“หอนางอุสา” ศาสนสถานสำคัญรูป “ดอกเห็ด” แห่งภูพระบาท แหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 ของไทย

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ภูพระบาท อุดรธานี บน เทือกเขาภูพาน มรดกโลก ที่ตั้ง หอนางอุสา
หอนางอุสา ในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (ภาพ : กรมศิลปากร)

เทือกเขาภูพาน ที่ทอดตัวยาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ตั้งของ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 8 ของไทย ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ต. เมืองพาน อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี ซึ่งหนึ่งในแลนด์มาร์กภายในอุทยานฯ คือ “หอนางอุสา” โดดเด่นด้วยรูปทรงคล้ายดอกเห็ดที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ และผู้คนในสมัยก่อนก็ดัดแปลงพื้นที่ให้สามารถใช้งานสอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อ และศาสนา ได้อย่างน่าทึ่ง

“เทือกเขาภูพาน” แหล่งศาสนสถาน

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยา เล่าถึงเทือกเขานี้กับการเป็นศาสนสถานไว้ในบทความ “ภูพานมหาวนาสี” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2552 ไว้ว่า

เทือกเขาดังกล่าวเป็นเทือกเขาหินทราย ทำให้เอื้อต่อการเป็นแหล่งศาสนสถาน เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีน้ำขังอยู่ใต้ดินและใต้พื้นหิน คุณสมบัติของหินทรายเป็นหินที่ไม่มีธาตุหินปูนเจือปน ทำให้น้ำกินน้ำใช้เกิดตะกอนเป็นหินงอกเช่นเขาหินปูนทั้งหลาย

“ขณะเดียวกันหินทรายก็ง่ายต่อการสึกกร่อนเป็นร่องเป็นรู เป็นบ่อน้ำหนองน้ำได้ง่าย ยิ่งกว่านั้นการสึกกร่อนที่เกิดจากการกระทำของฝนและลมก็ทำให้เกิดโขดหิน เพิงหินที่สามารถดัดแปลงให้เป็นที่พำนักตามธรรมชาติแก่คนที่ผ่านไปมาหรือต้องการที่จะตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัยได้” อาจารย์ศรีศักรระบุ แล้วบอกอีกว่า

ในเขต อ. บ้านผือ พื้นที่ที่เป็นแหล่งศาสนสถาน ส่วนที่เริ่มตั้งแต่บ้านผักบุ้งถึงบ้านโคกกอง คือ “ภูพระบาท”

สภาพภูมิประเทศบริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่ม มีโคกเนินกระจายสลับอยู่ทั่วไป และมีลำน้ำลำห้วยที่เป็นสาขาของลำน้ำโขงไหลหล่อเลี้ยง ทำให้เป็นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การสร้างบ้านแปลงเมือง

พื้นที่ที่เป็นโคกเนินเป็นแหล่งสร้างที่อยู่อาศัย ส่วนที่ราบลุ่มชุ่มน้ำเหมาะกับการเพาะปลูกพืชพันธุ์ โดยเฉพาะข้าว มีการตั้งถิ่นฐานดังกล่าวนี้มาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

“แต่ที่โดดเด่นมากกว่าที่อื่นก็คือ บริเวณต้นน้ำโมงในเขตอำเภอบ้านผือ ที่มีชุมชนโบราณที่เป็นบ้านและเมือง คือ เมืองพาน ที่อยู่ชายเขาภูพระบาท กับบ้านหนองกาลึม ในที่ราบหน้าภูกาลึม

บ้านเมืองพานเป็นโคกเนินใหญ่ที่มีการตั้งถิ่นฐานสืบมาในสมัยล้านช้างจึงเรียกชื่อว่า บ้านเมืองพาน มีความสัมพันธ์กับศาสนสถานบนภูพระบาทที่ในตำนานอุรังคธาตุเรียกว่า ภูกูเวียน เพราะเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของพญานาคที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาทรมานและเทศนาให้กลายเป็นพุทธสาวก”

