ผู้เขียน | พีรวิชญ์ เอี่ยมปรีดา |
---|---|
เผยแพร่ |
ก่อนที่มนุษยชาติจะสามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันวัณโรคได้สำเร็จในปีค.ศ. 1921 มีผู้ยกข้อเสนอ-ทฤษฎี และการทดลองต่างๆ ขึ้นมาเอ่ยถึงมากมายเพื่อจุดประสงค์ในการเอาชนะโรคระบาดที่มนุษย์ยังไม่สามารถรับมือได้ในขณะนั้น โดยหนึ่งในการทดลองที่เกิดขึ้นคือการทดลองของดร. จอห์น โครแกน (John Croghan) กับผู้ป่วยวัณโรคใน “ถ้ำแมมมอธ” รัฐเคนทักกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นทศวรรษ 1840s
ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1839 นายแพทย์ในรัฐเคนทักกี้นามว่า จอห์น โครแกน ตัดสินใจซื้อถ้ำแมมมอธ อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่ชาวยุโรปค้นพบครั้งแรกเมื่อราวปี ค.ศ. 1790 ในราคา 10,000 ดอลลาร์ เนื่องจากเขาเชื่อว่า อากาศภายในถ้ำมีคุณสมบัติบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยวัณโรค ซึ่งเป็นโรคระบาดที่กำลังแพร่กระจายในหมู่พลเมืองอเมริกัน และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
คริสเตียน แม็กมิลเลน (Christian McMillen) นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งเวอร์จิเนีย (University of Virginia) และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการค้นพบวัณโรค (Discovering Tuberculosis, 2015) อธิบายว่า ความคิดที่ว่า “อากาศเป็นหนทางแก้ปัญหาวัณโรค” ไม่ว่าจะเป็นอากาศในระดับเหนือน้ำทะเล อากาศในฤดูหนาว หรืออากาศแบบพื้นที่ทะเลทราย เป็นแนวคิดที่พบเห็นได้ทั่วไปในสมัยนั้น ซึ่งในบางครั้งก็อาจช่วยได้บ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมักมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอากาศกับสาเหตุของโรค
“วัณโรคเป็นโรคติดต่อ ถ้าให้ผมเดา เมื่อคุณนำคนป่วยเป็นโรคแล้วมา 5 คน กับอีก 5 คนที่ยังไม่ป่วย แล้วจับพวกเขาทั้งหมดมาอยู่รวมกันในถ้ำ ท้ายที่สุดคุณก็จะได้ผู้ป่วย 10 คน” คริสเตียน อธิบายเพิ่มเติม
นายแพทย์โครแกน สร้างกระท่อมหิน 2 หลังและกระท่อมไม้ 8 หลังขึ้นมาภายในถ้ำแมมมอธ ซึ่งแต่ละหลังมีขนาด 12 x 18 ฟุต เขาทดลองสร้างศูนย์รักษาผู้ป่วยวัณโรคโดยหวังว่าระบบนิเวศภายในถ้ำอันประกอบด้วยอุณหภูมิและความชื้นที่สม่ำเสมอจะช่วยฟื้นฟูและบำบัดรักษาผู้ป่วยวัณโรคได้
แจ็กกี้ วีต (Jackie Wheet) เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติถ้ำแมมมอธให้ข้อมูลว่า นายแพทย์คนดังกล่าวได้ยินเสียงเล่าลือว่าคนที่ทำงานในถ้ำมีสุขภาพดี และนำมาสู่การทดลองดังกล่าว แจ็กกี้ เล่าว่า
“เขาทำการทดลอง โดยให้ผู้ป่วยบางส่วนอาศัยอยู่ในถ้ำ และสูดอากาศบริสุทธิ์ในถ้ำเพื่อดูว่ามันช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วพวกเขาจ่ายเงินให้หมอไปไม่น้อยสำหรับการรักษา”
ผู้ป่วยวัณโรครายแรกของโครแกนที่ได้รับการรักษาในถ้ำแห่งนี้ คือ วิลเลียม มิทเชลล์ (William Mitchell) แพทย์ท้องถิ่นในรัฐเคนทักกี้เมื่อปลายฤดูใบไม้ผลิปีค.ศ. 1842 เมื่อมิทเชลล์เข้ารับการรักษาตามวิธีของโครแกน อาการของมิทเชลล์เริ่มดีขึ้น หลังจากนั้นรายงานจากมิทเชลล์ก็ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยกล่าวถึงวิธีการรักษานี้ไปในเชิงบวก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีแพทย์คนอื่นๆ เห็นแย้งเรื่องประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคด้วยวิธีนี้ แต่โครแกน ยังคงเดินหน้าพิสูจน์ทฤษฎีของเขาต่อไป
ระหว่างปลายปี 1842 จนถึงต้นปี 1843 มีผู้ป่วยราย 16-20 รายเข้าไปอาศัยในถ้ำอันมืดมิด แต่เชื่อกันว่า ยังมีผู้ป่วยบางรายไม่ได้อยู่ในบันทึก
