“เพิงหิน” ภูพระบาท มรดกโลกแห่งที่ 8 ของไทย สิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาล หรือธรรมชาติรังสรรค์?

เพิงหิน ภูพระบาท อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บ้านผือ อุดรธานี
เพิงหินในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกแห่งที่ 8 และเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของไทย มี เพิงหิน ภูพระบาท เป็นแลนด์มาร์กโดดเด่น ซึ่งผู้คนสมัยโบราณเชื่อว่าเกิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้มีรูปทรงแปลกตา และใช้สอยพื้นที่นี้ในมิติของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

บ้านเชียงและภูพระบาท มรดกโลกทางวัฒนธรรม อุดรธานี หอนางอุสา เพิงหิน ภูพระบาท
หอนางอุสา ในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุดของไทย

รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พูดถึงประเด็นนี้ไว้ในบทความ “หลักหินทวารวดีอีสานที่ภูพระบาท ภาพสะท้อนการบูชาสิ่งเหนือธรรมชาติและประเพณีพุทธศาสนา” ตอนหนึ่งว่า

ภูพระบาทเป็นภูเขาหินทรายขนาดย่อม ปรากฏใน “ตำนานอุรังคธาตุ” ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดพญานาคที่เขาลูกนี้ จากนั้นประทานรอยพระพุทธบาทไว้ให้สักการบูชาแทนพระองค์

ภูเขานี้ยังเป็นที่ตั้งชุมชนของผู้คนในอดีต เพราะมีลำธารขนาดเล็ก พืชพรรณ และเพิงหินสำหรับใช้เป็นที่พักอาศัย

เพิงหิน ภูพระบาท อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บ้านผือด อุดรธานี
เพิงหินที่ภูพระบาท (ภาพโดย อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ)
เพิงหิน ภูพระบาท จุดเช็กอินคนโบราณถึงนักท่องเที่ยวยุคปัจจุบัน

ด้วยสภาพทางธรณีวิทยาที่เป็นหินทราย ทำให้ภูพระบาทมีความโดดเด่น ชั้นหินแข็งที่มีความคงทนสูงอยู่ด้านบน ส่วนชั้นหินอ่อนที่ไม่คงทนอยู่ด้านล่าง เมื่อลม ฝน น้ำ เซาะชั้นหินทรายนานเข้า ทำให้ชั้นหินอ่อนถูกกัดเซาะจนหายไปหมด

ชั้นหินแข็งด้านบนจึงกลายสภาพเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ที่วางอยู่บนพื้นหินหรือเสาหิน กระจายตัวอยู่มากมายในพื้นที่ภูพระบาท

ภูพระบาทยังมี “ภาพเขียนสี” ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีทั้งภาพคน ภาพฝ่ามือ ภาพสัตว์ และภาพสัญลักษณ์เรขาคณิต ซึ่ง รศ. ดร. รุ่งโรจน์ เห็นว่า ภาพสัตว์อาจเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของผลิตผล ภาพฝ่ามืออาจแสดงตัวตนเจ้าของฝ่ามือว่ามาร่วมประกอบพิธีกรรมแล้ว ส่วนภาพสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่อาจทราบความหมายได้แน่ชัด

“ความรู้ของผู้คนเมื่อหลายพันปีที่แล้วย่อมไม่ทราบว่าเพิงหินรูปร่างอัศจรรย์เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ ผู้คนสมัยนั้นอาจเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งบันดาลให้เกิด หรือมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งสถิตอยู่ในเพิงหินเหล่านี้ ส่วนหนึ่งของภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์จึงอาจวาดขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรมอันเนื่องด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์”

เพิงหินบนภูพระบาทที่พบกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมความเชื่อมีกระจัดกระจายทั่วไป ซึ่งกรมศิลปากรได้จัดเพิงหินเหล่านี้ไว้เป็นกลุ่มๆ และตั้งชื่อให้เพิงหิน ยกเว้นชื่อที่สัมพันธ์กับ “ตำนานอุสา-บารส” ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้าน ก็จะเป็นชื่อเรียกตามชาวบ้าน เช่น หอนางอุสา กู่นางอุสา เป็นต้น

เมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามายังดินแดนแถบนี้ การใช้สอยพื้นที่ก็ปรับให้สอดคล้องกัน จากเดิมที่เพิงหิน ภูพระบาท เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ก็เปลี่ยนเป็นที่ประกอบสังฆกรรม ประดิษฐานพระพุทธรูป หรือเป็นที่พักอาศัยของพระสงฆ์ รวมทั้งมี “หลักหิน” ตามแบบแผนทวารวดีอีสานปักล้อมรอบ

“เพิงหินบนภูพระบาทเป็นสถานที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์มาแต่ครั้งก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมามีพุทธศาสนาเข้ามาก็ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับประเพณีใหม่โดยมิได้มีการลบทาลายภาพเขียนสีดั้งเดิมแต่อย่างใด หลักฐานก่อนประวัติศาสตร์กับหลักฐานพุทธศาสนาที่เข้ามาในภายหลังจึงอยู่ร่วมกัน ซ้อนทับอยู่ในพื้นที่เดียวกัน” รศ. ดร. รุ่งโรจน์ สรุป

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2567