อะไรขับดัน “ทศพิธราชธรรม” ในอยุธยา? ยุคโรงละครแห่งอำนาจที่กฎคือเครื่องประดับ

“กบฏธรรมเถียร” กบฏไพร่ครั้งแรกในสมัยพระเพทราชา เป็นกบฏที่สร้างความปั่นป่วนให้กับทางราชสำนักกรุงศรีอยุธยาอย่างมาก ภาพนี้เป็นจิตรกรรมจากโครงภาพพระราชพงศาวดาร เขียนสมัยรัชกาลที่ 5 โดย พระคด

การศึกษาและข้อมูลจากการศึกษาเกี่ยวกับสมัยอยุธยานั้นดำเนินมาอย่างยาวนาน นักประวัติศาสตร์และคนทั่วไปมีชุดข้อมูลด้านต่างๆ มากมาย แต่วันนี้ แวดวงวิชาการกลับยังมีข้อสังเกตว่า “อยุธยา” ที่ “คุ้นเคย” กันนั้น เป็นโลกที่คุ้นเคยจริงหรือไม่

วันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเสวนา “ความคิดทางสังคมและการเมืองไทยสมัยอยุธยา : โลกที่คิดว่าคุ้นเคย?” ตามชื่อหนังสือเล่มใหม่ของ รศ.ดร.สมเกียรติ วันทะนะ มีวิทยากรคือ รศ.ดร. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์, รศ. ฉลอง สุนทราวาณิชย์, ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, รศ. ธเนศ วงศ์ยานนาวา และผศ.ดร. ธนาพล ลิ่มอภิชาต

Advertisement

รศ.ดร.สมเกียรติ วันทะนะ กล่าวช่วงหนึ่งในงานเสวนาว่า การศึกษาอยุธยาที่ผ่านมา มักเข้าใจฉาบฉวย คิดว่าเข้าใจมันดีแล้ว จึงเขียนหนังสือ “ความคิดทางสังคมและการเมืองไทยสมัยอยุธยา : โลกที่คิดว่าคุ้นเคย?” ขึ้นมา สำหรับคนทั่วไปแล้ว การเขียนคือการบำบัดทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งเขียนได้เฉพาะเรื่องที่เราคุ้นเคย ขณะที่ไม่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์อยุธยาแบบที่เรียนมา เลยเอาเรื่องส่วนตัวมาเขียน

ผู้เขียนหนังสือขยายความว่า เรื่องส่วนตัวหมายถึงพื้นฐานจากวิถีดั้งเดิมที่เป็นเด็กชนบท เรียนหนังสือในยุค พ.ศ. 2504 ปีที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมก็พายเรือไปเรียน เป็นช่วงที่ไทยมีสี่ฤดู ฝน, ร้อน, น้ำ และหนาว

รศ.ดร. สมเกียรติ เล่าว่า ชอบน้ำที่สุด เดือน 10-12 น้ำต้องท่วม เป็นช่วงที่สนุกมาก แต่หลัง พ.ศ. 2510 ฤดูน้ำเริ่มหายไป ไม่มีหน้าน้ำท่วม เรือที่สัญจรค่อยๆ หายไป เวลาอ่านจดหมายเหตุลาลูแบร์ ท่านจะตั้งข้อสังเกตว่า สยามน้ำท่วมทุกแห่ง ท่วมปีละ 4-5 เดือน ปีไหนน้ำไม่ท่วม ข้าวยากหมากแพง โจรชุกชุม ปัญหาทุกชนิดตามมา น้ำท่วมเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับเมืองแบบอยุธยา

อย่างไรก็ตาม สมัยปัจจุบันคิดว่าไม่มีคนต้องการน้ำท่วม แม้แต่เกษตรกร เพราะน้ำท่วมไม่ใช่น้ำสะอาด น้ำฝนก็ไม่ต้องการ คนสมัยนั้นจะกลับกันกับอยุธยา เมื่อบริบทเป็นแบบนี้ คำถามคือ จะเข้าใจอยุธยาได้อย่างไร

สำหรับความเข้าใจที่ผ่านมา เมื่อพบอะไรที่เห็นเผินๆ จริงๆ แล้วไม่ใช่ ความคิดทางการเมืองไทยอยุธยาเหมือนการเปลี่ยนเสื้อผ้า คนไทยใส่หลายชุด อาบน้ำวันละสองครั้ง ไม่เหมือนคนเมืองหนาวใส่ตัวเดียว เราใส่เสื้อตามวัน ถ้าใส่ซ้ำคนจะคิดว่ามีตัวเดียว

งานเสวนา “ความคิดทางสังคมและการเมืองไทยสมัยอยุธยา : โลกที่คิดว่าคุ้นเคย?” จัดโดย คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ภาพการเมืองที่ปรากฏมี 3 ภาพเป็นอย่างน้อย ภาพแรกคือ ผู้ปกครองการเมืองซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจและวาสนา ไม่มีผู้ปกครองเขียนการระเบียบปกครองประเภทนี้ไว้ ทำให้เราไม่รู้จักการเมืองไทยเรื่องอำนาจวาสนา ซึ่งคิดว่าสำคัญที่สุด

ภาพที่สองคือ ผู้มีบุญบารมี ภาพนี้สมณชีพราหมณ์เป็นผู้สร้าง เป็นภาพที่เราได้เรียน แต่เป็นสูตรลอยๆ เป็นนามธรรมไม่มีบริบท

