“โต๊ะกิมตึ๋ง” โต๊ะเครื่องบูชาพระอย่างจีนแกมไทย ฮิตจนสมัยรัชกาลที่ 5 ต้องจัดประกวด

โต๊ะกิมตึ๋งสำรับใหญ่ของวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

การจัดเครื่องบูชาพระ หรือโต๊ะหมู่บูชาพระ เป็นที่นิยมอย่างมากช่วงต้นรัตนโกสินทร์ สืบเนื่องมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการจัดเครื่องบูชาพระหลายแบบ โดยแบบที่เจ้านายและขุนนางนิยมกันมากคือ “โต๊ะกิมตึ๋ง” หรือเครื่องบูชาอย่างจีนแกมไทย ที่ฮิตถึงขั้นจัดประกวดประขันกันในสมัยรัชกาลที่ 5

โต๊ะเครื่องบูชา ม้าหมู่ โต๊ะกิมตึ๋ง
โต๊ะเครื่องบูชาอย่างม้าหมู่ในหอพระสุลาลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง (ภาพจากเว็บไซต์ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เครื่องบูชาพระ 3 ประเภท ในสยาม

บทความ “‘อธิบายเครื่องบูชา’ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” เรียบเรียงโดย ดุษฎี ชัยเพชร เล่าว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง “อธิบายเครื่องบูชา” กล่าวถึงประเภทเครื่องบูชาในสยามว่า มีด้วยกัน 3 ประเภท คือ เครื่องบูชาอย่างไทย เครื่องบูชาอย่างไทยแกมจีน หรือ “ม้าหมู่” และเครื่องบูชาอย่างจีนแกมไทย หรือ “โต๊ะจีน”

Advertisement

ประเภทแรก เครื่องบูชาอย่างไทย แบ่งได้เป็น 3 อย่าง ดังนี้

เครื่องนมัสการของหลวง เรียกว่าเครื่องทองทิศ ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงบูชาพระรัตนตรัยในงานพระราชพิธี มีเตียงทองตั้งเชิงเทียนแถวหนึ่ง 5 เชิง เชิงธูปแถวหนึ่ง 5 เชิง พานข้าวตอกแถวหนึ่ง 5 พาน พานดอกไม้แถวหนึ่ง 5 พาน

เครื่องห้า สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงบูชาเวลาทรงสดับพระธรรมเทศนา มีเชิงเทียน 2 กระถางปักธูป 1 กรวยปักดอกไม้ 5 กรวย ตั้งในพานทองลงยาราชาวดี

เครื่องทองน้อย สำหรับพระมหากษัตริย์บูชาเฉพาะอย่าง เช่น พระบรมอัฐิ มีเชิงเทียน 1 เชิงธูป 1 กรวยปักดอกไม้ 3 กรวย ตั้งในพานทองลงยาราชาวดี

ประเภทที่ 2 คือ เครื่องบูชาอย่างไทยแกมจีน หรือ “ม้าหมู่”

เหตุที่เรียกว่าเครื่องบูชาอย่างม้าหมู่ เพราะความคิดที่จัดเป็นเครื่องบูชาเป็นความคิดอย่างไทย แต่กระบวนการที่จัดเอาอย่างมาจากจีน โดยประยุกต์เอาเครื่องเรือนอย่างจีน หรือที่เรียกว่า “ลายฮ่อ” และลายแจกัน เครื่องถ้วยชามอย่างจีน เรียกว่า “ลายปักโก๊” ที่สวยงามมาใช้

กรมดำรงทรงระบุว่า ตามตำนานกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสร้างสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งช่วงนั้นราชทูตไทยเดินทางไปเมืองปักกิ่ง และได้เครื่องแต่งเรือนอย่างจีนกลับมาจัดและตกแต่งพระตำหนักในสวนขวา เกิดความนิยมกันมากขึ้น

กระทั่ง พ.ศ. 2391 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระองค์มีพระราชดำริให้จัดสร้างม้าหมู่ขึ้น โดยดัดแปลงตามเครื่องฮ่อ ใช้สำหรับตั้งเครื่องบูชาหน้าพระประธานในพระอุโบสถ เป็นม้าหมู่ขนาดใหญ่ และสำหรับตั้งเครื่องบูชาที่ตั้งประจำวิหารทิศ เป็นม้าหมู่ขนาดน้อย

