ผู้เขียน | ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาชว์ภูริชญ์ น้อมเนียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล |
---|---|
เผยแพร่ |
การรักษา “โรคทุเบอร์คุโลสิส” วัณโรคติดเชื้อผ่านสารคัดหลั่ง ของ “กรมหลวงสงขลานครินทร์”
“ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเปนที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษเปนกิจที่หนึ่ง” ยารักษาโรคชั้นเยี่ยมจากพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (กรมหลวงสงขลานครินทร์)
ขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการตามมาตรการเพื่อสวัสดิภาพของประชาชน เรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโคโรนาไวรัส-19 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่จะขอกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ได้รับพระราชสมัญญานาม “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” ทำให้นึกถึงในสมัยที่ “โรคทุเบอร์คุโลสิส” แพร่ระบาด
ดังปรากฏในพระนิพนธ์บทความของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เรื่อง “โรคทุเบอร์คุโลสิส” ซึ่งหนังสือเทิดพระนามมหิดล จัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยมหิดล นำมาจากเอกสารสาธารณสุข อันดับ 10 ฉบับพิเศษ 24 กันยายน 2463 หน้า 1-28 กล่าวถึง “โรคทุเบอร์คุโลสิส” (มหาวิทยาลัยมหิดล : 2552, 78) ความว่า
“คือโรคความอักเสบในร่างกาย เนื่องด้วยพิษของเชื้อโรคชะนิดนี้ ซึ่งอยู่ในประเภทที่แพทย์รู้ลักขณะแล้ว และอาจเห็นได้ด้วยใช้กล้องขยายแต่ชาวบ้านเราเรียกโรคนี้ว่าฝีในท้อง เป็นคำไม่ตรงต่ออาการของโรคเพราะคนเจ็บไม่ได้เป็นฝี แม้เชื้อทุเบอร์เคิล อาจเข้าไปทำให้ท้องอักเสบได้ ส่วนคำว่าวัณโรคนั้นก็แสดงอาการอย่างหนึ่งของโรคนี้เท่านั้น คือ ผิวเสีย แต่โรคอื่นก็อาจทำให้ผิวเสียได้ เพราะฉะนั้น ในที่นี้จะขอเรียกโรคนี้ตามตำราแพทย์ว่า ‘ทุเบอร์คุโลสิส'”
สำหรับอาการของโรคทุเบอร์คุโลสิสกล่าวว่า มีลักษณะสังเกตได้ยากเพราะเกิดขึ้นช้า ๆ มีอาการดังนี้ ไอ, อ่อนเพลีย, ผอม, ผิว, ไข้, หัวใจ, เหงื่อออก, โลหิต วิธีตรวจหาเชื้อโรคโดยนำเสมหะที่ขากออกมาและต้องตรวจอีก 3 ครั้ง เว้นระยะห่างครั้งละ 10 วัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจ สำหรับวิธีบำบัดต้องพยายามทำลายเชื้อโรคซึ่งอยู่ในตัวผู้ป่วย หรือผู้ป่วยต้องมีภูมิต้านเชื้อพิษนี้ ในพระนิพนธ์เรื่องนี้เมื่อนำมาประยุกต์กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส-19 พอจะมองเห็นแนวทางวิธีบำบัดดังนี้ (มหาวิทยาลัยมหิดล : 2552, 80) ความว่า
