ภาษาแต้จิ๋ว เคยเป็นภาษาในแวดวงธุรกิจไทย ใครพูดได้เถ้าแก่รับทำงาน

ภาษาจีน ภาษแต้จิ๋ว
โรงเรียน "เผยอิง" โรงเรียนจีนของคนแต้จิ๋ว (ภาพจาก สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ )

หากย้อนกลับไป 50-60 ปีก่อน หรือมากกว่านั้น แวดวงธุรกิจของสังคมไทยจำนวนไม่น้อยใช้ภาษาจีนล้วนๆ หรือภาษาไทยคำจีนคำ ในการสื่อสาร แต่ภาษาจีนที่ว่า ไม่ใช่ภาษาจีนกลางที่กำลังนิยม หากเป็น “ภาษาแต้จิ๋ว” 

อารมณ์เดียวกันกับการพูดไทยคำอังกฤษคำ เป็นเรื่องปกติที่คุ้นเคยในปัจจุบัน ที่บางครั้งภาษาอังกฤษบางคำไม่รู้ความหมายที่แท้จริง จึงขาดความรายละเอียดบางส่วนไป แต่ก็เข้าใจความหมายโดยรวม

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในอดีต (ก่อนสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ จีนแดง ในปี 2492 และปิดประเทศในเวลาต่อมา) ไทยคือประเทศที่มีคนจีนโพ้นทะเลอพยพมามากที่สุดในโลก ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็น “คนจีนแต้จิ๋ว” มากที่สุดด้วย

จึงมีคำ “ภาษาแต้จิ๋ว” จำนวนไม่น้อย ที่ใช้ “พูดไทยคำจีนคำ” ในชีวิตประจำวันกันรู้เรื่องโดยไม่ต้องแปล เช่น ลื้อ, อั๊ว, เจี๊ยะ, แปะเจี๊ยะ, โอวเลี้ยง,หมวย, เถ้าแก่, เฮีย ฯลฯ 

แม้แต่ สุรพล สมบัติเจริญ ครูเพลงชื่อดัง ยุคหนึ่งยังใช้ภาษาจีนแต้จิ๋วมาใส่ไว้ในเนื้อร้องผลงานเพลงของตนเอง ทั้งที่ร้องเอง และให้ ปัทมา ณ เวียงฟ้า ร้องในเพลงแก้ ที่ใส่กลิ่นอายจีนแบบจัดเต็ม ดังนี้ (คำที่ขีดเส้นใต้เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว มี […] อธิบายบางคำที่ไม่คุ้นเคย ภาษาไทยบ้างคำร้องเลียนแบบคนจีน ที่ (…) คำไทย)

เพลง แซ่ซี้อ้ายลื้อเจ็กนั้ง สุรพล สมบัติเจริญ

แซ่ซี้อ้ายลื้อเจ็กนั้ง [เป็นตายก็ต้องการเธอ (สรรพนามบุรุษที่ 2) คนเดียว] เป็ง(เป็น)ตายพี่ก็ยังรักเธอ อาม่วย [คนไทยออกเสียงเพียนเป็น “หมวย-ผู้หญิง, น้องสาว”] ทั้งหลายที่เฮียไล้(ได้)เจอะเจอ ยังไม่สวยเลิศเลอเท่ากับเธอคนเลียว(เดียว) หากแม้ได้น้องมาเป็นคู่ จะพาไปลู(ดู)หนังไทยทุกรอบเชียว ชิวอิกชิวหยี [วัน 1 ค่ำ, 2 ค่ำ ตามจันทรคติจีน] พี่จะพาน้องเที่ยว จะไปไหว้เจ้าเจี้ยวที่เมืองชง(ชล)บุรี

อ่วงกิมเล้ง [ชื่อเรื่องงิ้วและชื่อพระเอกในเรื่อง] ร้องเพลงให้เจ้าฟัง เส็ก(เสร็จ) จากลู(ดู)หนังไปบางแสนดินแดนสุขี ดูพระจันทร์ตกน้ำเมื่อยามราตรีน้องกับพี่คุยกัง (กัน) ที่บนหาดทราย แซ่ซี้อ้ายลื้อเจ็กนั้ง เห็นใจพี่บ้างเปล่าสาวไทย หากแม้ง(แม้)ได้เจ้ามาเป็นคู่ขวัญใจ เฮียจะพาลื้อไปเจี๊ยะ[กิน]ผักบุ้งไฟแดง  (ร้องซ้ำ)

