เกม “ลูกบอล” ยุคโบราณคือเกมกีฬาแห่งความรุนแรง ที่ (บางครั้ง) ผู้แพ้ “ต้องตาย”

ภาพการละเล่นด้วยลูกบอลของชาวเมโสอเมริกาโบราณ (ภูมิภาคอเมริกากลางในปัจจุบัน) ภาพโดย Daniel Lobo (Daquella manera)

การแข่งขันที่มี “ลูกบอล” ในการแข่งขันมีอยู่หลายชนิด แต่ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งของโลกคงหนีไม่พ้น “ฟุตบอล” เมื่อประเมินจากทั้งจำนวนผู้เล่นและคนดู โดยฟีฟาประมาณว่าเมื่อก้าวถึงศตวรรษที่ 21 มีผู้เล่นฟุตบอลทั่วโลกราว 250 ล้านคน และมีผู้ที่สนใจในฟุตบอลกว่า 1.3 พันล้านคน

ฟุตบอลสมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้นที่อังกฤษในศตวรรษที่ 19 เริ่มจากการแข่งขันของนักเรียนในโรงเรียนประจำอย่างชาเตอร์เฮาส์ วินเชสเตอร์ หรืออีตัน ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็จะมีกติกาแตกต่างกันไป บางแห่งก็อนุญาตให้ใช้มือได้ จนกระทั่งราวปี 1843 (พ.ศ. 2386) จึงมีความพยายามสร้างกฎกติกาที่เป็นมาตรฐานโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งมีนักศึกษาส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนประจำชั้นนำ

เมื่อจบการศึกษา ศิษย์เก่าเคมบริดจ์ก็นำกติกาการแข่งขันอันเป็นมาตรฐานนี้ไปเผยแพร่ และก่อตั้งสโมสรฟุตบอลขึ้นมา ตามมาด้วยการก่อตั้งสมาคมฟุตบอล (FA) ผู้กำหนดกติกากลางในการแข่งขัน โดยในปี 1870 (พ.ศ. 2413) เอฟเอได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการห้ามการใช้มือในการเล่นยกเว้นผู้รักษาประตูซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะของเกมฟุตบอลในปัจจุบัน (ขณะที่การเล่นบอลที่ยอมให้ถือลูกบอลได้ก็กลายไปเป็นรักบี้ ซึ่งมีการก่อตั้งสหภาพรักบี้ฟุตบอลขึ้นในอีกหนึ่งปีให้หลัง)

แต่ฟุตบอลในศตวรรษที่ 19 ไม่ใช่สิ่งที่จู่ๆ ก็เกิดขึ้นมา เพราะเกมแข่งขันที่ใช้ลูกบอลมีมานานแล้วทั้งในอังกฤษ และยุโรป เรียกกันว่า “ฟุตบอลพื้นบ้าน” [ซึ่งบางคนอาจมองว่าไม่ถูกนักเพราะไม่ได้ใช้เท้าเล่นอย่างเดียว แต่ขอให้ดูอเมริกันฟุตบอลเป็นตัวอย่าง] ที่จะเล่นกันเมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึงซึ่งเป็นการฉลองตามแบบความเชื่อดั้งเดิมก่อนการมาถึงของคริสต์ศาสนา

ฟุตบอลพื้นบ้านเป็นการแข่งระหว่างหมู่บ้านที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลำเลียงบอลให้เข้าประตูโบสถ์ของหมู่บ้านตรงข้าม ว่ากันว่าการแข่งขันเป็นไปอย่างชุลมุนวุ่นวายจนกษัตริย์ในยุคกลางต้องออกมาสั่งห้ามการละเล่นดังกล่าว เนื่องจากการแข่งขันถูกมองว่าเต็มไปด้วยความรุนแรงและป่าเถื่อน (กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษทรงสั่งห้ามในปี 1314 [พ.ศ. 1857] และกษัตริย์ในยุคหลังก็เคยสั่งห้ามอีกหลายครั้งตามมา)

ส่วนฟุตบอลพื้นบ้านแบบฝรั่งเศสที่เรียกกันว่า “soule” มีนักเขียนท่านหนึ่ง (Michel Bouet) บรรยายว่า การแย่งชิงการครอบครองลูกบอลของผู้เล่น ไม่ต่างไปจาก “หมากัดกันเพื่อแย่งกระดูก”

แต่ที่โหดกว่านั้นก็ต้องเป็นการแข่งบอลของชาวมายา (ที่กติกาดูจะคล้ายกับตะกร้อลอดห่วงของไทย) ซึ่งแข่งขันกันบนสนามหิน ผู้เล่นจะต้องใช้ “สะโพก” (บางกติกาใช้ไม้ตีคล้ายฮอกกี้) ทำให้ลูกบอลซึ่งทำจากยางลอดห่วงวงแหวนที่ติดตั้งอยู่เหนือศรีษะโดยห้ามใช้มือ หากทำได้ผู้นั้นก็จะเป็นผู้ได้รับชัยชนะ

แต่การแข่งบอลของชาวมายาไม่ได้มีขึ้นเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจหรือความสนุกสนานตามฤดูกาลเท่านั้น บางกรณียังมีเรื่องของความเชื่อมาเกี่ยวข้องเป็นสำคัญ ซึ่งชีวิตของฝ่ายที่พ่ายแพ้ หรือผู้นำทีมอาจถูกนำไปสังเวยให้กับเทพเจ้า “เพื่อให้อาทิตย์ยังคงส่องแสง พืชพันธุ์เติบโต และประชาชนมีสุขอนามัยที่ดี ตามความเชื่อเรื่องการบูชายัญของชาวมายาโบราณ

โชคดีที่ปัจจุบันความเชื่อและค่านิยมเช่นนั้นไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป สังคมหันมาให้ความสำคัญกับชีวิตและสวัสดิภาพของผู้เล่นกันมากขึ้่น ไม่ได้เล่นอย่างเอาเป็นเอาตายเช่นในอดีต (แต่ก็จริงจังจนมีการเล่น “เป็นอาชีพ”) และยังกำหนดกติกาเพื่อจำกัดความรุนแรงของเกมการแข่งขันไว้อย่างชัดเจน แม้ว่าจะควบคุมความรุนแรง (ในและนอกสนาม) ไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม


อ้างอิง:

1.”football”. Encyclopedia Britannica. Encyclopedia Britannica Online.
Encyclopedia Britannica Inc., 2016. Web. 10 Jul. 2016
<https://global.britannica.com/sports/football-soccer>.

2. “Basketball and Football’s Ancient Mayan Roots Reveal a Lethal, Ritualistic ‘Ball Game’ in Tikal, Guatemala”. Latin Post. <http://www.latinpost.com/articles/21301/20140913/basketball-footballs-ancient-mayan-roots-reveal-lethal-ritualistic-ball-game.htm>


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2560