รัชกาลใดทรงยกเลิกการยิงกระสุน หลังชาวบ้านถูก “ยิงตาแตก” เมื่อแอบมองพระเจ้าแผ่นดิน?

ขุนนางแขก ยิงตาแตก
ขุนนางแขก อยู่ในขบวนพยุหยาตราพระกฐินบกครั้งกรุงศรีอยุธยา (ภาพคัดลอกจากผนังอุโบสถ วัดยม พระนครศรีอยุธยา)

เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินยังสถานที่ใด ก็จำเป็นต้องมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เป็นธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หากเจ้าพนักงานพบเห็นเหตุที่อาจนำสู่อันตรายต่อพระมหากษัตริย์ก็จะต้องรีบดำเนินการ เช่น ยิงกระสุนใส่ (ไม่ใช่กระสุนอาวุธปืน) ดังปรากฏเหตุราษฎรถูกยิงตาแตก แล้วพระมหากษัตริย์รัชกาลใดที่ทรงยกเลิกการยิงกระสุน?

เหตุ “ยิงตาแตก” สมัยรัชกาลที่ 2

เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จพระราชดำเนินกลับจากพระราชทานพระกฐินยังวัดหนังและวัดนางนอง ระหว่างทางทรงได้ยินเสียงผู้หญิงร้องทุกข์ถวาย ความว่า เจ้าพนักงานในเรือดั้งเอากระสุนยิงถูกดวงตาจนแตก

เมื่อพระองค์ทรงได้ยินเช่นนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “หลวงทิพเนตร” เจ้ากรมหมอสำหรับรักษาจักษุโรค ซึ่งลงประจำอยู่ในเรือพระที่นั่งไปดูอาการและรักษา

หลวงทิพเนตรไปตรวจอาการ แล้วกลับมาเข้าเฝ้าฯ กราบทูลรัชกาลที่ 2 ว่า กระสุนยิงเข้าดวงตาจนแตกตามที่ร้องทุกข์ถวาย พระองค์จึงพระราชทานเงินตรา ผ้านุ่ง ผ้าห่ม เป็นการทำขวัญราษฎรรายนั้น

จากนั้น โปรดให้มีพระราชบัญญัติห้ามเจ้าพนักงานในเรือ ทั้งเจ้าพนักงานประตูหน้า ประตูหลัง เรือดั้ง เรือพระที่นั่ง เอากระสุนยิงใส่ราษฎร หากเจอผู้ที่ปฏิบัติตนไม่เรียบร้อยก็ให้เพียงโบกมือห้าม หรือเงื้อกระสุนที่พกไว้ตามธรรมเนียมขึ้นมาเป็นการปรามก็พอ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

รัชกาลใดยกเลิกการยิงกระสุน?

เมื่อถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบว่ายังมีเหตุยิงกระสุนอยู่ จึงทรงประกาศซ้ำ ปรากฏเป็น “ประกาศยกเลิกการยิงกระสุนและอนุญาตให้ราษฎรเฝ้าได้ในทางเสด็จพระราชดำเนิร” ในประชุมประกาศรัชกาลที่ 4

พระองค์ยังทรงปรับเปลี่ยนธรรมเนียมการเฝ้ารับเสด็จ จากเดิมที่เสด็จฯ ทางสถลมารค (ทางบก) และทางชลมารค (ทางน้ำ) เจ้าพนักงานจะไล่ราษฎรไม่ให้อยู่ใกล้ทางเสด็จฯ และให้ปิดประตูทุกบานให้หมด ทรงเห็นว่า การกระทำเช่นนี้ไม่ได้ช่วยป้องกันอันตราย ทั้งยังเป็นโทษ เพราะพระองค์ไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นราษฎรที่เคยเข้าเฝ้าฯ มาก่อน

“จึงโปรดให้มีประกาศห้ามว่าตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าเสด็จพระราชดำเนิรไปทางสถลมารคทางชลมารค ก็อย่าให้กรมเมืองนายอำเภอและกรมไพร่หลวงที่ไปนั่งกองจุกช่องล้อมวง ไล่ราษฎรชาวบ้านไปไกลเลย และอย่าให้ปิดประตูบ้านและประตูโรงประตูร้านประตูเรือนประตูแพ ประตูหน้าถังเสียดังแต่ก่อน ให้ราษฎรเจ้าของบ้านเปนผู้ใหญ่ในบ้านในเรือน ออกมาคอยเฝ้ารับเสด็จถวายบังคมให้ทอดพระเนตรเห็น ถ้าทรงรู้จักจะได้ทรงทักทายปราสัยบ้างตามสมควรให้ได้ความยินดี”

