ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปกติแล้วหากอ้างอิงตำราโบราณของพราหมณ์ “น้ำอภิเษกและน้ำสรงมุรธาภิเษก” จะต้องเป็นน้ำที่มาจาก “ปัญจมหานที” หรือแม่น้ำสำคัญ 5 สาย ประกอบด้วย แม่น้ำคงคา, แม่น้ำยมุนา, แม่น้ำมหิ, แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู โดยมีความเชื่อว่าแม่น้ำทั้งหมดนี้ไหลมาจากเขาไกรลาส ซึ่งในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงเป็นที่สถิตของพระอิศวร
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดีย และปรากฏพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งต้องมีน้ำอภิเษกและน้ำสรงมุรธาภิเษกเช่นกัน ในสมัยอยุธยาปรากฏหลักฐานการใช้น้ำสรงมุรธาภิเษก จากน้ำในสระเกษ สระแก้ว สระคา สระยม ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี
น้ำอภิเษกและน้ำสรงมุรธาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์เอามาจากที่ใด?
ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏการใช้น้ำจากสระทั้ง 4 สระในแขวงสุพรรณบุรี เหมือนในอยุธยา ทั้งยังเพิ่มแม่น้ำสำคัญ 5 สายหลักในการทำพิธีเข้ามา เรียกรวมกันว่า “เบญจสุทธคงคา” ได้แก่…
1. น้ำในแม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก
2. น้ำในแม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี
3. น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง
4. น้ำในแม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม
5. น้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี
สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีการใช้น้ำเบญจสุทธคงคาและน้ำจาก 4 สระในแขวงเมืองสุพรรณบุรีดังเดิม ทว่าต่อมาก็ได้เพิ่มน้ำปัญจมหานทีเข้ามาอีกตามตำราพราหมณ์ หลังจากที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2415
สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังใช้น้ำเหมือนสมัยรัชกาลที่ 5 ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชใน พ.ศ. 2454 รวมถึงนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากทั่วประเทศมาตั้งพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ ที่มหาเจดีย์สถานหลักของพระมหานครโบราณ 7 แห่ง รวมถึงตามมณฑลต่าง ๆ
ทั้ง 7 แห่งนี้ ได้แก่
1. พระพุทธบาท มณฑลกรุงเก่า
2. พระวิหารพระพุทธชินราช
3. วิหารวัดพระพุทธมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก
4. พระปฐมเจดีย์ เมืองนครไชยศรี
5. วัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช
6. วัดพระธาตุหริภุญไชย เมืองนครลำพูน
7. พระธาตุพนม วัดพระธาตุพนม เมืองนครพนม
ส่วนมณฑลต่าง ๆ ทั้ง 10 มณฑล มีดังนี้… มณฑลนครสวรรค์, มณฑลเพชรบูรณ์, มณฑลนครราชสีมา, มณฑลอีสาน, มณฑลปราจีนบุรี, มณฑลจันทบุรี, มณฑลปัตตานี, มณฑลภูเก็ต, มณฑลชุมพร และมณฑลราชบุรี ซึ่งแต่ที่ก็จะทำพิธีเสกน้ำในสถานที่สำคัญของตนเอง
เข้าสู่สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว น้ำสรงมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชภิเษก ก็จะตักน้ำและทำพิธีเสกน้ำทำน้ำอภิเษกตามหัวเมืองมณฑลต่าง ๆ เหมือนสมัยรัชกาลที่ 6 แต่เพิ่มมาอีกหนึ่งแห่งคือ พระธาตุช่อแฮ จ. แพร่ เป็น 18 ที่
ในสมัยรัชกาลที่ 8 ไม่ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ส่วนในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ใช้น้ำแหล่งเดียวกับรัชกาลที่ 7 แต่เปลี่ยนจากพระธาตุช่อแฮ เป็น พระธาตุแช่แห้ง จ. น่าน
มาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้นำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ถวายเป็นน้ำสรงอภิเษก ประกอบด้วยน้ำจาก 3 แหล่งสำคัญด้วยกัน ซึ่งเป็นครั้งแรกในรัชสมัย ได้แก่ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามโบราณราชประเพณี แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รวมถึงแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเลื่อมใส อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง รวม 107 แห่ง ด้วยกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในประวัติศาสตร์ไทย
- “ผู้ถวายน้ำอภิเษก” ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
- ทำไมรัชกาลที่ 6 “น้ำตาไหลอาบหน้า” ขณะสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กันยายน 2567