“ผ้าขาวม้า” จีนโพ้นทะเลมาเมืองไทย เอาไปเผยแพร่ที่บ้านเกิด

ชาวจีนก็ใช้ผ้าขาวม้าคาดพุงเช่นกัน (ภาพจาก www.sohu.com)

การแลกเปลี่ยนหยิบยืมสิ่งของ, ภาษา, เครื่องของคนแต่ละชาติ มีให้เห็นอยู่เป็นปกติ ส่วนใหญ่เราจะเห็นว่าไทยยืมจีนมาใช้หลายอย่าง เช่น กะทะเหล็ก, ก๋วยเตี๋ยว, ซีอิ๊ว ฯลฯ แต่จริงๆ ที่จีนยืมไทยมาใช้ก็คงมีไม่น้อย ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือ ผ้าขาวม้า

เกี่ยวกับเรื่องนี้อาจารย์ถาวร สิกขโกศล นักวิชาการจีนวิทยาเคยเขียนถึงการเดินทางของผ้าขาวม้าไว้ว่า

ในบรรดาอัตลักษณ์หรือลักษณะภายนอกที่เห็นได้ง่ายๆ อันแสดงถึงความเป็นจีนแต้จิ๋ว นอกจากกังฮูเต๊ (การชงชาแบบแต้จิ๋ว) และน้ำปลาแล้ว ก็ยังมี “ผ้าขาวม้า” ร่วมอยู่ด้วย

ผ้าขาวม้า ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “จุ๋ยโป่ว(水布)-ผ้าผลัดอาบน้ำ” หรือ “เอ็กโป่ว (浴 布)-ผ้าอาบน้ำ)” คนจีนรับไปจากคนจีนโพ้นทะเลในเอเชียอาคเนย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย คนแต้จิ๋วนิยมใช้ผ้าขาวม้ามากกว่าจีนแคะ กวางตุ้งและฮกเกี้ยน จนกลายเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งจนมีคำกล่าวในภาษาแต้จิ๋วพูดถึงคนจะมาเมืองไทยว่า

“ปั๊กเชียะคา ห่าเอ็กโป่ว ปี่ฉี่น้า ขื่อเสี่ยมล้อ-เพียงตีนเปล่า คาดผ้าขาวม้าสะพายตะกร้า ไปสยาม” [เน้นโดยผู้เขียน]

นอกจากนี้ยังมีเพลงพื้นบ้านที่บรรยาภาพคนแต้จิ๋วที่จะจากบ้านมาโพ้นทะเลว่า

“เจ็กโคยหมักจับเจ็กจุ่งนั้ง-น้ำตาไหลเป็นแม่น้ำ คน(เต็ม)หนึ่งลำเรือ

เจ็กเตี่ยวเอ็กโป่วขื้อก้วยฮวน-ผ้าขาวม้า(คนละ)ผืนไปถิ่นโพ้นทะเล

จี่งึ้งไจเกี่ยนั่งไจจ้วง-ขอจงส่งเงินมา คนอย่าลืมกลับมาบ้าน

ไม่บ่วงเป่บ้อกั่งชีปั๊ง-อย่าลืมพ่อแม่และเมียทางบ้าน” [เน้นโดยผู้เขียน]

ผ้าขาวม้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแต้จิ๋วที่รับไปจากเมืองไทยจนกลายเป็นอัตลักษณ์ที่รับรู้กันทั่วไป เพิ่งจะเสื่อมความนิยมไปเมื่อจีนเปิดประเทศในปี พ.ศ. 2520 ปัจจุบันยังพอมีให้เห็นบ้างในชนบท

แล้วคนไทยเอง รู้จัก หรือใช้ผ้าขาวม้ากันมาตั้งแต่เมื่อไหร่

“ผ้าขาวม้า” ในภาพจิตรกรรม ฝาผนังหอไตรสมัยวัดระฆังโฆษิตาราม

อเนก นาวิกมูล ตามเก็บเอกสาร, ภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับผ้าขาวม้าเขียนไว้อย่างดีว่า เอกสารเก่าสุดที่มีคำว่าผ้าขาวม้าเท่าที่สามารถค้นได้คือ “เพลงยาวพระอาการประชวรกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ”  ซึ่งคาดว่าคุณสุวรรณ เป็นผู้เขียนเมื่อ พ.ศ. 2386 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งตอนหนึ่งเขียนว่า

“พอเคลื่อนคลายหายพระโรคที่โศกเศร้า

พวกเข้าเฝ้าปรีด์เปรมเกษมศรี  

ต่างตัดผมห่มผ้าขาวม้าดี

ยั่นตระหนี่ไปกลอยหนาทั้งผ้าบาง…” [เน้นโดยผู้เขียน]