อาจารย์ศรีศักดิ์อธิบายต่อว่า ภูกูเวียนหรือภูพระบาทนี้เป็นเขาเตี้ยๆ เต็มไปด้วยร่องน้ำ รูน้ำ และหนองน้ำขัง ที่ผู้คนสามารถมาตั้งถิ่นฐานอาศัยได้ อีกทั้งมีโขดหินและเพิงหินกระจายอยู่มากมายในบริเวณกว้าง เป็นบริเวณที่มีคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน

เหตุนี้จึงมักพบภาพเขียนสีรูปเรขาคณิต สัตว์ คน และต้นไม้หลายแห่ง ซึ่งบรรดาแหล่งภาพเขียนสีเหล่านั้นล้วนเป็นแหล่งพิธีกรรมของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ภูพระบาท อุดรธานี บน เทือกเขาภูพาน ที่ตั้ง หอนางอุสา
พื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (ภาพ : กรมศิลปากร)

“หอนางอุสา” ศาสนสถานสำคัญแห่งภูพระบาท

อาจารย์ศรีศักดิ์เล่าถึงประเด็นศาสนสถานสำคัญในภูพระบาทด้วยว่า ผู้คนขึ้นมาสัมพันธ์กับบริเวณนี้จนถึงสมัยที่มีการนับถือพระพุทธศาสนาสมัยทวารวดี แม้ว่าลักษณะของรูปแบบศิลปกรรมที่พบตามศาสนสถานในบริเวณนี้จะมีอายุแต่พุทธศตวรรษที่ 16 ลงมาก็ตาม แต่ก็โดดเด่นกว่าที่อื่นๆ ในลักษณะเป็นแหล่งปฏิบัติที่สำคัญ

บริเวณนี้เกิดสำนักสงฆ์อย่างชัดเจน มีการรวมกลุ่มกันในพื้นที่โดยรอบโขดหินและเพิงหินสูงใหญ่ ที่เรียกว่า “หอนางอุสา” ในตำนานเรื่องอุสา-บารส

พื้นที่นี้เป็นลานกว้างมีร่องน้ำผ่าน เหมาะสมกับการรวมกลุ่มของคนที่มาทำพิธีกรรม และมีโขดหินเพิงหินหอนางอุสา มีลักษณะเป็นพระสถูป ที่น่าจะมีการประดิษฐานสิ่งเคารพบนเพิง และมีการสลักรูปพระพุทธรูปรอบเพิงตอนบน ตัวหอล้อมรอบด้วยเสมาหินทรงสูงทั้ง 8 ทิศ แสดงปริมณฑลของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

บ้านเชียงและภูพระบาท มรดกโลกทางวัฒนธรรม อุดรธานี หอนางอุสา
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุดของไทย

จากหอมีร่องน้ำผ่ากลาง และเมื่อข้ามไปแล้วก็เข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ปฏิบัติและทำพิธีกรรมของพระสงฆ์และนักพรต อาจเรียกรวมๆ ได้ว่า เป็นพื้นที่ของสังฆาวาส มีเพิงหินใหญ่น้อยหลายแห่งที่มีเสมาหินปักรอบ

ด้านตะวันออกของแหล่งพิธีกรรมเป็นกลุ่มเพิงผา ที่มีการปรับให้เป็นทั้งที่อาศัยและประกอบพิธีกรรมของผู้ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เพราะตั้งอยู่ใกล้ทางลาดลงไปยังแหล่งน้ำ ประกอบด้วยโขดหินและเพิงหินที่มีภาพสลักของพระพุทธรูปยืน พระพุทธรูปนั่ง และแท่นยกพื้น เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งภาพสลักเหล่านี้แสดงรูปแบบทางศิลปะสมัยทวารวดีตอนปลายและศิลปะขอม กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ลงมา

“สิ่งที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของภาพสลักพระพุทธรูปยืนรอบโขดหินนี้ก็คือ พระพุทธรูปยืนบางองค์สลักเป็น ‘ปางเปิดโลก’ ซึ่งต่อมาคืออัตลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของพระพุทธรูปสมัยล้านช้าง” อาจารย์ศรีศักดิ์บอกในบทความ

ความสำคัญของภูพระบาทที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต ความเชื่อ และศาสนา มาอย่างยาวนานนับพันปีเช่นนี้เอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทขึ้นแท่นเป็นมรดกโลกแห่งล่าสุดของไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กรกฎาคม 2567