/kite.html, เข้าเมื่อ 12 ธันวาคม 2552

[2] ฤดูว่าวมี 2 ครั้งในแต่ละปี ครั้งหนึ่งในต้นฤดูหนาว คือช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม โดยเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดจากทางเหนือลงใต้ เรียกว่าลมว่าว อีกครั้งหนึ่งประมาณกลางเดือนมีนาคมถึงเมษายน เป็นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากทางใต้ขึ้นเหนือ เรียกลมตะเภาหรือลมเภา ดู http://sci4fun.com/kite/kite.html, เข้าเมื่อ 12 ธันวาคม 2552

[3] บันทึกในพงศาวดารเหนือมีว่า …แลพระยาร่วงขณะนั้นคะนองนัก มักเล่นเบี้ยแลเล่นว่าว… และ …วันหนึ่งพระองค์ทรงว่าวขาดลอยไปถึงเมืองตองอู และพระยาตองอูนั้นเป็นข้าพระยาร่วง พระยาร่วงตามไปถึงเมืองตองอู และได้เสียกับธิดาพระยาตองอู เมื่อได้ว่าวแล้วก็เสด็จกลับ ลูกสาวจึงบอกแก่พระยาตองอูๆ จึงให้ไปตามพระยาร่วงคืนมา ครั้นพระยาร่วงมาถึงเมืองสัชนาไลยแล้วตรัสสั่งเจ้าพสุจิกุมารว่าจะไปอาบน้ำ ถ้าไม่เห็นกลับมาก็ขอให้เป็นพระยาแทนพระองค์ จากนั้นพระองค์ก็ไปอาบน้ำที่กลางแก่งเมือง แล้วอันตรธานหายไป… ดู http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/พงศาวดารเหนือ, เข้าเมื่อ มกราคม 2553

[4] ดูรายละเอียดทั้งหมดได้ใน สุจิตต์ วงษ์เทศ. เดือนอ้าย ขึ้นปีใหม่ไทยสยาม ชักว่าว ขอลม ไล่น้ำ, ใน ประเพณีสิบสองเดือน. ดู http://www.sujitwongthes.com/cms/documents/duan01.pdf, เข้าเมื่อ 12 ธันวาคม 2552

[5] มร. เดอ ลาลูแบร์. จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. สันต์ ท. โกมลบุตร แปล. (กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2548).

[6] สุจิตต์ วงษ์เทศ. เดือนอ้าย ขึ้นปีใหม่ไทยสยาม ชักว่าว ขอลม ไล่น้ำ. น. 6.

[7] ทั้งนี้อาจเพราะว่าวไม่มีประสิทธิภาพเพียงพออีกต่อไปในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีพลวัตในการค้าสูงกว่าสมัยก่อนหน้ามาก จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีชนิดอื่นแทน อย่างไรก็ดี เหตุผลที่ว่าวลดความศักดิ์สิทธิ์ลงในยุครัตนโกสินทร์ก็ควรแก่การสืบค้นต่อไป

[8] ดังคำกล่าว วังหลวงทรงจุฬา วังหน้าทรงปักเป้า ดู สุจิตต์ วงษ์เทศ. เดือนอ้าย ขึ้นปีใหม่ไทยสยาม ชักว่าว ขอลม ไล่น้ำ. น. 3.

[9] Ron Spaulding. Thailandžs Chula and Pakpao Kites. ดู http://www.dancingfrog.net/thailand2002/spaulding.html, เข้าเมื่อ 12 ธันวาคม 2552

[10] พระยาภิรมย์ภักดี. ตำนานว่าวพนัน ตำราผูกว่าว วิธีชักว่าว และการเล่นว่าวต่อสู้กันในอากาศ. (พระนคร : โสภณฯ, 2464).

[11] ผู้เขียนเข้าใจว่า พระยาภิรมย์ภักดีไม่ได้ตั้งใจจะเขียนส่วนที่เป็นประวัติศาสตร์ของการเล่นว่าวมาตั้งแต่ต้น แต่ได้รับคำแนะนำให้เพิ่มเข้าไปโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งในส่วนที่เป็นประวัติศาสตร์การเล่นว่าวของไทย พระยาภิรมย์ภักดีก็ได้นำเอาสำนวนของ มหาเสวกเอก พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) อุปราชมณฑลอยุธยาตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้แนะนำ มาลงเอาไว้ทั้งหมด ดู เรื่องเดียวกัน, น. ฃ และ น. 16-19.

[12] เรื่องเดียวกัน, น. 20-21.

[13] เรื่องเดียวกัน, น. 21.

[14] เรื่องเดียวกัน, น. 67-68.

[15] เรื่องเดียวกัน, น. 24-25.

[16] มีหลายสนามว่าวพนันที่ต้องเลิกเพราะบ้านเรือนหนาแน่นขึ้น อาทิ สนามวัดโคก สนามหัวลำโพง สนามสวนอนันต์ คลองมอญ สนามสะพานหัวตะเฆ่ สนามบางขุนพรหม ฯลฯ ดู พระยาภิรมย์ภักดี. ตำนานว่าวพนัน ตำราผูกว่าว วิธีชักว่าว และการเล่นว่าวต่อสู้กันในอากาศ. น. 21, 25-26.

