รอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์บน “ภูพระบาท” มรดกโลกแห่งที่ 8 ของไทย ทำไมถึงชื่อ “พระบาทบัวบก”

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อุดรธานี ที่ตั้ง พระบาทบัวบก บ้านเชียงและภูพระบาท
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ. อุดรธานี

เป็นข่าวดีของคนไทยทั้งประเทศ เมื่อยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียน “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ต่อจาก “เมืองโบราณศรีเทพ” จ. เพชรบูรณ์ ที่เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทก็คือ พระบาทบัวบก ที่เมื่อใครไปเยือนภูพระบาทแล้วต้องไปกราบไหว้สักการะเป็นสิริมงคล

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ภูพระบาท อุดรธานี บน เทือกเขาภูพาน ที่ตั้ง หอนางอุสา พระบาทบัวบก
พื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (ภาพ : กรมศิลปากร)
“พระบาทบัวบก” รอยพระพุทธบาทเก่าแก่แห่งภูพระบาท

ผศ. ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีล้านช้าง ให้ข้อมูลว่า เหตุที่พื้นที่แถบนี้ได้ชื่อว่า “ภูพระบาท” เพราะมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่หลายรอย

“ที่สำคัญคือมีการดัดแปลงเพิงผาและก้อนหินตามธรรมชาติที่โดดเด่น เพื่อใช้เป็นที่ปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาและความเชื่อมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในลักษณะของภูเขาศักดิ์สิทธิ์

มีนิทานพื้นบ้านระบุว่า เป็นที่อยู่ของนางอุสา ผู้เป็นชายาของท้าวบารส สถานที่ต่างๆ บนภูพระบาทจึงถูกตั้งชื่อผ่านฉากต่างๆ ของนิทานพื้นบ้านอุสา-บารส”

พระบาทบัวบก
พระพุทธบาทหลังการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2563 (ภาพจาก พงศ์ศานต์ หลินกาญจนบุตร)

รอยพระพุทธบาทนี้มีความสำคัญมากที่สุดบนภูพระบาท เนื่องจากได้รับความเคารพศรัทธา และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุครอบรอยพระพุทธบาทมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะของพระพุทธบาทเป็นรอยเท้าประดิษฐ์โดยโบกปูนทับรอยเดิม กว้าง 92 เซนติเมตร ยาว 160 เซนติเมตร ลึก 75 เซนติเมตร เป็นรอยพระบาทขวา บริเวณใกล้ๆ รอยพระพุทธบาทยังมีรูหรือปล่องพญานาคตามความเชื่อท้องถิ่นปรากฏอยู่

เดิมพระพุทธบาทมีอูบมุงครอบอยู่ ต่อมา พระอาจารย์สีทัตถ์ ญาณสมฺปนฺโน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ญาครูสีทัตถ์” ได้ธุดงค์มาพบซากอูบมุง จึงร่วมมือกับพุทธศาสนิกชนรื้อแล้วปฏิสังขรณ์ใหม่ โดยสร้างพระธาตุครอบรอยพระพุทธบาท

การก่อสร้างเริ่มใน พ.ศ. 2462 และแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2473 ซึ่งพระธาตุได้จำลองรูปแบบมาจากพระธาตุพนมองค์เดิมก่อนการบูรณะสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ผศ. ดร. ธีระวัฒน์ สันนิษฐานว่า พระพุทธบาทนี้น่าจะเป็นรอยพระพุทธบาท 1 ใน 5 รอย ที่พระพุทธเจ้าประทับให้เหล่านาคได้สักการบูชา โดยเฉพาะรอยพระพุทธบาทสุดท้าย ซึ่งในตำนานอุรังคธาตุ ฉบับกรมศิลปากรจัดพิมพ์ ระบุว่า

“พระศาสดาทรงย่ำไว้ที่แผ่นหินในภูกูเวียนใกล้ปากถ้ำที่สุวรรณนาคอยู่ แล้วพระศาสดาซ้ำทรงอธิษฐานรอยบาทไว้ให้พุทโธธปาปนาคที่หนองบัวบาน ซึ่งเป็นที่เกิดของนางอุษาแต่ก่อนรอยหนึ่ง และอธิฐานไว้ในแผ่นดินให้แก่นาคทั้งหลายที่มิได้ปรากฏชื่อนั้น ๒ รอย ในแผ่นหินบนโพนบกนั้นรอยหนึ่ง”

“โพนบก” ที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุ มีความใกล้เคียงกับ “บัวบก” อันเป็นชื่อของพระพุทธบาทที่เรียกกันอยู่ในปัจจุบัน จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า พระพุทธบาทนี้ได้ชื่อจากที่มาดังกล่าวนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ผศ. ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ. พระบาทบัวบก : ภูพระบาทในความทรงจำของพระป่ากรรมฐาน”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2567


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กรกฎาคม 2567