ในประกาศยังระบุอีกว่า เมื่อใกล้จะเสด็จฯ แล้ว ให้เจ้าของบ้านเรือนหรือเจ้าของร้านคอยตรวจตรา อย่าให้คนเมาและคนเสียจริตอยู่ที่หน้าบ้านเรือนหรือหน้าร้าน หากไม่ไปก็ให้จับตัวส่งให้กรมเมือง

ถ้าเสด็จฯ ทางชลมารค ให้เจ้าของบ้านเรือนหรือเจ้าของแพออกมานั่งเฝ้าหน้าบ้านเรือนหรือแพในที่ควรจะหมอบ เพื่อพระเจ้าแผ่นดินจะได้ทอดพระเนตร

“แล้วให้ดูถ้าเห็นกระบวรเสด็จพระราชดำเนิรแล้ว และมีเรือพายขึ้นล่องสวนทางและแข่งกระบวร ก็ให้เจ้าของบ้านเจ้าของเรือนเจ้าของแพบอกให้เรือนั้นจอดเสีย อย่าให้พายสวนพายแข่งพายตัดหน้ากระบวรเสด็จพระราชดำเนิรได้

ถ้าเปนเรือจีนใหม่ เรือแขก เรือฝรั่ง เขาไม่รู้ธรรมเนียมไทยไม่เข้าใจกัน ก็ให้ใช้ใบ้บอกห้ามตามไม่รู้ภาษากัน ถ้าเจ้าของบ้าน เจ้าของเรือน เจ้าของโรงร้าน เจ้าของแพไม่อยู่ ก็ให้บุตรภรรยาออกมารับเสด็จ ดูแลแทนบิดาแทนมารดาแทนผัว”

ในประกาศยังกล่าวถึงชาวต่างชาติที่จะรับเสด็จด้วยว่า หากราษฎรเป็นชาวจีน จะเคารพหมอบกราบอย่างไทยก็ได้ “ฤๅจะลุกขึ้นยืนกุ๋ยเคารพตามอย่างจีนเคารพต่อพระเจ้าแผ่นดินจีนก็ตาม”

ถ้าเป็นแขกหรือฝรั่งแล้วรู้ธรรมเนียมไทย จะนั่งลงเคารพหมอบกราบอย่างไทยก็ได้ แต่ถ้าจะยืนเปิดหมวกก้มศีรษะยกมือทำความเคารพตามจารีตธรรมเนียมของตนก็ได้

“อย่าให้ข้าราชการในกระบวรเสด็จพระราชดำเนิร และกรมเมืองนายอำเภอนั่งจุกช่องล้อมวง และราษฎรชาวบ้านที่ออกมานั่งคอยเฝ้ารับเสด็จ ห้ามปรามว่ากล่าวขืนใจคนนอกประเทศซึ่งพอใจจะเคารพรับเสด็จ ตามจารีตของตัวๆ นั้น ให้นั่งหมอบลงเคารพกราบอย่างไทยเลย จงไต่ถามเสียให้รู้กิริยาคนนอกประเทศ แล้วจงยอมให้คนนอกประเทศได้เคารพตามใจจารีตที่เคยนับถือนั้นเถิด”

ประกาศนี้จะเห็นได้ว่า รัชกาลที่ 4 ทรงปรับธรรมเนียมการรับเสด็จให้สอดคล้องกับสภาพสังคมสยามสมัยนั้น ที่มีชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อและค้าขายมากขึ้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาค 3. “ประกาศยกเลิกการยิงกระสุนและอนุญาตให้ราษฎรเฝ้าได้ในทางเสด็จพระราชดำเนิร”. เข้าถึงเมื่อ 15 สิงหาคม 2567.

ร.4 ประกาศปรับเปลี่ยนการเฝ้ารับเสด็จฯ เหตุชาวบ้านแอบมองกษัตริย์จนถูกยิงตาแตก!


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2567