ภาพที่สามคือ ผู้มีอำนาจทางการเมือง ผู้มีอำนาจดลบันดาลให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข เป็นภาพในใจลึกๆของผู้ที่ไม่ได้ปกครอง

ทั้งหมดนี้เกี่ยวโยงกัน ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทั้งสามภาพเหมือนสวมใส่ร่างกายสามชั้น

ชั้นนอกคือ ผู้มีบุญบารมี รองลงไปคือทำเพื่อให้เกิดร่มเย็นเป็นสุข ชั้นที่สามไม่ค่อยมีคนเห็นว่าคนมีอำนาจต้องมีอะไรบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นเงิน ไพร่พล ระบบอุปถัมภ์ อาวุธ และอีกหลายอย่าง ถ้ามีอำนาจคือมีทั้งหมด แต่บางคนไม่มีวาสนา เห็นได้ว่าพระโอรสองค์โตของเจ้าแผ่นดิน แต่หากปัจจัยเวลาไม่ให้ ท่านอายุยังน้อยขณะบิดาสวรรคต บางครั้งก็ต้องจบชีวิตอย่างรวดเร็ว

ฉะนั้น เมื่อจะหาเหตุผลว่า ใครควรเป็นกษัตริย์ พระราชพงศาวดารไม่อธิบายสาเหตุ ทำไมคนนี้จบเร็ว ชอบธรรมหรือไม่ ให้ตีความเอาเอง ถ้าเป็นต่างประเทศเขียน เขาเขียนให้เหตุผล

สำหรับเรื่องทางการเมืองไทย (สมัยอยุธยา) รศ.ดร. สมเกียรติ มองว่า เปลี่ยนน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วอำนาจก็มาจากข้างบน อำนาจไม่เคยมาจากข้างล่าง อำนาจต้องมาจากตรงกลาง แต่ข้อเท็จจริงคือ คนที่อยู่ในอำนาจไม่เคยปลอดภัย พอหลุดจากอำนาจก็มักมีคำอธิบายตามมาหลังเหตุการณ์ได้เสมอ เมื่ออธิบายหลังเหตุการณ์ย่อมไม่มีทางผิด เพราะฉะนั้น ต้องดำรงอยู่ในความไม่ประมาท

ขณะที่การเมืองไทยสมัยอยุธยาไม่มีกฎเกณฑ์กติกา มีเยอะเหมือนกันแต่ไม่เป็นกฎกติกา ไม่เป็นกฎเกณฑ์ เป็นเพียงเครื่องประดับที่จำเป็น และคนไทยรู้จักเล่นกับมัน เรียกได้ว่าเป็น “โรงละครแห่งอำนาจ” ในนั้นมีผู้แสดง มีตัวละครสวมบทบาทต่างๆ นานา สาเหตุที่ทำให้เกิดความหลากหลายแบบนี้ก็ไม่มีคำอธิบายได้

“อะไรที่คิดว่าคุ้นเคย พอเปิดเข้าไปดู ลงไปลึกในรายละเอียดแล้ว เราจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น เคยสงสัยมานานแล้วว่าพระราชพิธี 12 เดือนที่เขียนในกฎมณเทียรบาลสมัยอยุธยาซึ่งไม่ค่อยมีคนกล้าเข้าไปแก้ไขปรับปรุง อะไรที่ไม่เข้าใจก็ต้องปล่อยไว้อย่างนั้น มี 30-40 วิธีไม่มีเรื่องพุทธศาสนาเลย เราเข้าใจผิดโดยไม่ได้ศึกษา เพราะพระราชพิธีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบ” 

หากสังเกตภาพลักษณ์ของพระราชาในทศชาติชาดกก็เป็นเชิงติดลบ บางองค์มีพระอินทร์ลงมาขู่ฆ่า-เนรเทศจากบัลลังก์ ถ้าเขียนแบบนี้ ผู้ปกครองจะหวังอะไรจากข้อเขียนทางศาสนาพุทธ พุทธให้บางอย่างกับสถาบันการเมือง แต่ไม่ได้ให้อำนาจวาสนาทางการเมือง แต่ให้อำนาจเชิงลบกับสถาบันด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม หน้าที่อีกรูปแบบคือช่วยเป็นกาวใจให้ราษฎรทั่วไป ให้คนทั่วไปรู้สึกว่าพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องอยู่ในทศพิธราชธรรม ให้ประชาชนสบายใจ ตัวอย่างในชาดกส่วนใหญ่ไม่อยู่ในทศพิธราชธรรม พระโพธิสัตว์ต้องเผชิญกับปัญหานานาชนิด เมื่อกษัตริย์สมัยอยุธยาไม่อยู่ในทศพิธราชธรรมไม่มีใครเสนอแนะขัดขวางได้ ในสังคมที่อำนาจรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ ศาสนาพุทธจึงทำหน้าที่อุทธรณ์ เหมือนราษฎรฝากมาบอกว่าควรดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม

“เมื่อพราหมณ์ทำหน้าที่ให้ความศักดิ์สิทธิ์-อำนาจ ศาสนาพุทธก็ให้ในส่วนที่ขาดไปจากพราหมณ์ เป็นส่วนที่ชาดกที่ชี้เห็นว่า ถ้าไม่มีเมตตาธรรม กรุณาธรรม ราษฎรก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ระเนระนาด ราษฎรแก้ปัญหาให้ตัวเองไม่ได้” ดร.สมเกียรติ กล่าว

สำหรับเนื้อหาจากวิทยากรท่านอื่นในงาน สามารถรับชมได้จากคลิปย้อนหลังด้านบน