
ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
สมัยก่อนการรักษาด้วยหยูกยาหรือจากหมอปัจจุบันไม่นิยมแพร่หลายและบางพื้นที่อาจเข้าไม่ถึง จึงมีการรักษาแบบชาวบ้าน อย่างเวลาที่กระดูกหัก ในจังหวัดสุรินทร์ก็มีสิ่งที่เรียกว่า “คาถาเป่ากระดูก” หรือ “จอด”

“คาถาเป่ากระดูก” หรือ “จอด”
คาถานี้เป็นการต่อกระดูกที่แพร่หลายในจังหวัดสุรินทร์ โดยเริ่มแรกจะต้องไหว้ครูเสียก่อน จะใช้กรวย 1 คู่ (ใช้ใบตองกล้วยสด เสียบด้วยดอกไม้สด) เทียนไข 2 เล่ม เงิน 4 สตางค์ (เหรียญสตางค์แดงที่มีรูตรงกลาง ใช้ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2) ผ้าขาว 1 ผืน วางบนพาน
จากนั้นให้ยกพานขึ้นมาเสมอหน้าผาก กล่าวระลึกถึงครูเดอมหรือครูต้นกำเนิด ว่า…
“ขอนำวิชานี้ประสิทธิ์ประศาสน์ให้ลูกหลานได้เรียนต่อ ขอให้ศักดิ์สิทธิ์และชะงัดขมังขลังเหมือนกรูเดอม อย่าให้เสื่อมคลาย”

เชื่อกันว่าคนที่มาร่ำเรียนวิชาจากท่านผู้เฒ่าหรือท่านครู หากเรียนตอนที่กำลังทำพิธีและรักษาผู้บาดเจ็บขณะนั้นเลยจะขลังที่สุด
เมื่อเข้าสู่พิธีการรักษา ก็ต้องนำหมากที่หนีบเป็นชิ้นกับใบพลูสดป้ายด้วยปูน เคี้ยวจนแหลกและบริกรรมคาถา (ส่วนใหญ่นิยมคาถา 3 รอบ) ไปด้วยว่า…
“โอม พุทโธ, อะหิคะติด ธัมโม, อะหิคะติด สังโฆ, อะหิคะติดนะ อหิคะติด ปะ, อะหิคะติด ระ, อะหิคะติด อะ, อะหิคะติด อุ, อะหิคะติด อะหัง อะหิคะติด”
จากนั้นพ่นลงบริเวณที่กระดูกหักและเป่าลมให้เคลื่อนออกจากตำแหน่งที่หัก
ทำเช่นนี้วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น และเป่าซ้ำ ๆ 3 ครั้ง ประมาณ 5-7 วัน โดยไม่ให้กระทบกับกระดูกที่หักมากที่สุดเพื่อให้อาการหายดีเป็นปลิดทิ้ง
ถือเป็นความเชื่อเรื่องการรักษาของชาวสุรินทร์ที่มีมาช้านาน…
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดสูตร “น้ำมันมหาปะไลยกัลป์” สมัยอยุธยา รักษา “อัมพฤกษ์-อัมพาต” ได้ชะงัด
- การรักษา “โรคทุเบอร์คุโลสิส” วัณโรคติดเชื้อผ่านสารคัดหลั่ง ของกรมหลวงสงขลานครินทร์
- การสักเพื่อ “รักษาโรค” ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ตุลาคม 2567