ในช่วงฤดูหนาวปีค.ศ. 1842 โครแกนเชิญผู้ป่วยจำนวน 16 คนซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของเขามาเข้ารับการรักษาภายในถ้ำ โดยช่วงแรกดูเหมือนว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น ถึงขนาดที่โครแกนเริ่มคิดถึงการสร้างโรงแรมภายในถ้ำเพื่อรองรับการรักษาในอนาคต
ทั้งนี้ การก่อแสงสว่างภายในถ้ำด้วยไฟจากตะเกียงน้ำมันทำให้เกิดควันและขี้เถ้าจำนวนมากภายในถ้ำ หนำซ้ำอากาศที่เย็นจัดและความอับชื้นของถ้ำก็สร้างความเสียหายแก่ปอดเพิ่มขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ต้นซีดาร์และพุ่มไม้ต่างๆ ที่พอจะช่วยให้บรรยากาศสว่างไสวก็แห้งเหี่ยวไปอย่างรวดเร็ว
เว็บไซต์ National Park Service ของทางการสหรัฐฯ ได้อ้างถึงคำพูดของอัลเฟรด ทาสซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงอาหารเข้ามาให้ผู้ป่วยในถ้ำที่เล่าไว้ว่า “ฉันเคยยืนบนก้อนหินแล้วเป่าแตรเรียกพวกเขามากินอาหารเย็น พวกเขามีสิบห้าคน และดูเหมือนกองโครงกระดูกมากกว่าอะไร”
มีรายงานว่าการทดลองของดร.โครแกน ดำเนินไปโดยที่ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมถ้ำแมมมอธแห่งนี้อยู่ และบางครั้งนักท่องเที่ยวก็อาจบังเอิญพบเข้ากับผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในสภาพน่ากลัว หรือบางครั้งก็อาจได้ยินเสียงไอสะท้อนมาจากไกลๆ
เมื่อมีการร้องเรียนเกิดขึ้น ดร.โครแกน พยายามโน้มน้าวให้ผู้ป่วยที่เหลืออยู่ต่อ อย่างไรก็ดี มีเพียงแค่ Oliver Hazard Perry Anderson เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ตัดสินใจไม่รักษาต่อด้วยวิธีนี้และออกมาจากถ้ำ
เว็บไซต์ของนิตยสาร Smithsonian เปิดเผยบันทึกของ Oliver Hazard Perry Anderson ที่เขียนบันทึกระบุวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1843 ไว้ว่า
“เทอร์โมมิเตอร์(เครื่องวัดอุณหภูมิ)แสดงค่าที่ 40 องศา เมื่อฉันเดินออกมาจากความมืด ฉันไม่สามารถจะบอกคุณได้เลยว่าโลกเบื้องบนนั้นน่ารื่นรมย์เพียงใด ในทุกประสาทสัมผัสของฉัน อากาศช่างหอมบริสุทธิ์และน่าพอใจ อีกทั้งแสงที่สว่างแว่บเข้ามาก็ไม่ทำให้ฉันเจ็บตา”
เมื่อเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ ผู้ป่วยวัณโรค 5 รายเสียชีวิตลงภายในถ้ำ ร่างของพวกเขาถูกจัดให้อยู่บนหินที่เรียกว่า Corpse Rock จากนั้นดร.โครแกน ก็อยู่ในภาวะสิ้นหวังและยุติการทดลองในครั้งนั้นเมื่อต้นปีค.ศ. 1843 พร้อมกับผู้รอดชีวิตที่ยังเหลืออยู่ แต่ถึงที่สุดแล้ว จากการให้ข้อมูลของแจ็กกี้ วีต เขาเล่าไว้ว่า “เกือบทุกคนเสียชีวิตภายในไม่กี่วันหรือหลายสัปดาห์หลังจากออกจากถ้ำ”
ต่อมา ดร.โครแกน ก็ป่วยด้วยวัณโรคและเสียชีวิตเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1849 แต่ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าเขาติดเชื้อมาจากในถ้ำหรือไม่ โดยเขาได้ทิ้งถ้ำแมมมอธเป็นมรดกไว้ให้กับครอบครัว ครอบครัวของเขาถือครองทรัพย์สินจนถึงปี ค.ศ. 1920 และช่วงต้นทศวรรษ 1940s ถ้ำแมมมอธถูกอุทิศให้มีสถานะอุทยานแห่งชาติ (Mammoth Cave National Park) จากนั้นถ้ำแมมมอธจึงถูกยูเนสโก (UNESCO) บรรจุเป็นมรดกโลกเมื่อปีค.ศ. 1981
อ้างอิง :
DeLuca, Leo. “When Tuberculosis Patients Quarantined Inside Kentucky’s Mammoth Cave”. Smithsonian. Online. Published 14 JUL 2021. Access 19 JUL 2021 <https://www.smithsonianmag.com/travel/when-tuberculosis-patients-quarantined-inside-kentuckys-mammoth-cave-180978144/>
Tuberculosis in Mammoth Cave. National Park Service. Access 19 JUL 2021. <https://www.nps.gov/articles/tuberculosis-mammoth-cave.htm>
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564