“เราต้องพยายามทำลายเชื้อโรคซึ่งอยู่ในตัวคนไข้ หรืออย่างน้อยก็ต้องบำรุงร่างกายคนไข้ให้มีกำลังต่อสู้ทนทานพิษ ซึ่งเชื้อโรคได้ทำขึ้นและป้องกันไม่ให้พิษนี้แพร่หลายเข้าไปในโลหิต ทำให้เป็นอันตรายแก่ส่วนอื่นของร่างกายอีก เปรียบด้วยเพลิงดวงน้อยดับด้วยลมปากได้ แต่ไฟไหม้บ้านดับยากฉันใด ก็ได้กับโรคติดต่อโรคนี้ฉันนั้น ถ้าเรารู้เสียยิ่งเนิ่นนานเท่าใดหรือตั้งแต่เริ่มเป็นก็จะทำให้การป้องกันง่ายขึ้น เพราะเชื้อโรคหว่านพืชพันธุเร็ว ไม่ช้าก็มีตั้งล้าน เพราะฉะนั้นเราต้องตีทัพหน้าให้แตกเสียก่อน กองทัพหลวงจะได้ตั้งค่ายไม่ติด
เมื่อท่านผู้ใดรู้สึกมีอาการดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ถ้ามีแพทย์อยู่ใกล้ก็ควรไปให้เขาตรวจเสีย ถึงแพทย์จะอยู่ห่างก็ควรจะหาเวลาไปให้เขาตรวจให้ได้ เพราะถ้าทิ้งไว้นานก็จะทำให้โรคกำเริบและแก้ยาก
ถึงเขาจะว่าท่านไม่เป็นอะไร ก็ยิ่งควรดีใจเสียอีกว่าท่านไม่เป็นโรคร้ายที่สุดอันหนึ่ง ถึงจะเสียเงินค่าแพทย์ก็ไม่ควรเสียดาย เพราะถ้าท่านตระหนี่ค่าตรวจแล้วเมื่อเป็นโรคมากจะต้องเสียเงินค่ารักษามาก ถ้าท่านตระหนี่ค่ารักษา ท่านตายไปเงินก็เอาไปโลกหน้าด้วยไม่ได้ และลูกหลานท่านจะเสียดายตัวท่านมากกว่าเงิน ถ้าเขาไม่เสียดายท่าน เขาก็รักเงินของท่านมากกว่าตัวท่าน เมื่อท่านรู้เข้าจะยินดีหรือ?
ถ้าเมื่อท่านไปหาหมอแล้ว เขาไม่ให้ยากินท่านอย่าเพ้อเสียใจ เขาคงจะให้คำแนะนำให้ท่านรักษาตัว ถ้าท่านทำตามคำแนะนำท่านก็คงจะเป็นผลดีเป็นแน่”
นอกจากนี้ในพระนิพนธ์เรื่องนี้สอดคล้องกับแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการอยู่ในขณะปัจจุบัน ซึ่งพระองค์ท่านได้แสดงหัวข้อ การป้องกันไม่ให้โรคแพร่หลายต่อไป มีดังจะกล่าวต่อไปนี้ (มหาวิทยาลัยมหิดล : 2552, 87) ความว่า
(1) เราต้องช่วยทำบัญชีว่ามีคนเป็นโรคนี้กี่คน แพทย์ตรวจโรคควรช่วยจดบัญชีไว้ว่าได้พบใครเป็นโรคทุเบอร์คุโลสิสบ้าง และพอถึงเดือนก็รวมรายงานส่งไปให้เจ้าหน้าที่ ถ้าผู้ใดทราบว่าคนหรือญาติเป็นก็ควรบอกเสียเพราะจะปิดไว้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร กลับจะให้ร้ายแก่คุณ
(2) เราต้องช่วยคนไข้ให้ได้โอกาสรักษาตัวจริงจังคือ หาแพทย์ที่ดี และกันอย่าให้แพทย์เศกเป่าหรือให้ยาวิเศษมารักษาได้ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าโรคนี้จะรักษาด้วยยาอย่างอื่นไม่ได้นอกจากบำรุงให้คนไข้มีกำลังด้วยอาหารดี และอยู่กินถูกต้องตามกฎกายบริหาร
(3) การรักษาแต่คนไข้เท่านั้นยังไม่พอ ต้องกันไม่ให้โรคไปติดคนดีด้วย กันไว้ดีกว่าแก้ เราอาจทำการป้องกันได้ดังนี้
และได้ทรงพระนิพนธ์ว่า ตัวโรคเหล่านี้อยู่ที่ไหนเล่า? ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เช่น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รวมถึงข้อความที่ร่วมรณรงค์ เช่น กินร้อน ช้อนฉัน หมั่นล้างมือ จนเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 รัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ“ เพราะพระองค์ได้ทรงแนะนำไว้ในพระนิพนธ์ (มหาวิทยาลัยมหิดล : 2552, 88) ความว่า
“เวลากินอาหารเหลือหรือร่วมกับคนไข้ไม่ควรทำ เพราะจากปากคนหนึ่งอาจไปเข้าปากอีกคนหนึ่งได้ง่าย