ต่อมาจึงนิยมเอาแบบอย่าง จัดโต๊ะเครื่องบูชาอย่างม้าหมู่สำหรับใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป และมีโต๊ะประกอบที่ตั้งเครื่องบูชาในการทำบุญโอกาสต่าง ๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายในสมัยนั้น

เครื่องบูชาอย่างม้าหมู่ที่ใช้สำหรับเป็นที่ตั้งพระพุทธรูปประกอบเครื่องบูชา หรือใช้เป็นเครื่องประดับ จะต้องถือว่าที่ตั้งพระเป็นสำคัญ เหลือพื้นที่เท่าไหร่จึงจัดเครื่องบูชาเข้าตั้งประกอบ เช่น เชิงเทียนเครื่องปักดอกไม้ เป็นต้น

โต๊ะกิมตึ๋ง
โต๊ะกิมตึ๋ง (ภาพจากเว็บไซต์ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“โต๊ะกิมตึ๋ง” เครื่องบูชาอย่างจีนแกมไทย

ประเภทที่ 3 คือ เครื่องบูชาอย่างจีนแกมไทย หรือเรียกว่า “เครื่องบูชาอย่างโต๊ะจีน” เพราะเป็นแบบเครื่องบูชาของจีนและไทยเอามาคิดประกอบกัน ดัดแปลงใช้ตั้งเป็นอย่างเครื่องบูชาไทย ไม่เหมือนกับที่จีนตั้ง

กรมดำรงทรงอธิบายว่า เครื่องบูชาอย่างโต๊ะจีน ใช้ตั้งบนโต๊ะสูง แบ่งเป็น 2 โต๊ะต่างกัน คือ โต๊ะเครื่องบูชา 1 โต๊ะ โต๊ะเครื่องเซ่น 1 โต๊ะ ตั้งด้วยกันบ้าง ตั้งแยกกันบ้าง

โต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีน ซึ่งมาจัดเป็นอย่างไทย เริ่มมีขึ้นเมื่อครั้งฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พ.ศ. 2391 ในคราวเดียวกับที่มีเครื่องบูชาอย่างม้าหมู่

ภายหลังเมื่อเกิดความนิยมอย่างมาก พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก ต้นสกุล “โชติพุกกณะ”) จึงทูลขอให้กรมขุนราชสีหวิกรมทรงทำแบบอย่าง แล้วสั่งเครื่องโต๊ะเข้ามาขายเป็นชุดๆ เรียกว่า “โต๊ะกิมตึ๋ง” ตั้งแต่นั้นมาการตั้งโต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีนแกมไทย ก็ได้กลายเป็นแบบแผนและใช้เครื่องถ้วยมาโดยตลอด

ถึงรัชกาลที่ 5 พระองค์โปรดเครื่องอย่างโต๊ะจีน เมื่อมีงานหลวงก็ทรงให้จัดตั้งโต๊ะเครื่องบูชาประกวดอยู่บ่อยครั้ง และมีพระราชดำริตั้งแบบแผนเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง

เกณฑ์การพิจารณาในการประกวด ได้แก่ เครื่องบูชาที่ตั้งเป็นของเก่าของงามประกอบกัน ถือว่าดีกว่าของใหม่หรือของเก่าแต่ไม่งาม ควรตั้งเครื่องบูชาประเภทเดียวกันหรือลายเดียวกันทั้งโต๊ะ ถ้าตั้งลายต่างกัน เรียกว่า “จับฉ่าย” ก็ได้ แต่ก็ต้องต่างกันหมดทั้งโต๊ะ ให้ซ้ำกันได้เพียงลายละ 2 ชิ้น

ส่วนเครื่องบูชาต้องไม่ขาดธูปเทียน และต้องไม่ขาด “ชิ้นหลักโต๊ะ” กับทั้งต้องเลี่ยม ต้องมีกี๋หย่องรอง ตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 5 มีช่องไฟให้เห็นเครื่องบูชาชัดไม่บังกัน และจัดให้สวยงามเหมาะสม

ปัจจุบัน การจัดเครื่องบูชาพระทั้ง 3 ประเภท ถือว่าหาชมได้ยากยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดุษฎี ชัยเพชร, ผู้เรียงเรียง. “‘อธิบายเครื่องบูชา’ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ”. เว็บไซต์สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กันยายน 2567