ทำไม “ภูพระบาท” มรดกโลกแห่งที่ 8 ของไทย ถึงเป็น “แหล่งหินตั้ง” ในวัฒนธรรมทวารวดี?

หลักหิน ภูพระบาท มรดกโลก
หลักหินที่ภูพระบาท

ชื่อของ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองพาน อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ เมื่อองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ทำให้ “แหล่งหินตั้ง” แห่งนี้ ขึ้นแท่นเป็นว่าที่สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของไทยอีกแห่ง จากที่แต่เดิมมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ทำไมภูพระบาทถึงเป็นแหล่งหินตั้ง แล้วเกี่ยวข้องอะไรกับ “วัฒนธรรมเสมา”?

รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายไว้ในหนังสือรวมบทความ “วัตถุสถานทวารวดีภาคอีสาน: หินตั้ง ใบเสมา และศิลปกรรมอื่นๆ” ว่า

Advertisement

ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอดีตเมื่อราวพันกว่าปีก่อน นิยมทำ “หลักหิน” ขนาดต่างๆ ปักในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง มีทั้งปักอยู่โดดๆ ปักรวมเป็นกลุ่ม บ้างมีระเบียบแบบแผนการปักชัดเจน บ้างก็ไม่มีทิศทางแน่นอน

แหล่งหินตั้ง ภูพระบาท อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มรดกโลก อุดรธานี
หลักหินที่ภูพระบาท (ภาพโดย อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ)

หลักหิน หรือเรียกอีกอย่างว่าแผ่นหินหรือแท่นหินนี้ ส่วนใหญ่เป็นแผ่นแบนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายอดแหลม ทำให้นิยมเรียกหินเหล่านี้ว่า “ใบเสมา” เพราะมีรูปแบบเทียบได้กับใบเสมาล้อมรอบอุโบสถสมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์

รศ. ดร. รุ่งโรจน์ บอกด้วยว่า หลักหินเหล่านี้มีรูปทรงอื่นๆ ด้วย เช่น แท่งเสาสี่เหลี่ยมหรือหลายเหลี่ยมมียอดแหลม แท่งหินที่ไม่มีรูปทรงแน่นอน ทำให้บางคนเรียกหลักหินนี้ว่า “หินตั้ง”

ส่วนที่ว่าทำไมถึงอยู่ใน “วัฒนธรรมทวารวดี” ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ทวารวดีคนเดิมอธิบายว่า เหตุผลสำคัญเป็นเพราะหลักหินจำนวนหนึ่งสัมพันธ์กับวัฒนธรรมพุทธศาสนา ที่เผยแผ่จากทวารวดีภาคกลางนั่นเอง

“อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจจัดให้หลักหินเหล่านี้อยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานน่าจะเหมาะสมกว่า เพราะเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นและแพร่หลายในภาคอีสานเอง ไม่ใช่แบบแผนที่รับมาจากทวารวดีภาคกลาง” รศ. ดร. รุ่งโรจน์ อธิบาย

หลักหิน ภูพระบาท แหล่งหินตั้ง บ้านผือ อุดรธานี
หลักหินที่ภูพระบาท (ภาพ: กรมศิลปากร)
หลักหินกับความสัมพันธ์กับพุทธศาสนา

อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุใน “วัตถุสถานทวารวดีภาคอีสาน: หินตั้ง ใบเสมา และศิลปกรรมอื่นๆ” อีกว่า

หลักหินหลายแห่งที่ปักอย่างเป็นระเบียบแบบแผน ส่วนใหญ่จัดเรียงล้อมรอบพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งอาจมีอาคารหรือไม่มี แผนผังมักมีแนวแกนตรงกับแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก

บางแห่งปักหลักหินที่ทิศทั้งแปดทิศ ทิศละ 1 หลัก บางแห่งปักซ้อนกันทิศละ 2 หลัก และบางแห่งปักซ้อนชั้นกันมากถึงทิศละ 3 หลัก

หลักหินที่ปักในผังแบบนี้ เชื่อว่าทำหน้าที่เป็นนิมิตพัทธสีมาสงฆ์ นอกจากนี้ ยังสลักตกแต่งด้วยภาพพุทธประวัติและชาดก ฯลฯ

“กลุ่มหลักหินที่ปักในตำแหน่งทิศทั้งแปดล้อมรอบพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยแต่ละทิศปักซ้อนกัน 3 ชั้นที่สมบูรณ์ที่สุด ได้แก่ กลุ่มหินบริเวณบวชพระปู่ ใกล้กับวัดพระพุทธบาทบัวบาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

หลักหินชั้นในกับชั้นกลางตั้งค่อนข้างประชิดติดกัน ความห่างเฉลี่ยประมาณ 50 เซนติเมตร ในขณะที่หลักชั้นนอกปักอยู่ห่างออกไปอย่างเห็นได้ชัดด้วยความห่างเฉลี่ยประมาณ 3 เมตร บางหลักมีภาพเล่าเรื่องในพุทธศาสนา”

อย่างไรก็ตาม พบว่า หลักหินอีกส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับประเพณีความเชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ให้คุณให้โทษต่อมนุษย์ ซึ่งสัมพันธ์กับประเพณีปักหินตั้ง

หลักฐานที่รองรับข้อสันนิษฐานนี้มีมากมายหลายอย่าง เช่น การปักอยู่บนสถานที่ที่พบโครงกระดูกมนุษย์หรือภาชนะบรรจุกระดูก เกี่ยวข้องกับการปลงศพ การนำมาเป็นหลักเมือง

หลักหินที่อยู่ในภูพระบาท จึงเป็นสิ่งสะท้อนวัฒนธรรมอันเก่าแก่ในพื้นถิ่น ที่สัมพันธ์กับทั้งผีและพุทธ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2567