เปิดสูตร “น้ำมันมหาปะไลยกัลป์” สมัยอยุธยา รักษา “อัมพฤกษ์-อัมพาต” ได้ชะงัด

ชาวบ้าน ปรุงยา
ชาวบ้านกำลังช่วยกันปรุงยารักษาโรคจิตรกรรมไทยในสมุดข่อย ภาพจาก Henry Ginsburg, Thai Art and Culture Historic Manuscripts from Western Collections (Chiang Mai: Silkworm Books, 2000), p.64.

“โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต” เป็นโรคที่ทำให้เกิดความลำบากในการใช้ชีวิต และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี แม้ปัจจุบันการแพทย์จะรุดหน้าและสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็ยากมากที่จะกลับมาเดินเหินปกติ โรคอัมพฤกษ์-อัมพาตไม่ได้เพิ่งเป็นที่รู้จักในไทย แต่ปรากฏหลักฐานมานานหลายร้อยปีแล้ว เพราะสมัยกรุงศรีอยุธยามีการรักษาโรคดังกล่าวด้วย “น้ำมันมหาปะไลยกัลป์” ซึ่งปรากฏอยู่ในตำราพระโอสถพระนารายณ์

โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke/Cerebrovascular accident) เป็นโรคที่ปรากฏอยู่ในคลังข้อมูลของ “ฮิปโปเครติก” บิดาแห่งการแพทย์ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งขณะนั้นเขาได้วินิจฉัยว่าโรคดังกล่าวคือโรคลมบ้าหมู ซึ่งจะมีอาการสูญเสียสติ ขาดการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหัน ต่อมาศตวรรษที่ 17 โยฮันน์ จาค็อบ เวพเฟอร์ (Johannes Jakob Wepfer) นักพยาธิวิทยาและเภสัชกรชาวสวิส ได้วิเคราะห์ว่าโรคดังกล่าวเกี่ยวพันกับเลือดออกในกะโหลกศีรษะ

งานของเวพเฟอร์ทำให้การศึกษาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดในสมองแพร่หลายอย่างมาก จน โทมัส วิลลิส (Thomas Willis) นายแพทย์ชาวอังกฤษค้นพบว่า สโตรกนั้นจะก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์-อัมพาต ส่งผลให้ช่วงศตวรรษที่ 19 มีการลงมติให้โรคดังกล่าวมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “โรคหลอดเลือดสมอง” แทนลมชัก เนื่องจากต้องการกำหนดขอบเขตของโรค และเกิดการรักษาเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น การเจาะเลือดออกเพื่อการรักษา

อาการของคนที่มีแนวโน้มเป็นสโตรก ส่วนใหญ่จะเกิดจากหลอดเลือดแดงไปเลี้ยงสมองตีบ ตัน หรือแตก ทำให้เนื้อสมองขาดอาหารและออกซิเจน จนกระทั่งเกิดภาวะสมองเสียหาย ส่งผลให้แขน หรือใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรง เคลื่อนไหวลำบาก หรือเคลื่อนไหวไม่ได้อย่างฉับพลัน 

โรคนี้ยังปรากฏในโลกตะวันออก จนมียาที่ใช้รักษาอย่างแพร่หลายก็คือ น้ำมันมหาปะไลยกัลป์ 

ผู้บุกเบิกการรักษาคือ นายเพ็ชรปัญญา 1 ใน 8 แพทย์ที่ปรากฏรายชื่อในตำราพระโอสถพระนารายณ์ ผู้มีความสามารถในการรักษา และเรียกได้ว่าเป็น “คุรุแพทย์” ที่รับรักษาอาการหลากหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต ซึ่งใช้น้ำมันมหาปะไลยกัลป์ ช่วยบรรเทาอาการมือเท้าตาย ง่อยอ่อนเพลีย

หนังสือ “‘มนุษย์อยุธยา’ ประวัติศาสตร์การสังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา SEX” (สำนักพิมพ์มติชน) โดย กำพล จำปาพันธ์ ได้บอกเล่าถึงวิธีการปรุงยา น้ำมันมหาปะไลยกัลป์ ซึ่งหลายคนอาจไม่คุ้นชินนัก ด้วยส่วนผสมที่หาได้ยาก และกรรมวิธีในการทำค่อนข้างลำบาก ทว่ามันกลับได้ผลดีจนเป็นที่รับรู้ไปทั่วเมือง ทั้งในชนชั้นนำ และการรับรู้ของสามัญชนทั่วไป ว่า

“น้ำมันมหาปะไลยกัลป์ ให้เอา ลำพันแดง หว้านพระผนัง หว้านบุษราคัม หว้านไข่หน้า หว้านฟันชน หว้านเปราะป่า หว้านพระกราบ รากเปล้าน้อย รากเปล้าใหญ่ สหัสคุณทั้ง 2 สิ่งละ 5 ตำลึง แก่นแสมทะเล เอื้อมพิศม์ม้า สิ่งละ 10 ตำลึง ใบตลอด ใบกระเนียด สิ่งละ 1 ชั่ง ยาทั้งนี้ควรต้มให้ต้ม ควรตำให้ตำ บิดเอาน้ำให้สิ้นเชิง น้ำมันงาทนาน 1 หุง ให้คงแต่น้ำมัน จึงเอาน้ำมันพิมเสน 2 ทนาน ใส่ลงเมื่อภายหลัง แล้วเอาพิมเสน 2 สลึง ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู สิ่งละบาท 1 การบูร 3 บาท ทำเปนจุณปรุงลงกวนให้สบกัน ทรงแก้เส้นอันทพฤกกร่อนลม แก้มือเท้าตาย ง่อยเพลีย”

แค่นี้ก็ได้ “น้ำมันมหาปะไลยกัลป์” ที่ช่วยแก้อาการมือเท้าตาย ง่อยอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรงแล้ว

หมายเหตุ 

1 สลึง เท่ากับ 3.75 กรัม

1 บาท เท่ากับ 15 กรัม

1 ตำลึง เท่ากับ 37.5 กรัม

1 ชั่ง เท่ากับ 1,200 กรัม

1 ทนาน (ทะนาน) เท่ากับ 1 ลิตร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Catherine E Storey ,Hans Pols. “Chapter 27: a history of cerebrovascular disease.” Accessed May 2, 2023. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19892130/.

กำพล จำปาพันธ์. “มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา SEX” กรุงเทพฯ : มติชน, 2563.

จักษณี ธัญยนพพร. “โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต.” สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2566. https://www.sukumvithospital.com/healthcontent.php?id=3516.

สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. “สถิติด้านสุขภาพ.” สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2566. https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=PageSocial.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566