“ทรงเจ้าเข้าผี” ในสยามเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ทำกันอย่างไร?

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กรมดำรง ทรงเล่า ทรงเจ้าเข้าผี ในอดีต
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

“ทรงเจ้าเข้าผี” เป็นความเชื่อหนึ่งในสังคมไทยที่มีมายาวนาน แล้วเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เขาทำกันอย่างไร?

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พ.ศ. 2405-2486) ทรงเล่าเรื่องทรงเจ้าเข้าผีไว้ว่า เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้เคยเห็นวิธี “ทรงผี” ที่คนอื่นแอบทำในวังหลายครั้ง

เวลานั้น เจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่มีคนนับถืออยู่มาก มีด้วยกัน 3 องค์ คือ เจ้าพ่อหอกลอง เจ้าพ่อหนูเผือก และ เจ้าพ่อพระประแดง

กรมดำรง ทรงเล่าว่า การทรงผีอย่างไทย คนทรงต้องเป็นผู้หญิง มักเป็นคนอายุกลางคน ก่อนจะทำพิธีต้องให้คนทรงอาบน้ำชำระร่างกายและนุ่งผ้าห่มใหม่ นุ่งผ้าลอยชาย ห่มแพรแถบ พาดสองบ่า เหมือนอย่างผู้ชาย และนั่งขัดสมาธิ ประณมมือถือธูปจุดมีควัน หลับตานิ่งอยู่ด้วย ส่วนพวกคนที่ร่วมคิดก็นั่งคอยดูอยู่รอบตัว

“พอสักครู่หนึ่งมือคนทรงที่ถือธูปเริ่มสั่นและสั่นมากขึ้นทุกที จนธูปหลุดร่วงไปจากมือ ก็วางมือลงที่ตักนั่งโคลงตัวไปมา เป็นอันเข้าใจกันว่าเจ้าผีมาเข้าทรงแล้ว

พวกร่วมคิดคนหนึ่งจึงถามว่าเป็นเจ้าพ่อองค์ไหน คนทรงก็บอกให้ทราบว่าองค์นั้นๆ เมื่อรู้แล้วก็พูดกันต่อไปตามเรื่องธุระประสงค์ ประหลาดอยู่ที่คนพูดกับเจ้าผีต้องเรียกตัวเองว่า ‘ลูกช้าง’ จะหมายความว่ากระไรไม่เคยได้ยินอธิบาย คิดก็ไม่เห็นว่าจะเป็นเพราะเหตุใด

ครั้นพูดกันเสร็จธุระแล้วเมื่อเจ้าผีจะออกนั้น คนทรงพูดขึ้นว่า ‘ไปละนะ’ ว่าแล้วตัวก็สั่นอีกพักหนึ่ง แล้วเลยฟุบนอนหอบหายใจอยู่สักครู่หนึ่งจึงกลับได้สมปฤดี

มาคิดดูในเวลานี้ ดูก็เป็นอย่างเดียวกันกับการทรงผี (Seanee) ของฝรั่งที่ยังชอบกันอยู่แพร่หลายนั้นเอง แต่ชาวเอเซียทำกันมาแล้วตั้งร้อยพันปี แต่โบราณไทยเราเรียกว่า ‘ลงผี’ เรียกคนทรงว่า ‘แม่มด’”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 อ้างอิง :

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, ความทรงจำ. พระนคร : เจริญธรรม, 2494


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กรกฎาคม 2567