“จิตรกรรมในเพิงผา” ที่อุทยานฯ ภูพระบาท มรดกโลกแห่งใหม่ไทย ส่วนใหญ่อายุเกือบ 2,000 ปี?

จิตรกรรมในเพิงผา
หีบศพพ่อตา และ แหล่งภาพเขียนสีโนนสาวเอ้ จาก เพจอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และ กรมศิลปากร

“จิตรกรรมในเพิงผา” ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้เห็นว่าอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ. อุดรธานี เป็นพื้นที่ที่สำคัญในแง่ประวัติศาสตร์ โดยจิตรกรรมในเพิงผาที่นี่แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม คือ กลุ่มถ้ำดินเพียง 7 แหล่ง กลุ่มวัดพ่อตา-ลูกเขย 25 แหล่ง กลุ่มวัดพระพุทธบาทบัวบก 9 แหล่ง กลุ่มถ้ำหินลาด 2 แหล่ง กลุ่มโนนสาวเอ้ 4 แหล่ง และกลุ่มเพิงหินลาดใหญ่ 8 แหล่ง

จิตรกรรมในเพิงผา

ภาพคน ภาพเขียนสี ภูพระบาท อุดรธานี มรดกโลก
ภาพคนที่ภูพระบาท (ภาพโดย อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ)

ในจิตรกรรมจะมีรูปต่าง ๆ มากมาย เช่น ภาพคน ภาพสัตว์ ภาพมือ ภาพเรขาคณิต ซึ่ง รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวไว้ว่า จิตรกรรมในเพิงผาพวกนี้มีอายุส่วนใหญ่ที่ พ.ศ. 600-1200 โดยประมาณ

Advertisement

รศ. ดร. รุ่งโรจน์ กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2567 ซึ่งรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับ “ภูพระบาท” ไว้อย่างครบรส ว่า การที่จะสืบค้นอายุจิตรกรรมในเพิงเผาของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทนั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดเพื่อบ่งบอกอายุ 

แต่ถ้าพิจารณาจากพื้นหลังของจิตรกรรมที่มีการแต่งผิวให้เรียบ ซึ่งต้องใช้เหล็กเป็นหลักในการแต่งผิว รวมถึงความปราณีตต่าง ๆ ของการตบแต่ง จึงทำให้ทราบว่าจิตรกรรมในเพิงผาที่นี่มีอายุน้อยกว่าจิตรกรรมในเพิงผาที่มีการตระเตรียมไม่ปราณีตมากนัก

นอกจากนี้ หากพิจารณาค่าวิทยาศาสตร์ของแหล่งโบราณสถานดอนศิลา ต. จำปาโม อ. บ้านผือ จะทราบว่า ระยะแรกของแหล่งโบราณคดีนี้มีอายุในช่วง พ.ศ. 818-890 ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่จนถึงสมัยเหล็ก

อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงสันนิษฐานว่า จิตรกรรมที่ภูพระบาทส่วนใหญ่น่าจะมีอายุราว พ.ศ. 600-1200 โดยประมาณ

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีจิตรกรรมที่อยู่นอกเหนือจากยุคที่กล่าวถึง เช่น จิตรกรรมรูปช้างที่ถ้ำช้าง ซึ่งคาดว่ามีอายุในช่วง พ.ศ. 1700-1900 และจิตรกรรมที่วัดลูกเขย ที่มีอายุช่วง พ.ศ. 2200 หากดูจากสถาปัตยกรรมด้านหลังพระพุทธรูปที่มีการแสดงลวดบัว ซึ่งนิยมในช่วง พ.ศ. 1900 และมีเทคนิคเขียนภาพเหมือนกับจิตรกรรมภายในกรุเจดีย์อุโมงค์สวนพุทธธรรม จ. เชียงใหม่ ที่มีช่วงอายุราว พ.ศ. 2000-2200 โดยประมาณ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2567