ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังจากมีไวรัลเกี่ยวกับการรีวิวไซซ์เสื้อในโลกออนไลน์ ซึ่งมีการพูดถึง “ตะปิ้ง” ไว้ในข้อความด้วย กล่าวว่า
“ไซต์มาตรฐานของร้านน่าจะวัดมาจากเด็กประถมที่ไม่ได้กินข้าวมาแล้ว 5 ปี เพราะตัวเล็กมากกกกกกก เล็กจนหุ้มเสาศาลพระภูมิยังไม่รอบ ส่วนคุณภาพของผ้าก็บางแบบไร้ประโยชน์ บางแบบไม่เต็มใจจะเกิดเป็นผ้า มาคิดอีกทีใส่ตะปิ้งยังอุจาดน้อยกว่า…”
แต่หลายคนน่าจะยังไม่ทราบว่า “ตะปิ้ง” ที่ว่านี้คืออะไร
“ตะปิ้ง” คืออะไร?
ตะปิ้ง บ้างเรียก จะปิ้ง จับปิ้ง หรือปิ้ง เป็นเครื่องประดับสำหรับสวมใส่เพื่อปกปิดอวัยวะของเด็กที่มีมาตั้งแต่โบราณ ด้วยการผูกไว้ที่บั้นเอว
วัฒนธรรมการสวมใส่ตะปิ้งในเด็กนี้ได้รับความนิยมในแถบอินเดียตอนใต้ รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าแพร่หลายเข้ามาในบริเวณคาบสมุทรมลายูในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย จากการพบหลักฐานการใช้ตะปิ้งเป็นเครื่องประดับในดินแดนทางตอนเหนือและบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของมาเลเซีย
นอกจากนี้ยังพบได้ในบริเวณหมู่เกาะต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย พวกเขาจะสวมใส่ให้เด็กเมื่อสามารถยืนและเดินได้แล้ว โดยมีความเชื่อว่าตะปิ้งจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและภยันตรายต่าง ๆ ได้
ในไทยไม่ปรากฏว่าธรรมเนียมนี้เข้ามาตั้งแต่เมื่อใด แต่พบหลักฐานได้ในสมัยอยุธยา ดังที่ปรากฏในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ว่ามีแหล่งจำหน่ายตะปิ้งที่ตลาดขันเงิน ถนนย่านป่าขันเงิน รวมถึงในขุนช้างขุนแผนก็ปรากฏข้อความว่า…
“…เมื่อปีกลายกูได้เห็นมันมา ยังอาบน้ำแก้ผ้าตาแดงแดง
ผูกจับปิ้งเที่ยววิ่งอยู่ในวัด มันหักตัดต้นไม้ไล่ยื้อแย่ง…”
การสวมใส่ตะปิ้งมักเริ่มต้นเมื่อเด็กโกนผมไฟเรียบร้อยแล้ว ไปจนอายุประมาณ 10-12 ปี หรือกระทั่งโกนจุก ตะปิ้งในไทยจะมีอยู่ 2 รูปแบบใหญ่ ๆ ได้แก่ ตะปิ้งรูปทรงทะนานหรือรูปทรงใบโพธิ์ และตะปิ้งรูปร่างแห
วัสดุของตะปิ้งสามารถแยกชนชั้นของผู้สวมได้ อย่างเจ้านายมักจะทำด้วยทองคำ ของเด็กผู้หญิงทั่วไปจะนิยมสวมตะปิ้งที่ทำด้วยเงินและนาก ส่วนผู้ไม่มีอันจะกินมักใช้กะลามะพร้าวมาทำ เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม :
- อะไรขับดัน “ทศพิธราชธรรม” ในอยุธยา? ยุคโรงละครแห่งอำนาจที่กฎคือเครื่องประดับ
- เบื้องหลังภาพสะท้อน “เครื่องทองโบราณอยุธยา” พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา
- สตรีลึกลับกับเครื่องประดับนับแสนชิ้น! ใครคือ “เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี” ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://www.finearts.go.th/songkhlamuseum/view/25035-โบราณวัตถุชิ้นเด่น-จะปิ้งหรือตะปิ้ง
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 สิงหาคม 2567