“วัดเขาอ้อ” จ. พัทลุง แหล่งวิทยาคมไสยศาสตร์ ศิษย์ใช้วิชาไสยชนะพม่า เมื่อ 200 กว่าปีก่อน

วัดเขาอ้อ จังหวัดพัทลุง
วัดเขาอ้อ จ.พัทลุง (ภาพจาก : fb วัดเขาอ้อ จ.พัทลุง สำนักศึกษาไสยศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งประเทศไทย)

วัดเขาอ้อ จังหวัดพัทลุง เป็นแหล่งวิทยาคมทางไสยศาสตร์ที่มีความสำคัญกับชาวพัทลุงและคนไทยมาช้านาน ตำนานเล่าว่าในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นที่บำเพ็ญพรตของพราหมณ์มาหลายรุ่น เป็นแหล่งถ่ายทอดวิชาให้คณาศิษย์ในเรื่องการปกครองตามตำราธรรมศาสตร์ พิธีกรรมการจัดทัพ รวมถึง ไสยเวท และการแพทย์

วัดเขาอ้อ จ.พัทลุง (ภาพจาก : fb วัดเขาอ้อ จ.พัทลุง สำนักศึกษาไสยศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งประเทศไทย)

วัดเขาอ้อ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1651 หรือหากให้นับก็กว่า 900 ปี เป็นวัดที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในสมัยอยุธยา ก่อนจะถูกทิ้งร้าง จนเมื่อพระมหาอินทราชเดินทางจากเมืองปัตตานีมาจำวัดที่นี่ ก็ได้เป็นเจ้าอาวาส และทำการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ 

แต่เมื่อพระมหาอินทราชออกจากวัดไป วัดก็เสื่อมโทรมอีกครั้ง จนท่านปะขาวขุนแก้วเสนาและขุนศรีสมบัติ รวมถึงชาวบ้าน ได้ไปนิมนต์พระมหาคง จากวัดพนางตุง มาเป็นเจ้าอาวาส ที่นี่จึงกลับมาเจริญรุ่งเรือง มีเจ้าอาวาสปกครองเรื่อยมา และเจ้าอาวาสแต่ละรูปล้วนมีความสามารถในเรื่องไสยศาสตร์ 

การศึกษาไสยศาสตร์ที่วัดเขาอ้อ จังหวัดพัทลุง เป็นที่เลื่องชื่อมาเนิ่นนาน

มีบันทึกไว้ว่าเมื่อ พ.ศ. 2328 พระอาจารย์และศิษย์ที่วัดแห่งนี้ช่วยกันใช้ความรู้ไสยเวท ช่วยให้สยามรอดพ้นจากการถูกกองทัพพม่าโจมตี โดยพระมหาช่วย จากวัดป่าเลไลย์ ชาวบ้านน้ำเลือด ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของวัดเขาอ้อแห่งนี้ ได้ลงตะกรุด ผ้าประเจียด ให้กับไพร่พล แล้วไปคอยรับศึกทัพพม่า

นอกจากนี้ยังได้ทำการผูกหุ่นพยนต์เข้าช่วยเป็นทหารสูงใหญ่จำนวนมาก เมื่อทัพพม่ามาถึงก็เห็นว่ากองกำลังฝ่ายสยามมีเยอะกว่า แม้แท้จริงแล้วจะมีน้อยกว่า เนื่องจากอำนาจของมนตร์และคาถาที่พระมหาช่วยนั่งบริกรรมอยู่เบื้องหลัง จึงทำให้พม่าถอยทัพไป

ต่อมา พระมหาช่วยจึงได้ลาสิกขา และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “พระยาทุกขราษฎร์” ผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุง ด้วยคุณงามความดีของท่าน จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ให้ท่านที่สามแยก ท่ามิหรำ อ. เมือง จ. พัทลุง

เป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าที่แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญ ความแกร่งกล้า และความสำคัญของวัดหรือสำนักเขาอ้อ ที่มีมาเนิ่นนาน

วัดเขาอ้อ จ.พัทลุง (ภาพจาก : fb วัดเขาอ้อ จ.พัทลุง สำนักศึกษาไสยศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งประเทศไทย)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://plg.onab.go.th/th/content/category/detail/id/110/iid/6992

https://culture.bsru.ac.th


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2567