ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอย่าง “พระพุทธชินราช” แห่งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ พิษณุโลก ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ไทยสืบมาหลายยุคสมัย ดังมีการสมโภชและรับสักการบูชาด้วยเครื่องอามิสบูชาสูงค่า โดยเฉพาะ “สังวาล” เครื่องประดับองค์พระที่ส่งเสริมความวิจิตรงดงามของพระพุทธรูปยิ่งขึ้นไปอีก
สังวาล คือ สร้อยเครื่องประดับชนิดหนึ่ง ใช้คล้องเฉวียงบ่า นิยมทำเป็นสายสร้อยประดับด้วยอัญมณี หรือเครื่องตกแต่งต่าง ๆ ทั้งนี้ สังวาลพระพุทธชินราชที่เราเห็นในปัจจุบันมิได้มีมาแต่เดิม เพราะพบหลักฐานการถวายสังวาลเป็นเครื่องสักการะประดับองค์พระพุทธชินราชในยุครัตนโกสินทร์นี้เอง
นอกจากนี้ สังวาลที่เราเห็นประดับองค์พระยังเป็นเพียง 1 สาย จากทั้งหมด 4 สาย เนื่องมาจากการถวายสิ่งมีค่าแด่พระพุทธรูปสำคัญ ถือเป็นการแสดงพระราชศรัทธา เป็นธรรมเนียมตามโบราณราชประเพณีประการหนึ่ง ซึ่งนับเป็น “อามิสบูชา” หรือการแสดงความเคารพ นับถือ เลื่อมใสด้วยการให้สิ่งของ
ด้วยเหตุนี้ พระมหากษัตริย์จักรีวงศ์ที่เสด็จพระราชดำเนินมาสักการบูชาพระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลก จึงถวายเครื่องสักการะและเครื่องประดับองค์พระพุทธชินราชที่มีค่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์อย่าง รวมถึง “สังวาล” เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงการถวายพระเกียรติยศ
4 สังวาลพระพุทธชินราช
สำหรับประวัติความเป็นมาของสังวาลพระพุทธชินราชแต่ละสาย เบญจวรรณ จันทราช ภัณฑารักษ์ชำนาญการ สำนักศิปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร สรุปไว้ในนิตยสาร ศิลปากร (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2567) สรุปได้ ดังนี้
สายแรก สร้างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2444 ประกอบด้วยดอกสังวาล 33 ดวง ทำด้วยทองแดงกะไหล่ทอง ประดับกระจก สายทองเหลืองทำเป็นห่วงคู่ 2 เส้น
สายที่ 2 สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 พ.ศ. 2478 ประกอบด้วยดอกสังวาล 33 ดวง ทำด้วยทองแดงกะไหล่ทอง ประดับพลอยสีสลับกันตลอดสาย สายทองเหลือง ทำเป็นห่วงร้อยต่อกัน 3 เส้น แต่ปัจจุบันชำรุด เหลือเพียง 30 ดวง
สายที่ 3-4 สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พ.ศ. 2549-2550 ประกอบด้วยดอกสังวาล 36 ดวง สายหนึ่งวัสดุทำด้วยทองคำ ประดับพลอย สำหรับใช้ในพระราชพิธี อีกสายทำด้วยทองแดงชุบไมครอนประดับพลอย เป็นสายสำรอง สายร้อยสร้อยสังวาล 3 เส้น
ปัจจุบันพระพุทธชินราชทรงนพรัตน์สังวาลรัชกาลที่ 9 ทองคำประดับพลอย ส่วนสังวาลอีก 3 สาย จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “พระพุทธชินราช” จึงเป็นพระพุทธรูปที่มีการจำลองมากที่สุด?
- ทำไมรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนพระราชหฤทัย ไม่ทรงอัญเชิญพระพุทธชินราชมากรุงเทพฯ
- พระพุทธชินราช พระพุทธรูปงามที่กษัตริย์ตั้งแต่กรุงศรีฯ-กรุงเทพฯ ทรงศรัทธา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2567