เพลง ม่วยช้ำ (เพลงแก้ แซ่ซี้อ้ายลื้อเจ็กนั้ง)

แซ่ซี้อ้ายอีเจ็กนั้ง [เป็นตายก็ต้องการเธอ/เขา (สรรพนามบุรุษที่ 3) คนเดียว] ฟังเพลงแล้วม่วยก็นั่งเสียใจ ทำไรหนอเฮีย เฮียจึงจะมีเมียไทย ม่วยเกี้ย [หญิงสาว/น้องสาว] ถมไป ทำไมลื้อไม่ยิงลี(ยินดี) ยิ่งฟังก็ยิ่งช้ำใจทำไรลื้อแหวกประเพณี แอบพาสาวๆ ไปไหว้เจ้าชง(ชล)บุรี แล้วยังพาเธอหนี ไปเที่ยวบางแสนหาดทราย

อ่วงกิมเล้ง ฟังเพลงแล้วยิ่งปวดใจ อั้วจะชีช้ำตาย ลื้อไปบางแสนลิงแลง(ดินแดน)สุขขี ดูพระจันทร์ตกน้ำอั้วชีช้ำช้ำลือลี(ฤดี) ปีกลายนี้เฮียกับม่วยเคยไปล้วย(ด้วย)กัน แซ่ซีอ้ายอีเจ๊กนั้ง ฟังเพลงแล้วม่วยก็ยิ่งรำคาญ ลื้อจะมีเมียไทย อั้วก็ไม่หมายผูกพัน วันไหนเฮียแต่งงานวันนั้นอั้วมีผัวไทย

(บทพูด) เฮียโอ้ยหม่วยเกี้ยเงี่ยๆ [เฮียขาน้อง/สาวสวยๆ] อังเจี้ยแซ [แบบ/ขนาดนี้แล้ว] ลื้อจ๊อหนี่ม่าย [ทำไมพี่ยังไม่เอา] ลื่อคื้อเสียะฮวงนั้ง [เฮีย/เธอไปรักคนไทย] ถ้าอาเฮียโบ่ยเสียะอั่ว [เฮียไม่รักฉัน] อั้วไอ๊คื้อเถียวจุ๋ยซี่เหลี่ยวโอ้ย [ฉันจะไปกระโดดน้ำตาย]

อ่วงกิมเล้งฟังเพลงแล้วยิ่งปวดใจ อั้วจะชีช้ำตาย ลื้อไปบางแสนลิงแลง(ดินแดน)สุขขี ดูพระจันทร์ตกน้ำอั้วชีช้ำช้ำลือลี(ฤดี) ปีกลายนี้เฮียกับม่วยเคยไปล้วย(ด้วย)กัน แซ่ซีอ้ายอีเจ๊กนั้ง ฟังเพลงแล้วม่วยก็ยิ่งรำคาญ ลื้อจะมีเมียไทย อั้วก็ไม่หมายผูกพัน วันไหนเฮียแต่งงานวันนั้นอั้วมีผัวไทย

เพลง ยิกเท้าเหลาะซัว  (ครูสุรพล ร้องแก้เพลง ม่วยช้ำ)

แสง(แสน)ที่จะปวดใจ ไล้(ได้)ฟังเพลงม่วยคร่ำครวญมา ลื้อต่าอั๊วอายอีเจ๊กนั้ง [เธอบอกว่าฉัน/เฮียต้องการเขาคนเดียว] เฮียไล้(ได้)ฟังแล้วกลุ้มก็อุรา ม่วยจ๋าเฮียแกล้งลองใจ ม่วยจ๋าเฮียแกล้งลองใจ บ่เซียงกังม่วยเกี้ย [ไม่เป็นไรหรอกน้อง] ลื้อเสี่ยงเงี่ยเงี่ย [เธอแสนสวย] กว่าใครๆ อั้วเทียลื้อไอคื้อเถี่ยวจุ๋ยซี่ [เฮียได้ยินว่าเธอจะได้โดดน้ำตาย] บอกอั๊วซี(สิ)ม่วยเจียก(เจ็บ)ตรงไหน ม่วยโอ๊ย[น้องจ๋า]อั๊วกลุ้มใจแทน ม่วยโอ๊ยอั้วกลุ้มใจแทน