[17] เรื่องเดียวกัน, น. 25.

[18] Scot Barme, Woman, Man, Bangkok : Love, Sex, and Popular Culture in Thailand. (Bangkok : Silkworm, 2002), pp. 70-73.

[19] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 15 แผ่นที่ 3 17 เมษายน ร.ศ. 117, น. 32.

[20] พระยาภิรมย์ภักดี. ตำนานว่าวพนัน ตำราผูกว่าว วิธีชักว่าว และการเล่นว่าวต่อสู้กันในอากาศ. น. 28-29.

[21] ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์. สยามยุคเก่า. (กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น, 2520), น. 18-19.

[22] นอกจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังมีพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เป็นอาทิ ดู พระยาภิรมย์ภักดี. ตำนานว่าวพนัน ตำราผูกว่าว วิธีชักว่าว และการเล่นว่าวต่อสู้กันในอากาศ. น. 34.

[23] เสถียร ลายลักษณ์. ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม ๑๖. น. 288-291, 475-479. อ้างใน James A. Warren. Gambling, State, and Society in Siam, c. 1880-1945. PhD Thesis, School of Oriental and African Studies, University of London, 2007. (ยังไม่ได้ตีพิมพ์).

[24] พระยาภิรมย์ภักดี. ตำนานว่าวพนัน ตำราผูกว่าว วิธีชักว่าว และการเล่นว่าวต่อสู้กันในอากาศ. น. 33.

[25] เรื่องเดียวกัน, น. 34.

[26] เรื่องเดียวกัน, น. 46-47. และดูฉบับเต็มของข้อบังคับ น. 137-149.

[27] เรื่องเดียวกัน, น. 249.

[28] เรื่องเดียวกัน, น. 43.

[29] เรื่องเดียวกัน, น. 37-38.

[30] พอจะเห็นได้จากที่เมื่อตรวจข้อบังคับของเดิม ก็โปรดให้แก้เนื่องจาก [แม้]…กฎของเก่าเขาก็มีป้องกันโดยละเอียดดีอยู่ แต่ยังไม่ตรงกับความประสงค์ของว่าวสนาม [พนันสวนดุสิต] นี้… ดู เรื่องเดียวกัน, น. 46.

[31] โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เขียนคำนำเรียกว่าวว่าเป็นกีฬาแล้ว ดู เรื่องเดียวกัน, น. ข. นอกจากนี้มีเกร็ดที่พระยาภิรมย์ได้เขียนไว้ในตอนท้ายถึงการมีคนมาจ้างให้ล้มว่าว แต่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ยอม เพราะผู้เล่นเป็นนักกีฬาแท้ ดู น. 126.

[32] ดูกระแสดังกล่าวในหมู่ชนชั้นนำสยามใน Thongchai Winichakul. The Quest for Siwilai : A Geographical Discourse of Civilizational Thinking in the Late Nineteenth and Early Twentieth-Century Siam, in The Journal of Asian Studies, 59 (3), 2000, pp. 528-549. และพฤติกรรมการบริโภคในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 5 ใน Mauricio Peleggi. Lord of Things : the Fashioning of Siamese Monarchys Modern Image. (Honolulu : University of Hawaii Press, 2002). นอกจากนี้งานในสาขาสังคมวิทยาที่พยายามทำความเข้าใจแนวความคิดเรื่องกีฬา (sport) ที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกอย่างเป็นระบบใน Norbert Elias and Eric Dunning. Quest for Excitement : Sport and Leisure in the Civilizing Process. (Oxford : B.Blackwell, 1986).

[33] Ron Spaulding. The Royal Kites of Thailand : Battle of the sexes Staged in Bangkok Skies. ดู http://www.drachen.org/journals/a03/no3-Thailand.pdf ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่าต้นฉบับคำประพันธ์ของสุนทรภู่เป็นเช่นไร แต่ Ron Spaulding แปลเอาไว้ว่า Pakpao has caught her Chula in the air…the Chula tilts and limps to one side barely able to balance…the Pakpao follows suit, she moves closer and closer. The big Chula struggles nearly out of control. The Pakpao takes aim and does not miss. Unable to move he cannot escape…Finally they land and become one โดยไม่ได้อ้างแหล่งที่มา ดู http://www.dancingfrog.net/thailand2002/spaulding.html, เข้าเมื่อ 12 ธันวาคม 2552

[34] เยาวนิศ เต็งไตรรัตน์. ว่าวไทย การละเล่นพื้นบ้านเพื่อความบันเทิงในฤดูร้อน. ดู http://www.culture.go.th/knowledge/study/2551/4/1.html เข้าเมื่อ มกราคม 2553 * บทความนี้เป็นข้อขยายจากบทความก่อนของผู้เขียนที่นำเสนอในเว็บไซต์นิวมันดาลา (http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2009/10/12/chuck-wow-how-the-thai-elite-loved-flying-kites/) และเป็นการอ่านหลักฐานใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทำให้มองเห็นอะไรมากขึ้นและทำให้เกิดการตีความที่ต่างออกไปจากการอ่านหลักฐานครั้งแรกบ้าง อย่างไรก็ดีด้วยอุปสรรคในด้านหลักฐานที่มีอยู่อย่างจำกัดในต่างประเทศ จึงจำต้องละอีกหลายๆ ประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2562