“ศาสนาผี” อยู่ก่อน ศาสนาพุทธมาทีหลัง ที่ภูพระบาท มรดกโลกลำดับที่ 8 ของไทย

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ภูพระบาท อุดรธานี บน เทือกเขาภูพาน ที่ตั้ง หอนางอุสา พระบาทบัวบก
พื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (ภาพ : กรมศิลปากร)

เป็นที่ทราบกันว่าอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ที่ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้ชื่อ “ภูพระบาท” มาจากรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนเทือกเขาหินทรายแห่งนี้ แต่รู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วร่องรอยวัฒนธรรมตั้งต้นของพื้นที่แห่งนี้คือชุมชนโบราณที่นับถือ “ศาสนาผี” บูชาผีบรรพชนมาก่อน

เรื่องนี้ รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อธิบายให้ “ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์” ฟังว่า ภูพระบาทมีร่องรอยการเข้ามาของศาสนาพุทธเมื่อราว พ.ศ. 1500 แม้เราจะให้ยุคทวารวดี (พุทธศาสนา) เริ่มที่ พ.ศ. 1200 และภูพระบาทเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทวารวดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าที่นี่นับถือศาสนาพุทธกันตั้งแต่ปี 1200

แหล่งหินตั้ง ภูพระบาท อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มรดกโลก อุดรธานี ศาสนาผี
หลักหินที่ภูพระบาท (ภาพโดย อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ)

ร่องรอย “ศาสนาผี” ที่ภูพระบาท

ในมิติว่าศาสนาผีอยู่ที่ภูพระบาทมาก่อนศาสนาพุทธนั้น อ.รุ่งโรจน์ เล่าว่า 

“ภูพระบาทมีจิตรกรรมที่เรียกว่า ‘ก่อนประวัติศาสตร์’ อยู่ ที่จริงผมไม่อยากเรียกก่อนประวัติศาสตร์ เรียกว่า ‘ก่อนการเข้ามาของศาสนา (พุทธ)’ ดีกว่า

จิตรกรรมเหล่านี้เขียนเพื่ออะไร? นักวิชาการบางท่านระบุว่าเป็นบันทึกเหตุการณ์ แต่ใครจะไปดู เพราะบริเวณดังกล่าวเข้าถึงได้ยากลำบากมาก แปลว่าจิตรกรรมเหล่านี้ต้องเป็นมากกว่าการเขียนให้คนทั่วไปดู ข้อสังเกตคือเป็นภาพบุคคลที่ไม่ใช่ภาพเสมือนจริง เป็นลักษณะของเงามากกว่า”

ตรงนี้เองที่ อ. รุ่งโรจน์จะสื่อว่า ภาพเขียนโบราณที่ภูพระบาทเกี่ยวพันกับความเชื่อหรือจิตวิญญาณมากกว่าการบันทึกเรื่องราวทั่ว ๆ ไป ที่สำคัญคือ ไม่ใช่เรื่องของศาสนาพุทธ

จิตรกรรมที่ภูพระบาทยังมีภาพของ “หมา” ปะปนอยู่กับภาพคน ซึ่ง ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างหมาของคนโบราณในภูมิภาคอุษาคเนย์สัมพันธ์กับเรื่อง “ขวัญ” ด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอธิบายเกี่ยวกับวิญญาณของศาสนาผี

“หมาคือตัวนำ ‘ขวัญ’ ของผู้ตายขึ้นสู่สวรรค์ หลักฐานโบราณคดีมากมายมีร่องรอยของหมา ทั้งที่บ้านเชียง โนนเมือง ศรีเทพ มีโครงกระดูกของหมาอยู่คู่กับโครงกระดูกมนุษย์ ฉะนั้นจึงหมายความได้ว่า จิตรกรรมที่มีหมาเกี่ยวข้องกับขวัญ เกี่ยวข้องกับผีบรรพชน” อ. รุ่งโรจน์กล่าว

ภาพสัตว์ ภาพเขียนสี ภูพระบาท
ภาพสัตว์ที่ภูพระบาท (ภาพโดย อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ)

อาจารย์แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ยังเสนอด้วยว่า มีแนวโน้มว่าการนับถือศาสนาผีที่ภูพระบาทคือ “ผีหลวง” หรือผีหอหลวง และจะเห็นว่า แม้พุทธศาสนาเข้ามาแล้วศาสนาผีก็ไม่ได้อันตรธานหายไป เพราะหอผีกับพุทธสถานยังแยกส่วนกันอยู่

อ. รุ่งโรจน์กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราจะเห็นว่ารอยพระพุทธบาทของภูพระบาทก็อยู่ถัดออกไป ไม่มายุ่งกับพื้นที่ตรงกลางที่เป็นหอผี”

อนึ่ง ศาสนาผีในอุษาคเนย์ไม่ใช่เรื่องของวิญญาณ แต่เป็นเรื่องของ “ขวัญ” เป็นส่วนที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ และความเชื่อเรื่องขวัญเป็นส่วนหนึ่งของคติบูชาบรรพชน อันเป็นความเชื่อเก่าแก่ของผู้คนแถบนี้ ดังที่พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) กล่าวว่า “เดิมเป็นคนเมื่อตายไปแล้วไม่ไปไหน ยังสิงอยู่ในบ้านในเรือน โดยปกติเป็นญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว”

คติดังกล่าวเป็นรากฐานของสิ่งที่เรียกว่า “ผีเรือน” และยังมีผีที่ฐานะสูงขึ้นไปอีก เป็นผีระดับหัวหน้า นั่นคือ ผีบ้านหรือผีชุมชน ผีเจ้านายหรือผีเมือง ตลอดจนผีฟ้า ซึ่งความเชื่อเหล่านี้เป็นคติที่ปรากฏอยู่ในหอผีของภูพระบาท ก่อนรับพระพุทธศาสนานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 สิงหาคม 2567