คำว่า “ผ้าขาวม้า” ข้างต้นจะอ่านแยกป็น ผ้าขาว, ม้าดี คงไม่ได้ความ อย่างไรเสียก็ต้องอ่านว่าผ้าขาว  ผ้าขาวม้าในเพลงยาวนี้จึงถือเป็นหลักฐานสำคัญหนึ่ง

พจนานุกรมเก่าอย่าง “สัพะ พะจะนะ พาสา ไท” ของสังฆราชปาเลอกัว พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2395-97 อธิบายคำว่า ผ้าขาวม้า เป็นภาษาอังกฤษสั้นๆ ว่า “ผ้าขาวม้า- amict, belt”

“อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2411 อธิบายคำว่า “ผ้าขาวม้า” ว่า “ผ้าขาวม้า, คือ ผ้าท่อนสั้นพอนุ่งอาบน้ำได้, โจงกระเบนไม่ถึงนั้น”

นอกจากนี้ยังพบ “ผ้าขาวม้า” ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาอีกหลายเล่ม เช่น  ราชกิจจจานุเบกษาเล่ม 1 ออกเมื่อ พ.ศ. 2417 หน้า 192 ลงข่าวการชำระความเรื่องฆ่ากันที่นครเขื่อนขันธ์หรือพระประแดง อำแดงแสงฟ้องกล่าวโทษอำแดงพึ่งกับพวกว่าบังอาจพากันกลุ้มรุม “เอาผ้าขาวม้าผูกคออำแดงแสง ฉุดลาก เอามือเอาเท้าเตะตีถีบตบมีบาดแผลฟกบวมหลายแห่ง” [เน้นโดยผู้เขียน]

หน้า 307 ลงข่าวว่าเกิด เพลิงไหม้ที่โรงก๊าดหรือโรงแก๊ส นายปุ่นไฟร่หลวงถูกนายใช้ให้ไปเติมน้ำมันในหม้อก๊าด เกิดเพลิงไหม้ขึ้นเพราะลมราวตรงตะเกียง “นายปุ่นอินเยอเนียเอาผ้าขาวม้าไปฟาดก็หาดับไม่ กลับติดมากขึ้น” [เน้นโดยผู้เขียน]

ข่าวในหนังสือพิมพ์สยามไมตรี ฉบับวันอังคารที่ 15 มีนาคม ร.ศ. 116 หน้า 195  (ถ่ายไมโครฟิลม์จากหอสมุดแห่งชาติ) ลงรายงานเรื่องสินค้าในกรุงสยาม ของราชทูตอเมริกันว่า ในเวลานี้กรุงเทพฯ มีห้างร้าน ธนาคาร ฯลฯ แต่ห้างร้านส่วนใหญ่นั้นเคยขายตากับยุโรป สินค้าจากอเมริกาจึงยังใคร่มี ท่านว่าผ้าจากอเมริกายังน้อยกว่าอังกฤษ เชือกป่านก็มาจากอังกฤษผ้าสีต่างๆ ก็มาจากอังกฤษ

ผ้าขาวม้า ผ้าลาย ผ้าสโร่ง ผ้าเช็ดหน้า มาจากเมืองอังกริษโดยมากฝ่ายเมืองซวิตเซอแลนด์ก็ส่งผ้าลานเข้ามามากเกือบ เท่าอังกริษ…” [เน้นโดยผู้เขียน]

นอกจากนี้ยังปรากฏผ้าขาวม้าในงานจิตรกรรมด้วย

จิตรกรรมเก่าแก่สุดที่มีภาพคนนุ่งผ้าขาวม้า ได้แก่ จิตรกรรมบนฝาผนังหอไตรสมัยวัดระฆังโฆษิตาราม สมัยรัชกาลที่ 1 ที่  ในหนังสือ “พระอาจารย์นาค จิตรกรรมยุคสร้างบ้านแปงเมือง” ของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พ.ศ. 2530) นอกจากนี้ยังมีผ้าขาวม้าในภาพจิตรกรรมอื่น เช่น ที่วัดสุทัศนดทพวราราม, วัดสุวรรณาราม ฯลฯ

ผ้าขาวม้า ที่เรารู้จักและใช้กันเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ ก็มีเรื่องเล่าดังนี้

 


ข้อมูลจาก :

ถาวร สิกขโกศล. แต้จิ๋ว: จีนกลุ่มน้อยที่ยิ่งใหญ่, สำนักพิมพ์มติชน 2554

เอนก นาวิกมูล. ข้าวของในอดีต, สำนักพิมพ์ข้าวของในอดีต 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2561