ลืมลืมมัง(มัน) ลืมคืนพระจันทร์ตกน้ำ ลืมเสียเถิดความช้ำ หง(หน)หลังครั้งอยู่บางแสน ลู(ดู)อาทิตย์ตกดินสวยกว่ายังมีสีแลง(แดง) ลืมคืนแห่งความช้ำอัง(อัน)แสนอดสู นับตั้งแต่วันนี้เราคืนลี(ดี)กันเสียเถิดแม่หลู(หนู) ครั้นเมื่อถึงตอนเย็ง(เย็น) หลักเตี่ยมปั่วอั๊ว [หกโมงครึ่ง (เวลา 6.30 น. หรือ 18.30 น. ก็ได้)] จะพาไปลู(ดู) ไปลู(ดู) ยิกเท้าเหลาะซัว[ดวงอาทิตย์ ลับเหลี่ยมเขา] ไปลู(ดู) ยิกเท้าเหลาะซัว (ร้องซ้ำ)

ยิกเท้ายิกเท้าเหลาะซัว ยิกเท้ายิกเท้าเหลาะซัว ยิกเท้ายิกเท้าเหลาะซัว

เพลง ม่วยหายช้ำ 

แสนชื่นฉ่ำลวง(ดวง)ใจ เมื่อฟังเพลงยิกเท้าโหละซัว ลื้ออ่ายอั้วเจ็กนั้ง [พี่ต้องการฉันคนเดียว] ม่วยล่ายฟังม่วยหายปวก(ปวด)หัว หลงมัวช้ำใจพ่อคุง(คุณ) หลงมัวช้ำใจพ่อคุง ลื้อก็ตึ่งหนั่งเกี๊ยะ[ลูกคนจีน] ม่วยของเฮียก็ตึ่งหนั่งซุง [หลานคนจีน] ถึงลื้อจะบ่จี้ [ไม่มีเงิน] แซ่ซี้ม่วย [เป็นหรือตายหมวย/น้อง] ก็จะช่วยอุดหนุน ช่วยคุง(คุณ)ช่วยคุง(คุณ)ทำกิน

เฮียขายจี่ชัง[แห้ว] อั๊วนั้นจะขายเต้าฮวย เราสองช่วยกัง(กัน)ขาย ไล่เงินมาไปฝากออมสิง(ออมสิน) พอถึงปีไหว้เจ้าเป็ก(เป็ด)ไก่ไม่ต้องขอใครกิง(กิน) มีลูกชายหญิง เอาไว้ใช้เมื่อแก่ชรา นับตั้งแต่วันนี้ เราคืนลี(ดี) กันเสียเถิดเฮียจ๋า ครั้งเมื่อถึงตอนเย็น หลักเตี่ยมปั่วอั้วจะเฝ้าตั้งตา คอยลู(ดู) ยิกเท้าเหลาะซัว คอยลู(ดู) ยิกเท้าเหลาะซัว (ร้องซ้ำ)

หรือหากย้อนไปไกลกว่านั้น การรู้ภาษาแต้จิ๋ว เทียบได้กับการรู้ภาษาอังกฤษในปัจจุบัน ทำให้มีโอกาสที่จะได้งานหรือเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น เพราะป็นภาษาที่ใช้ในแวดวงธุรกิจ ซึ่งเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลหรือชาวไทยเชื้อสายจีน

จึงมีแบบเรียนหัดพูดภาษาแต้จิ๋วจำนวนมากออกจำหน่าย ทั้งที่เป็นของเอกชน และรัฐบาล ตัวอย่างเช่น แบบหัดพูดภาษาเตี้ยจิว (แต้จิ๋ว) ของหลวงอำนวยจีนพากย์ ที่กรมตำรา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้จัดพิมพ์ เมื่อปี 2468 ที่มียอดพิมพ์สูงถึง 5,000 เล่ม แม้จะเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 2

แต่สังคมก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งปิดโรงเรียนจีนในไทย ความสำคัญของภาษาจีนก็ลดลงตามลำดับ ไม่ใช่แค่คนไทยที่ไม่สนใจหัดภาษาแต้จิ๋วอีกแล้ว แม้แต่ลูกหลานคนจีนเองก็ยังพูดไม่ได้ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มกราคม 2567