เผยแพร่ |
---|
กระบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ทางสถลมารคก็ดี ทางชลมารคก็ดี จะต้องมีการเตรียมอารักขาถวายความปลอดภัยเป็นเรื่องปกติมีสืบมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา หากเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคจะต้องมีกองม้ารักษาการนำริ้วขบวนตรวจทางไปก่อนที่ขบวนเสด็จฯ จะผ่าน ส่วนการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคจะมีเรือตรวจการณ์คอยอารักขาถวายความปลอดภัยเช่นกัน หากมีเรือตัดหน้ากระบวนเสด็จฯ หรือมีเรือล่องสวน แข่ง หรือแซงขึ้นมาก็จะต้องโทษตามพระราชอาญา และราษฎรต้องปิดประตูหน้าต่าง ห้ามออกมาเฝ้ารับเสด็จ แต่หากอยู่ใกล้หน้าต่างหรือประตูแล้วเจ้าหน้าที่พบเห็นอันเป็นเหตุต้องสงสัยว่าจะเป็นอันตราย เจ้าหน้าที่ก็จะชักกระสุนยิงใส่ (ไม่ใช่การยิงปืน)
เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ชักกระสุนยิงใส่ราษฎรเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานกฐิน ณ วัดหนังและวัดนางนอง ขณะเสด็จฯ กลับทรงได้ยินเสียงสตรีตะโกนร้องทุกข์ว่า “เจ้าพนักงานในเรือดั้งเอากระสุนยิงถูกดวงจักษุแตก” ดังนั้น รัชกาลที่ 2 จึงดำรัสสั่งให้รอเรือพระที่นั่งแล้วดำรัสสั่งให้หลวงทิพเนตร เจ้ากรมหมอสำหรับรักษาจักษุโรค ไปรักษาสตรีนางนั้น เมื่อไปตรวจดูแล้วหลวงทิพเนตรกลับมากราบทูลว่า “กระสุนยิงถูกดวงจักษุแตกเสียแล้ว”
รัชกาลที่ 2 มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเงินตรา ผ้านุ่งห่ม และเงินทำขวัญให้กับสตรีนางนั้น แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชบัญญัติห้ามเจ้าหน้าที่ในกระบวนเรือเสด็จพระราชดำเนินชักกระสุนใส่ราษฎรอีกต่อไป กระนั้นก็ตามเจ้าหน้าที่ยังคงพกกระสุนไปตามธรรมเนียม แต่ได้ห้ามปรามราษฎรที่ต้องสงสัยให้พอรู้ตัวรู้จักกลัว ด้วยการโบกมือห้ามบ้าง เงื้อกระสุนบ้าง
ภายหลังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ชักกระสุนใส่ราษฎรบ้าง อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ในเรือกระบวนเสด็จฯ นั้นเป็นเจ้าหน้าที่ที่พึ่งมาถวายงานได้ไม่นาน หรือไม่ได้ตามเสด็จฯ บ่อยครั้งจึงไม่ทราบว่ามีข้อห้าม จึงมีประกาศซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า หากราษฎรถูกเจ้าหน้าที่ในกระบวนเรือเสด็จฯ ยิงกระสุนใส่ ให้สืบจนรู้แน่ชัดว่าเป็นเรือลำใดหรือของเจ้ากรมใด ก็ให้มาฟ้องร้องสืบหาข้อเท็จจริงไปตามกฎหมาย หากฝ่ายใดกระทำผิดจริงก็ให้ลงพระราชอาญาตามพระราชกำหนดที่ห้ามไว้ หรือให้ค่าทำขวัญโดยสมควร
รัชกาลที่ 4 ทรงไม่เห็นชอบกับการไล่ราษฎรไม่ให้มารับเสด็จฯ อย่างใกล้ชิด ดังพระราชดำริว่า “…ก็ไล่คนเสียมิให้อยู่ใกล้ทางเสด็จพระราชดำเนิน แล้วให้ชาวบ้านปิดประตูโรงประตูร้าน ประตูหน้าถังเสียหมด ก็มิได้เป็นการที่จะป้องกันอันตรายอย่างไรอย่างหนึ่งได้ ไม่เห็นเป็นคุณเลย เห็นเป็นโทษเป็นหลายประการ…” ทรงมีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรราษฎรที่เคยเฝ้าหรือทรงรู้จักกันมาก่อน อีกทั้งทรงมีพระราชดำริว่า ราษฎรที่เข้าไปอยู่ในอาคารบ้านเรือนตามเส้นทางเสด็จฯ นั้น จะเป็นคนดีหรือคนเสียจริตประการใดที่มาคอยแอบแฝงอยู่ก็ไม่ทราบได้
