รู้จัก “จีนซัวบ้วย (ไหฮง)” จีนที่คนแต้จิ๋วไม่ยอมรับว่าเป็นพวกเดียวกัน เป็นใครมาจากไหน?

แต้จิ๋ว จีนซัวบ้วย (ไหฮง)
บรรยากาศการกินเลี้ยงโต๊ะในศาลเจ้าบรรพชนประจำตระกูลแซ่แห่งหนึ่งในเมืองแต้จิ๋ว (ถ่ายภาพโดย เหยาสือหง ภาพจากหนังสือเกร็ดวัฒนธรรมแต้จิ๋ว, พิมพ์ครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยซัวเถา, 2004)

ชาติพันธุ์จีนที่คนไทยรู้จักหรือคุ้นเคย เราอาจนึกถึง แต้จิ๋ว ฮากกา ไหหลำ ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง บางคนอาจรู้จักถึงจีนฮ่อ (จีนยูนนาน) รวมไปถึงตันกา แต่ถ้าพูดถึง จีนซัวบ้วย (ไหฮง) หลายคนอาจสงสัยว่าเป็นใคร มาจากไหน มีถิ่นฐานกำเนิดอยู่ที่ใด และเกี่ยวข้องอะไรกับจีนแต้จิ๋ว ถึงขั้นมีความคิดที่ว่าคนจีนแต้จิ๋วไม่ยอมรับคนซัวบ้วยเป็นพวกเดียวกัน?

พ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลเมืองไทยก่อตั้งมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ในภาพเป็นคณะกรรมการชุดแรก (จากซ้าย) คนแรก-แต้โหงวเล้า (อุเทน เตชะไพบูลย์) คนที่ 5-เหียกวงเอี่ยม อดีตนายกสมาคมพาณิชย์จีนแห่งประเทศไทย และประธานมูลนิธิปอเต็กตึ้งคนแรก

“ซัวบ้วยหรือซ่านเหว่ย” แปลว่า ปลายสันทรายชายหาด เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ปรากฏร่องรอยของมนุษย์ตั้งแต่ 6,000 ปีที่แล้ว ในรัชสมัยต่าง ๆ เมืองนี้ก็จะอยู่ในพื้นที่ปกครองแตกต่างกันไป

Advertisement

อย่างในสมัยราชวงศ์โจว ก็อยู่เขตแคว้นหยางโจว สมัยราชวงศ์ฉิน ก็อยู่ในเขตอำเภอกิ๊กเอี๊ย ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกับจีนแต้จิ๋ว หรือบางคนก็กล่าวว่าพื้นที่นี้อยู่ในเขตอำเภอป๋อหลอ

เวลาผ่านล่วงเลยมาในราชวงศ์ฮั่นถึงราชวงศ์จิ้นตะวันตก ก็ได้ยกขึ้นเป็นอำเภอ ด้วยพื้นที่ที่อยู่ติดทะเลใต้อันอุดมสมบูรณ์ จึงตั้งชื่อว่าอำเภอไห่เฟิงหรือไหฮง หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลหรือทะเลอันอุดมสมบูรณ์ ตั้งพร้อมกับอำเภอไหเอี๊ย เตี้ยเอี๊ย ไหเน้ง และซุ่ยอัน

เหตุนี้จึงทำให้เกิดอำเภอใหม่ทั้ง 5 อำเภอ ซึ่งแยกมาจากอำเภอกิ๊กเอี๊ย ได้แก่ ไห่ฮง, ไหเอี๊ย, ไหเน้ง, เตี้ยเอี๊ย และซุ่ยอัน ปัจจุบัน 4 อำเภอแรกล้วนแต่พูดภาษาแต้จิ๋ว จึงทำให้ทราบได้ว่าพื้นที่จีนซัวบ้วยนั้นเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับจีนแต้จิ๋วมาเนิ่นนาน 

แม้ว่าต่อมาจะมีการเคลื่อนย้ายถิ่นของซัวบ้วยให้แยกออกจากกลุ่มแต้จิ๋วบ้าง (ถึงขั้นที่ตอนนั้นชาวแต้จิ๋วนิยมเรียกกลุ่มคนจีนซัวบ้วยว่าชาวไหฮงหรือชาวไหลกฮง และไม่นับเป็นจีนแต้จิ๋ว) ย้ายเข้าไปใหม่บ้าง รวมถึงยกซัวบ้วยให้กลายเป็นจังหวัดขึ้นมา โดยมีการปกครองเป็น 4 ส่วน ได้แก่ เทศบาลซัวบ้วย, อำเภอไหฮง, เมืองลงฮง และอำเภอลกฮ้อ 

แต่จังหวัดซัวบ้วยก็ถือได้ว่า เป็นพื้นที่ปริมณฑลของภาษาและวัฒนธรรมแต้จิ๋ว 

รวมถึงปัจจุบัน แม้จะมีจีนอื่นๆ อพยพเข้ามาในพื้นที่ แต่ซัวบ้วยก็ยังคงพูดแต้จิ๋ว ความรับรู้ของคนทั่วไปจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ซัวบ้วยเป็นส่วนหนึ่งของถิ่นแต้จิ๋ว

นิสัยของคนจีนซัวบ้วย (ไหฮง) เป็นอย่างไร?

