ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุดของไทย นอกจากจะมีศาสนสถานที่สัมพันธ์กับรูปทรงหินทรายที่ธรรมชาติสร้างสรรค์แล้ว ก็ยังมี “ภาพเขียนสี” ภูพระบาท ที่ย้อนไปได้ถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งของดีที่เมื่อใครไปเยือนแล้วต้องไม่พลาดชม
ภาพเขียนสี ภูพระบาท แหล่งจิตรกรรมขนาดใหญ่ในเมืองไทย
รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เล่าประเด็นนี้ในบทความ “ภูพระบาท : ปูชนียสถานบนภูพาน ศักดิ์สิทธิ์สองฝั่งโขง” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2567 ไว้ตอนหนึ่งว่า
พื้นที่อำเภอบ้านผือ เป็นแหล่งจิตรกรรมและภาพสลักเส้นเรขาคณิตในเพิงผาขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของไทย คือมีทั้งหมด 81 แหล่ง โดย “กลุ่มภูพระบาท” เป็นกลุ่มใหญ่สุด มีจำนวนถึง 55 แหล่ง
ในกลุ่มภูพระบาท แยกย่อยไปได้อีก 6 กลุ่ม คือ กลุ่มวัดพ่อตา-ลูกเขย กลุ่มวัดพระพุทธบาทบัวบก กลุ่มเพิงหินลาดใหญ่ กลุ่มถ้ำดิน กลุ่มถ้ำหินลาด และกลุ่มโนนสาวเอ้
ภาพเหล่านี้บอกอะไรเราบ้าง?
ภาพเขียนสีที่พบในภูพระบาท แบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ ภาพคน ภาพสัตว์ ภาพมือ และภาพสัญลักษณ์เรขาคณิต สีที่ใช้ส่วนใหญ่คือสีแดง ได้จากแหล่งแร่ในพื้นที่ที่ปัจจุบันคืออุดรธานี
ภาพคน ที่ภูพระบาทนี้ อาจารย์รุ่งโรจน์สันนิษฐานตามแนวคิดของศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ และสุจิตต์ วงษ์เทศ ว่า เป็นผีขวัญบรรพชน แสดงถึงโลกหลังความตาย
“…ภาพที่เพิงผาเหล่านี้เป็นภาพเล่าผีบรรพชนในโลกต่างมิติ และเขียนขึ้นก่อนที่จะได้รับแนวคิดศาสนาจากอินเดีย ดังนั้น จึงไม่สามารถนำแนวคติจากคัมภีร์ทางศาสนามาเป็นหลักการตีความ แต่สามารถใช้แนวความเชื่อที่สำคัญในช่วงนั้นคือเรื่องโลกหลังความตาย และการที่ผีขวัญจะต้องกลับไปรวมตัวกับผีขวัญของบรรพชนมาใช้ในการตีความ” อาจารย์รุ่งโรจน์บอก
ภาพสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นภาพวัว ซึ่งเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ตามปกติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่มีบางภาพที่ระบุไม่ได้ว่าเป็นสัตว์ชนิดใด ซึ่งสัตว์ที่ปรากฏน่าจะสื่อถึงพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์
ภาพมือ พบ 1 แห่งที่ถ้ำมือ ลักษณะเป็นฝ่ามือด้านขวาทำท่าคล้ายกำลังวางประทับที่เพิงผา
อาจารย์รุ่งโรจน์คาดว่า ภาพมือไม่น่าเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการมาเยือนของบุคคลนั้น เพราะอยู่ในตำแหน่งที่สูงมาก การไต่ขึ้นไปถึงเพิงผาเพื่อประทับฝ่ามือ โดยเตรียมเครื่องมือและสีขึ้นไปด้วยนั้น จึงดูยากลำบากเกินความจำเป็น
ภาพสัญลักษณ์เรขาคณิต พบทั้ง 81 แหล่งในอำเภอบ้านผือ ปัจจุบันยังไม่ทราบความหมายที่แน่ชัดของสัญลักษณ์เหล่านี้ แต่ภาพเขียนสีบางแหล่งในภูพระบาทคล้ายคลึงกับลายเส้นเขียนสีบนภาชนะดินเผาวัฒนธรรมบ้านเชียง ในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมไปเมื่อปี 2535
เมื่อภาชนะบ้านเชียงเป็นภาชนะที่อุทิศให้แก่ผู้ตาย ดังนั้น สัญลักษณ์เรขาคณิตน่าจะมีความสัมพันธ์พิธีกรรมหลังความตาย
ภาพเขียนสี ภูพระบาท มีอายุเก่าแก่เท่าไหร่นั้น อาจารย์รุ่งโรจน์บอกว่า จากการพิจารณาค่าวิทยาศาสตร์และหลักฐานอื่นๆ อายุของภาพเขียนสีที่นี่น่าจะอยู่ราว พ.ศ. 600-1200 โดยประมาณ
อ่านเพิ่มเติม :
- รู้จัก “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” จ. อุดรธานี มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุดของไทย
- เปิดที่มา “อุดรธานี” จังหวัดแรกของไทย ที่มี “บ้านเชียง-ภูพระบาท” เป็นมรดกโลกถึง 2 แห่ง
- ทำไม “ภูพระบาท” มรดกโลกแห่งล่าสุดของไทย ถึงเป็น “แหล่งหินตั้ง” ในวัฒนธรรมทวารวดี?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 กรกฎาคม 2567