“ไสยศาสตร์” เดิมคำนี้หมายถึง “ศาสนาพราหมณ์” ?

คุณไสย ไสยศาสตร์
"เถรขวาดทำเสน่ห์" จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย

“ไสยศาสตร์” พูดคำนี้แล้วคนที่กำลังอ่านอยู่คงนึกถึง วิชาไสย การเล่นของหรือเลี้ยงดูสิ่งเร้นลับบางอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการ แต่ที่จริงแล้ว ไสยศาสตร์ เดิมคำนี้หมายถึง ศาสนาพราหมณ์ 

ในหนังสือ “ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง” (สำนักพิมพ์มติชน) ของ ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวถึงประเด็น ไสยศาสตร์ เดิมคำนี้หมายถึง ศาสนาพราหมณ์ และอื่น ๆ ไว้ว่า…

Advertisement

“คำว่า ‘ไสยศาสตร์’ อาจารย์ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ท่านว่า หากดูจากจารึกที่ฐานเทวรูปพระอิศวรสมัยอยุธยาใช้คำว่า ‘ไสยศาสตร์’ ดังนั้นคำนี้แต่เดิมหมายถึง “ศาสนาพราหมณ์” (คู่กับพุทธศาสน์และศาสนา ‘พระปะกำ’ คือศาสนาพื้นเมือง) จึงควรเขียนศาสน์ ไม่ใช่ศาสตร์

ผมเห็นด้วยทุกประการ แต่เมื่อดูในหมายรับสั่งพิธีไหว้ครูละครสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 6 ก็พบคำเรียกเทวรูปของพราหมณ์ที่เข้าในพิธีไหว้ครูว่า ‘เทวรูปพระไสยศาสตร์’ (สะกดตามต้นฉบับ) แสดงว่าความหมายของไสยศาสตร์หรือไสยศาสน์ยังหมายถึงศาสนาพราหมณ์อยู่

แต่ในเวลาต่อมาไสยศาสตร์จะเปลี่ยนความหมายไปเป็นสิ่งของและวิชาอาคมเร้นลับกฤตยาคุณต่างๆ ที่มีลักษณะความรู้อย่างหนึ่ง ความหมายจาก ‘ศาสน์’ จึงได้เปลี่ยนเป็น ‘ศาสตร์’ ไปแล้ว

ดังนั้น ผมคิดว่าในปัจจุบัน คำว่า ‘ไสยศาสตร์’ ก็น่าจะพอใช้การได้ เพราะเราไม่ได้ใช้เรียกศาสนาพราหณ์อีกแล้ว

ส่วนคำเจ้าปัญหา คือ ‘ไสย’ แปลว่าอะไรกันแน่ บางท่านว่า ก็แปลว่า ‘นอน’ หรือ ‘หลับใหล’ ตามคำสันสกฤต ‘ศย’ หรือ ‘ศยฺย’ ที่แปลว่าหลับใหล

ถือกันว่าของกฤตยาคุณ มนตร์ไสยเวท พวกนี้ใช้แล้วก็ทำให้ใหลหลงไป เป็นวิชาหลับ เป็นของให้มัวเมา ผิดกับ ‘พุทธ’ ที่แปลว่า ‘ตื่น’

แต่ท่านอาจารย์เขมานันทะบอกว่า ไสยแปลว่า ‘ดีกว่า’ คือเป็นศาสตร์ที่มีแล้วก็ดีกว่าไม่มี ผมไปค้นดูพจนานุกรมของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ท่านว่ามาจากคำมคธ ‘เสยฺย’ แปลว่า ‘ประเสริฐ’ และคำเปอร์เซีย ‘ศย’ ที่น่าจะรับอิทธิพลสันสกฤต ที่แปลว่าประเสริฐหรือดีเยี่ยมเช่นกัน

ดังนั้น ไสยศาสน์ที่หมายถึงศาสนาพราหมณ์ ควรแปลว่า ‘ศาสนาอันประเสริฐ’ หรือศาสนาอันดี เพราะพราหมณ์เองมักถือว่าศาสนาของตนเป็นศาสนาของอารยันหรือ ‘อารยธรรม’ (ธรรมในบริบทนี้แปลว่าศาสนา) หมายถึง ศาสนาที่เจริญและประเสริฐเช่นเดียวกัน

ครูไมเคิล ไรท์ มีความเห็นที่แผกออกไป ท่านว่าไสยศาสตร์น่าจะมาจาก ‘ไศวศาสน์’ คือ ศาสนาพระไศวะ หมายถึง ผู้นับถือพระศิวะซึ่งเป็นนิกายของพราหมณ์สยาม แต่ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นหนาพอในเรื่องนี้ 

ดังนั้น การเน้นความหมายของไสยให้แปลว่า นอนหรือหลับใหล ไม่ว่าจะเป็นไสยศาสน์ในความหมายของศาสนาพราหมณ์ หรือไสยศาสตร์ในทุกวันนี้ จึงมีนัยของการเหยียดศาสนาอื่น โดยถือว่าต่ำกว่าพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาแห่งการตื่นรู้ ซึ่งผมคิดว่าคงไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ที่จะยึดถือความหมายแบบนี้ในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤษภาคม 2567