เมื่อพูดถึงชาติพันธุ์จีน คงไม่พ้นต้องพูดถึงลักษณะโดดเด่น ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีไม่เหมือนกัน อย่างที่กล่าวไปว่าจีนซัวบ้วยได้รับอิทธิพลจากจีนแต้จิ๋วมาอย่างสูง จึงทำให้มีความคล้ายคลึงกัน แต่ความพิเศษคือคนซัวบ้วยได้สายเลือดของมองโกลรวมอยู่ด้วย

ในหนังสือ “ย้อนรอยค้นรากวัฒนธรรมจีนแต้จิ๋ว แต้จิ๋ว: จีนกลุ่มน้อยที่ยิ่งใหญ่” ของ ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า…

“เนื่องจากสายพันธุ์หลักเป็นจีนแต้จิ๋วแต่มีจีนแคะและกวางตุ้งเข้ามาผสม จีนซัวบ้วยจึงฉลาดหลักแหลมเหมือนจีนแต้จิ๋ว และซึมซับเอาความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของจีนแคะ ความมีไหวพริบของจีนกวางตุ้งเข้ามาผสม ทั้งได้ความดุร้ายของมองโกลเข้ามาเจือ ทำให้เป็นจีนที่เก่งและดุร้ายเป็นที่เลื่องไปทั่ว ถึงกับมีคำกล่าวว่า ‘บนฟ้ามีเทพอสุนีบาต บนดินมีชาวไหลกฮง’”

แล้วทำไม “จีนแต้จิ๋ว” ถึงไม่รับ “จีนซัวบ้วย (ไหฮง)” ให้เป็นพวกเดียวกับตนเอง 

เลี้ยงโต๊ะจีน โต๊ะจีน คนจีน
บรรยากาศการกินเลี้ยงโต๊ะในศาลเจ้าบรรพชนประจำตระกูลแซ่แห่งหนึ่งในเมืองแต้จิ๋ว (ถ่ายภาพโดย เหยาสือหง ภาพจากหนังสือเกร็ดวัฒนธรรมแต้จิ๋ว, พิมพ์ครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยซัวเถา, 2004)

อ. ถาวร ให้เหตุผลไว้ในหนังสือเล่มเดิมว่า…

“ด้วยความองอาจเหี้ยมหาญ ชาวซัวบ้วยร่วมงานกับพรรคคอมมูนิสต์จีนมาตั้งแต่ต้น เพิงไพ่ (พ.ศ. 2439-2472) ชาวอำเภอไหฮงตั้งรัฐบาลคอมมูนิสต์ท้องถิ่นแห่งแรกของจีนที่ไหฮงเมื่อ พ.ศ. 2468 แม้จะอยู่ได้ไม่นานและตัวหัวหน้าถูกก๊กมินตั๋งจับไปสังหารที่เซี่ยงไฮ้ แต่ก็ประกาศศักดิ์ศรีความกล้าสู้กล้าเสี่ยงของจีนซัวบ้วยไว้ในประวัติศาสตร์

ในช่วงประวัติศาสตร์ยุคใกล้ (พ.ศ. 2383-2453) มีจีนซัวบ้วยฝากชื่อเสียงไว้ในประวัติศาสตร์หลายคน เช่น จงจิ้วเหวิน นักคติชนวิทยา (Folklore) ระดับโลก หยางเฉิงจื้อ นักชาติพันธุ์วิทยาระดับชาติ หม่าซือชง นักดนตรีเอกของจีน หลีซีก้าน นักจุลชีววิทยา นอกจากนี้ยังมีคนอื่น ๆ อีก

แต่มาถึงยุคปัจจุบันจีนซัวบ้วยตกต่ำลงมาก จากสถิติปี พ.ศ. 2543 ระดับการศึกษาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของมณฑลกวางตุ้ง คนไม่รู้หนังสือมากถึง 9.78% สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของมณฑลกว้างตุ้ง 1 เท่า ฐานะส่วนมากก็ยากจน เป็นเหตุให้ถิ่นนี้มีอาชญากรรมสูง 

ด้วยนิสัยดุร้ายมีชื่อด้านอาชญากรรม ประกอบกับมีวัฒนธรรมบางประการต่างออกไป ชาวแต้ซัว 3 จังหวัด (ประกอบด้วย แต้จิ๋ว ซัวเถา และกิ๊กเอี๊ย-ผู้เขียน) จึงไม่ยอมรับว่าจีนซัวบ้วยเป็น ‘เตี่ยซัวนั้ง’ หรือ ‘จีนแต้จิ๋ว’ เหมือนพวกตน ถือว่าเป็นชาวไหลกฮง ตามที่เรียกกันมาแต่เดิม” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ถาวร สิกขโกศล. ย้อนรอยค้นราก วัฒนธรรมจีนแต้จิ๋ว แต้จิ๋ว: จีนกลุ่มน้อยที่ยิ่งใหญ่. กรุงเทพฯ: มติชน, 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 สิงหาคม 2567