เวลาคนไข้พูด หรือไอ จาม ไม่ควรให้คนดีอยู่ใกล้ เพราะเวลาพูดก็อาจมีน้ำลายกระเด็นออกมาได้บ้าง ฝอยน้ำลายถึงจะเป็นหยดเล็กเท่าใดอาจมีเชื้อโรคติดออกมาได้หลายตัว ซึ่งถ้าเข้าปากจมูกคนอาจทำให้เกิดโรคได้ แต่ในเวลาที่คนไข้อยู่นิ่ง ไม่มีอันตรายใด เพราะลมหายใจออกไม่มีน้ำพอที่จะเป็นหยด โรคมักจะติดอยู่กับน้ำมูกในจมูก เมื่อสั่งออกมาถึงออก
เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องกล้วว่าเชื้อโรคจะบินออกมาจากคนไข้มาจับคนดีได้เชื้อโรคนี้ไม่มีปีก ต้องอาศัยน้ำมูกน้ำลายเป็นเครื่องบินจึงจะเที่ยวไปในอากาศได้ การถูกตัวคนไข้บ่อย ๆ และนาน เช่นนอนด้วยหรือกอดจูบด้วยความรักใคร่ โรคอาจติดได้ เพราะฉะนั้นคนไข้ไม่ควรให้เด็กเล็กมาเล่นอยู่ด้วย เพราะเด็กเล็ก ๆ เมื่อเห็นอะไรก็เก็บเข้าปากบางทีก็ชอบดูดนิ้วคนไข้ หรือคนไข้จะจูบเด็กด้วยความกรุณาเช่นนี้อาจให้โรคแก่เด็กได้
อย่าเข้าในที่ประชุมใหญ่ที่มีคนแน่น เช่นในโรงหนังและโรงละครสำหรับคนไข้ เมื่อถูกคนอื่นคนเบียดทำให้เสียกำลัง สำหรับคนปกติ เมื่อไปเบียดกับคนที่เป็นโรคทุเบอร์คุโลสิส อาจติดเอาโรคนั้นกลับมาได้”
ปัจจุบัน “โรคทุเบอร์คุโลสิส” มียารักษาแล้ว แต่ในสมัยนั้นนับว่าโรคดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญที่คนไข้ทุกคนย่อมจะถามกันว่าจะมีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายหรือไม่ คำตอบว่า “รักษาได้แต่ยากมาก“ (มหาวิทยาลัยมหิดล : 2552, 80)
และคงเป็นคำตอบเช่นเดียวกับโรคโคโรนาไวรัส-19 ว่ายารักษายังคงอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย แต่หากประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือปฏิบัติตนอย่างเข้าใจแบบมีเหตุผลแล้ว การแพร่ระบาดของโรคนี้คงมีจำนวนลดน้อยลงจนรัฐบาลสามารถประกาศได้ว่าไม่มีผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโรคนี้แล้ว
แต่ในช่วงเวลานี้ พระนิพนธ์ของพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ควรน้อมนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วยย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษยชาติดัง (สำเนา) ลายพระหัตถ์ ถึง นายสวัสดิ์ แดงสว่าง ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 (มหาวิทยาลัยมหิดล : 2552, 117) ว่า
“ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเปนที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษเปนกิจที่หนึ่ง”
ประเทศไทยและโลกใบนี้ก็จะเกิดสันติภาพแน่นอน
อ่านเพิ่มเติม :
- ดูผลทดลองรักษาผู้ป่วยวัณโรคใน “ถ้ำแมมมอธ” ยุคศตวรรษที่ 19 จากความเชื่ออากาศในถ้ำบำบัดโรค
- 9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล
- ทุกวินาทีมีค่า! แพทย์เตือน “กรมหลวงสงขลานครินทร์” พระชนมายุจะไม่ยืนหากทรงงานหนัก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
มหาวิทยาลัยมหิดล (2552). เทิดพระนามมหิดล. กรุงเทพมหานคร : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 เมษายน 2563