ดังนั้น รัชกาลที่ 4 จึงออกประกาศ เรื่อง “ประกาศยกเลิกการยิงกระสุนแลอนุญาตให้ราษฎรเฝ้าได้ในทางเสด็จพระราชดำเนิน” ณ วันอาทิตย์ เดือนแปด ขึ้น 7 ค่ำ ปีมะเส็ง นพศก (28 มิถุนายน พ.ศ. 2400) สรุปว่า เมื่อมีกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคก็ดี ทางชลมารคก็ดี ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ขับไล่ราษฎรไปไกล และอย่าให้ปิดประตูอาคารบ้านเรือนรวมถึงประตูแพ และให้ราษฎรออกมาเฝ้ารับเสด็จถวายบังคมให้ทอดพระเนตร
โดยเจ้าของอาคารบ้านเรือนเหล่านั้นและเจ้าหน้าที่ตรวจการณ์มีหน้าที่คอยไล่พวกคนเมาสุราหรือคนเสียจริตไม่ให้อยู่ใกล้เส้นทางเสด็จฯ เพราะหากเจ้าหน้าที่ในกระบวนเสด็จฯ มาจับหรือไล่คนเหล่านั้นเองจะเป็นการวุ่นวาย และหากพบว่าเจ้าของอาคารบ้านเรือนปล่อยปะละเลยจนมีเหตุวุ่นวายนั้นจะต้องถูกนำตัวมาไต่สวนชำระความ ส่วนการเสด็จฯ ทางชลมารคนั้น หากมีเรือล่องสวนหรือแข่งกับกระบวนเรือเสด็จฯ ก็ให้ราษฎรในบริเวณนั้นคอยบอกให้จอดเรือ
ทั้งนี้ในประกาศยังได้ชี้แจงแนวปฏิบัติการถวายความเคารพด้วยว่า หากเป็นชาวจีนจะหมอบกราบอย่างไทยหรือจะ “ยืนกุ๋ย” เคารพตามแบบจีนก็ทำได้ ส่วนแขกและฝรั่งจะนั่งลงเคารพหมอบกราบอย่างไทยก็ได้ หรือจะยืนเปิดหมวกก้มศีรษะยกมือเคารพก็ย่อมทำได้ รัชกาลที่ 4 ทรงกำชับราษฎรไทยและเจ้าหน้าที่ให้เข้าใจและเคารพในจารีตขนบธรรมเนียมของชาวต่างชาติ ดังความในประกาศว่า
“…ห้ามปรามว่ากล่าวขืนใจคนนอกประเทศ ซึ่งพอใจจะเคารพรับเสด็จตามจารีตของตัว ๆ นั้น ให้นั่งหมอบลงเคารพกราบอย่างไทยเลย จงไต่ถามเสียให้รู้กิริยาคนนอกประเทศ แล้วจงยอมให้คนนอกประเทศได้เคารพตามใจจารีตที่เคยนับถือนั้นเถิด…”
ประกาศฉบับนี้เป็นประกาศอย่างเป็นทางการที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติของราษฎรในการเฝ้ารับเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม การอารักขาถวายความปลอดภัยในปัจจุบันจำเป็นต้องมีแนวปฏิบัติที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ประตูและหน้าต่างของอาคารตลอดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินจำเป็นต้องปิดเพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ ราษฎรยังสามารถเฝ้ารับเสด็จพระราชดำเนินได้อย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน
อ้างอิง: หนังสือ รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 โดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสวันพระบรมราชสมภพครบ 200 ปี 18 ตุลาคม พุทธศักราช 2547
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2562