ตำนาน “อุสาบารส” ที่มาชื่อจุดสำคัญในอุทยานประวัติศาสตร์ “ภูพระบาท” มรดกโลกแห่งที่ 8 ของไทย

วัดลูกเขย จาก ตำนาน อุสาบารส ที่ ภูพระบาท
วัดลูกเขย อุทยาทประวัติศาสตร์ภูพระบาท มรดกโลกแห่งที่ 8 ของไทย

เรื่องราวนิทานพื้นเมืองเรื่องนางอุสากับท้าวบารส หรือ “อุสาบารส” เกี่ยวข้องกับอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพราะเป็นที่มาของชื่อเรียกโบราณสถานต่าง ๆ ภายในพื้นที่ แม้จะเป็นการผูกตำนานในภายหลัง

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ภูพระบาท อุดรธานี บน เทือกเขาภูพาน ที่ตั้ง หอนางอุสา พระบาทบัวบก
พื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (ภาพ : กรมศิลปากร)

ตำนานว่าด้วยเรื่อง “อุสาบารส”

เรื่องราวของนางอุสากับท้าวบารส เป็นวรรณคดีเรื่องสำคัญของพื้นที่สองฝั่งโขง มีที่มาจากเรื่อง “อนิรุทธ์” พระนัดดาของพระกฤษณะ อวตารของพระนารายณ์ ตามตำนานท้าวบารสเป็นผู้ที่แอบสมสู่กับนางอุสา

การเข้ามาของตำนานข้างต้นในพื้นที่ภูพระบาท ศ. ดร. ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต เสนอว่า เรื่องอนิรุทธ์ฉบับล้านนาคือสำนวนที่แพร่หลายไปยังสองฝั่งโขง ซึ่งครอบคลุมบริเวณบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ที่ตั้งของภูพระบาท เมื่อครั้งพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งล้านช้าง (ลาว) เคยเสด็จไปครองเมืองเชียงใหม่ (ล้านนา)

อย่างไรก็ตาม รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ที่ภูพระบาทก็มีศิลปกรรมเกี่ยวกับพระกฤษณะอยู่จำนวนไม่น้อย จึงเป็นไปได้ว่าดินแดนสองฝั่งโขงอาจรู้จักตำนานอุสาบารสก่อนอิทธิพลจากทางล้านนาจะเข้ามา

เรื่องราวของนางอุสากับท้าวบารสเกี่ยวกับภูพระบาทมีอยู่หลัก ๆ 2 สำนวน ได้แก่ ตำนานอุรังคธาตุ และสำนวนที่ใช้อธิบายโบราณสถาน อ้างอิงจากบทความ “ภูพระบาท: ปูชนียสถานบนภูพาน ศักดิ์สิทธิ์สองฝั่งโขง” โดย รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2567 มาสรุปได้ ดังนี้

ตาม “ตำนานอุรังคธาตุ”

ในตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงที่มาของชื่อที่ตั้งของภูพระบาท คือ “ภูกูเวียน” และการเกิดเมืองพาน หลังสุวรรณนาคพ่ายพระศิวะ ภูเขาอันเป็นสังเวียนต่อสู้ได้ชื่อ ภูกูเวียน และเปลี่ยนนามเมืองจากสุวรรณภูมิ เป็น “พงพาน” โดยมีพระพานเป็นใหญ่

ในตำนานอุรังคธาตุเล่าว่า ขณะที่พระพานปกครองเมืองพงพานอยู่นั้น ท้าวบารสได้มาสมสู่กับนางอุสา ธิดาพระพาน เมื่อพระองค์ทราบเรื่องจึงกริ้วมาก ให้สุวรรณนาคจับท้าวบารสกุมขังไว้ที่ห้องนางอุสา พระกึดนารายณ์ (พระกฤษณะ) ปู่ท้าวบารส จึงเสด็จลงมาช่วยแก้ท้าวบารสจากพันธนาการ และรบกันกับพระพานและสุวรรณนาคจนฝ่ายเมืองพงพานแพ้พ่ายไป

เสมา ภูพระบาท
“กู่นางอุสา” เป็นเพิงหินขนาดเล็กที่มีใบเสมามาปักล้อมรอบทั้ง 8 ทิศ จึงเป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 (หรือราว1000 ปีมาแล้ว) (ภาพ : fb อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท)

สำนวนอธิบายโบราณสถาน

เล่าเรื่องราวการแข่งขันการสร้างวัดระหว่างท้าวบารส โอรสพระราชาเมืองพะโค กับท้าวกงพาน ท้าวบารสแกล้งปล่อยโคมไฟให้เแลเห็นเป็นดาวประกายพรึกลวงให้ท้าวกงพานยุติการสร้างวัด ส่วนตนสร้างต่อจนสำเร็จ ตำนานนี้ยังใช้เล่าที่มาของโบราณสถานสำคัญอีกหลายแห่ง เช่น พระธาตุภูเพ็ก ปราสาทนารายณ์เจงเวง ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมวัน

เมื่อชนะและสังหารท้าวกงพาน ท้าวบารสได้เสกสมรสกับนางอุสาแล้วพากันกลับเมืองพะโค นางอุสาได้รู้ว่าท้าวบารสมีชายาอยู่แล้ว ทั้งนางยังถูกกลั่นแกล้งจนต้องเดินทางกลับบ้านเกิดระหว่างที่สวามีไปทำพิธีแก้กรรม แต่นางอุสากลับมาอยู่เมืองกงพานได้ไม่นานก็ตรอมใจจนตาย ส่วนท้าวบารสที่กลับเมืองแล้วไม่พบเมียรักก็เดินทางไปหาถึงเมืองกงพาน พอได้ทราบว่านางอุสาสิ้นชีพจึงตรอมใจตายตาม

ตำนานโศกนาฏกรรมความรักนี้เองเป็นที่มาของโบราณสถานต่าง ๆ บนภูพระบาท ซึ่งล้วนเรียกตามจินตนาการในภายหลัง เพื่อผูกเข้ากับตำนานอุสาบารส ไม่ว่าจะเป็น หอนางอุสา กู่นางอุสา บ่อน้ำนางอุสา วัดลูกเขย (ท้าวบารส) วัดพ่อตา (ท้าวกงพาน) คอกม้าท้าวบารส

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2567