เผยสูตรยารักษากาฬโรคผสม “อาเจียนของคางคก” ในบันทึกของเซอร์ไอแซก นิวตัน

ภาพเขียนสี ไอแซก นิวตัน โดย ก็อตตฟรีด เนลเลอร์ ราว ค.ศ. 1702 (Public Domain)

เซอร์ ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบแรงโน้มถ่วงถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อความก้าวหน้าในวงการวิทยาศาสตร์อย่างมาก ไม่ว่าจะด้านฟิสิกส์ แคลคูลัส หรือทัศนศาสตร์ ไม่เพียงเท่านั้น ในบันทึกข้อเสนอของเขายังปรากฏข้อมูลเชิงการแพทย์เกี่ยวกับแนวคิดการรักษาผู้ป่วยกาฬโรค โดยยาสูตรพิเศษซึ่งมีส่วนประกอบของคางคก และอาเจียนของคางคก

รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศระบุว่า จุดเริ่มต้นของเรื่องสูตรนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่นิวตันยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยทรินิตี คอลเลจ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยในปี ค.ศ. 1665-1666 สถานศึกษาแห่งนี้ต้องหยุดการเรียนการสอนลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของกาฬโรคในอังกฤษ ณ ขณะนั้น มีรายงานว่า ปีดังกล่าว กาฬโรคได้คร่าชีวิตผู้คนในกรุงลอนดอนไปกว่าหนึ่งแสนคน

ในปี ค.ศ. 1667 สถานศึกษาของเขากลับมาเปิดอีกครั้ง และเป็นช่วงนี้เองที่คาดว่านิวตันได้เขียนบันทึกดังกล่าวขึ้นมา

เมื่อเวลาล่วงเลยมาหลายศตวรรษจนถึงปี ค.ศ. 2020 บริษัท Bonhams บริษัทผู้จัดประมูลเอกสารบันทึกดังกล่าวข้างต้น ได้เผยแพร่ข้อมูลโดยอธิบายว่า ขณะที่นิวตันกำลังศึกษางานของ Jan Baptiste Van Helmont นักเคมีและนายแพทย์ชาวเบลเยียมชื่อดังแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 17 นิวตันมุ่งความสนใจไปที่หนังสือของ Van Helmont ที่เกี่ยวกับโรคระบาดและการรักษาผู้ป่วย จากนั้นเขาจึงจดบันทึกการวิเคราะห์และแนวคิดของเขาเอาไว้ด้วยลายมือ แต่มันไม่เคยถูกเผยแพร่เลยจนกระทั่งเกิดการประมูลเมื่อปี ค.ศ. 2020

สำนักข่าว CNN รายงานโดยอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ ดาร์เรน ซัทเทอร์แลนด์ (Darren Sutherland) ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจาก Bonhams ที่มองว่า มีบางอย่างจุดประกายความสนใจให้เขาในช่วงเวลานั้น หรืออาจจะเป็นสติปัญญาของเขาเองก็ได้ เพราะแม้ว่ายารักษาโรคจะไม่เคยเป็นที่สนใจของเขามาก่อน แต่จากความคิดเห็นของดาร์เรน มองว่า เซอร์ไอแซก นิวตัน มีความสนใจส่วนตัวในเรื่องนี้โดยเฉพาะในช่วงนั้น

บันทึกที่มีความยาวเพียงสองหน้านี้เป็นแนวคิดที่มีการวิเคราะห์และต่อยอดมาจากสิ่งที่ Van Helmont ได้เสนอไว้ ประกอบไปด้วยสาเหตุและรูปแบบของการแพร่ระบาด รวมถึงระบุอาการและการระบุตัวตน ตลอดจนใบสั่งยาสำหรับการหลีกเลี่ยงโรคระบาด หรือข้อแนะนำที่ว่า ควรเลี่ยงสถานที่ซึ่งเคยมีการติดเชื้อ ก็ปรากฏอยู่ในบันทึกของนิวตันด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตในบางกรณี เช่น ข้อมูลกรณีของชายผู้หนึ่งที่สัมผัส “กระดาษที่ติดเชื้อ จากนั้นเขารู้สึกเจ็บปวดเหมือนเข็มตำโดยทันที ต่อมาเกิดแผลเน่าเปื่อยขึ้นที่บริเวณนิ้วชี้ และสองวันหลังจากนั้นเขาเสียชีวิตลง”

แต่เนื้อหาส่วนที่สำคัญและน่าสนใจคือ แนวคิดการรักษาผู้ป่วยด้วยยาที่เขาคิดค้นขึ้นเอง มีส่วนประกอบของคางคก และอาเจียนของคางคก

ไอแซก นิวตัน บันทึกไว้ว่า

“วิธีการรักษาที่ดีที่สุด จับคางคกมัดขาห้อยไว้ที่ปล่องไฟเป็นเวลาสามวัน โดยห้อยส่วนหัวของคางคกลง มันจะอาเจียนออกมาเป็นเศษดินที่ปะปนอยู่กับซากของแมลงหลายชนิด…จากนั้นเมื่อมันตาย ผสมคางคกสภาพที่(บด – กองบรรณาธิการ)เป็นผงแล้วกับสิ่งปฏิกูลของมันจนได้เป็นยา (เอกสารต้นฉบับใช้คำว่า Lozenges – กองบรรณาธิการ) จำนวนหนึ่ง ให้ใช้ยาในบริเวณที่เกิดอาการของกาฬโรค เพื่อขับโรคติดต่อและดูดพิษออก”

แม้ว่าแนวคิดวิธีการรักษาผู้ป่วยวัณโรคของนิวตันดูแปลกประหลาด และไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ในปัจจุบัน แต่หากย้อนกลับไปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 แนวคิดนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เป็นเรื่องที่เกินเลยไปนัก ตามการให้ข้อมูลของ เอลิซาเบธ แบรนเดอร์ (Elisabeth Brander) บรรณารักษ์ประจำห้องสมุดทางการแพทย์เบกเกอร์ ที่กล่าวว่า “พวกเรามักจะเชื่อมโยงเขาเข้ากับความเป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่มีความก้าวหน้า แต่เมื่อตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ เส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ กับ ไสยศาสตร์นั้นพร่ามัวมาก”

แบรนเดอร์ ยังระบุอีกว่า แนวคิดการรักษาผู้ป่วยด้วยคางคกที่นิวตันนำมาจาก Van Helmont นั้น ก็เป็นแนวคิดที่มาจาก Paracelsus แพทย์ชาวสวิสที่อาศัยอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 อีกที โดยแนวคิดของ Paracelsus เชื่อว่า “โรคระบาดเกิดจากความแปรปรวนของดวงดาวในร่างกาย และการสวมใส่เครื่องรางของขลัง จะช่วยขัดขวางการเชื่อมต่อที่เป็นภัยระหว่างร่างกายกับดวงดาวได้”

โดยแบรนเดอร์กล่าวว่า แม้ในปัจจุบันอาจจะไม่มีคนเชื่อแนวคิดนี้แล้ว แต่มันก็ดูสมเหตุสมผลในช่วงต้นของยุคใหม่ “โดยนิวตันอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านนี้ ซึ่งองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อยู่ในความเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นเต้นมาก”

ทั้งนี้ เอกสารฉบับดังกล่าวถูกประมูลไปด้วยราคา 81,325 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.6 ล้านบาท คำนวณจากอัตราค่าเงิน ณ 27 ก.ค. 2021) เมื่อปี ค.ศ. 2020

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Giuliani-Hoffman, Francesca. “Sir Isaac Newton considered curing the plague with toad vomit lozenges, a manuscript reveals”. CNN. Online. Published 17 JUN 2020. Access 20 JUL 2021. <https://edition.cnn.com/2020/06/17/us/newton-toad-vomit-lozenges-plague-manuscript-trnd-scn/index.html>

Flood, Alison. “Isaac Newton proposed curing plague with toad vomit, unseen papers show”. The Guardian. Online. Published 2 JUN 2020. Access 20 JUL 2021. <https://www.theguardian.com/books/2020/jun/02/isaac-newton-plague-cure-toad-vomit>

Fox, Alex. “Sir Isaac Newton’s Prescription for Plague? Toad Vomit Lozenges”. Smithsonian. Online. Published 5 JUN 2020. Access 20 JUL 2021. <https://www.smithsonianmag.com/smart-news/sir-isaac-newtons-plague-prescription-toad-vomit-lozenges-180975039/>

Sutherland, Darren. “Isaac Newton Unpublished Notes on the Other Great Plague at Bonhams Important Manuscript Sale”. Bonhams. Access 20 JUL 2021 <https://www.bonhams.com/press_release/30347/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กรกฎาคม 2564