“ไสยศาสตร์” ความเชื่อของคนกรุงศรีฯ ในบันทึกฝรั่งที่ได้พบเห็น 

ศพ ลอยน้ำ อีกา ปลา กินซาก สะท้อน โรคระบาด โรคห่า ห่าลง สมัยต้นรัตนโกสินทร์
จิตรกรรมเขียนบนแผ่นไม้คอสอง ศาลาการเปรียญ วัดท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เขียนราวรัชกาลที่ 4 เป็นภาพศพลอยน้ำโดยมีทั้งอีกา และปลามากินซาก ซึ่งน่าจะเป็นภาพสะท้อนการระบาดของโรคห่าในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (น่าจะเป็นภาพชายชาวจีนเห็นได้จากการไว้เปียแบบแมนจู)

ความเชื่อเรื่อง “ไสยศาสตร์” มีอยู่ในสังคมต่างๆ ตามคติความเชื่อและวัฒนธรรมมากน้อยและยาวนานแตกต่างกันไป สำหรับสังคมไทย หรือ คนไทย นั้น ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์พอจะแบ่งได้เป็น 5 ประเภทใหญ่ คือ ผีสางเทวดา, ฤกษ์ยาม, เครื่องรางของขลัง, เวทมนตร์คาถา และโชคลาง

เมื่อพิจารณาดูแต่ละประเภทก็กลมกลืนกับวิถีชีวิต คนไทยส่วนใหญ่ต้องเคยมีหรือเคยใช้ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์อย่างหนึ่งอย่างใดกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันไม่ธรรมดาสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งครั้งกรุงศรีอยุธยาชาวต่างชาติที่เดินทางมาสยามพบเจอกับความเชื่อเช่นนี้อย่างไร สามารถดูได้ผ่านบันทึกของพวกเขา

โยส เซาเต็น (Joost Schouten) ผู้จัดการบริษัทการค้าของฮอลันดา ที่เข้ามาประจำการในกรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ. 2171-2179  บันทึกความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาว่า

“ชาวสยามมีศรัทธาเลื่อมใสในศาสนาและกลัวพระเจ้าก็จริง แต่เขาก็กลัวผีปีศาจมากกว่า เขาเชื่อว่าพวกผีเหล่านั้นนำความเดือดร้อนมาให้…เมื่อชาวสยามเจ็บป่วยหรือตกทุกข์ได้ยากก็มักจะนำผลไม้หรือสัตว์ไปเซ่นไหว้สรวงภูตผีปีศาจด้วยพิธีการต่างๆ การเซ่นไหว้ภูติปีศาจนั้นบางครั้งก็มีพิธีการที่พิศดาร…การที่ต้องมาเซ่นสรวงภูตผีปีศาจเช่นนี้ เพราะเขาเข้าใจว่าพระเป็นเจ้าได้ละทิ้งเขาเสียแล้ว เขาจึงต้องหันมาเอาใจประจบพวกผีปีศาจ” 

บาทหลวงชัวซีย์ (Abbe de Choisy) ผู้ช่วยทูตในคณะของ เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองค์ ราชทูตที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้เชิญพระราชสาส์นมายังสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. 2228 บันทึกถึงความเชื่อเรื่อง “ฤกษ์ยาม” ของคนไทย เกี่ยวกับการเดินทางของคณะทูตว่า

“ทางในกรุงกำลังประชุมกันหาฤกษ์วันอันเป็นอุดมมหามงคลเพื่ออัญเชิญ ฯพณฯ ท่านขึ้นบกอยู่ อันหมายความได้ว่าถ้าพวกภิกษุสงฆ์ยังโอ้เอ้วิหารรายในการหาฤกษ์งามยามดีอยู่แล้วไซร้ เราก็เห็นจะต้องคอยวันอันเป็นอุดมมหามงคลนั้นอยู่ในอ่าวนี้ต่อไปอีกช้านานมิพักต้องสงสัย”

เมื่อจะอัญเชิญพระราชสาส์นไปถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็มีฤกษ์ที่กำหนดไว้ต่างหากว่า “วันที่กำหนดนั้นเป็นวันพฤหัสบดีที่ 18 เดือนนี้ (ตุลาคม พ.ศ. 2228) บรรดาโหราจารย์ ต่างพากันยืนยันว่า เป็นฤกษ์งามยามดี กล่าวกันว่าพวกโหรนี้พยากรณ์ไม่เคยพลาดสักครั้งเดียว”

ลาลูแบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศส ที่เข้ามาเมืองไทยประมาณสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกถึงความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาและเวทมนตร์คาถาของ “คนไทย” ว่า

“ชาวสยามเป็นโรคคลั่งเพ้อบางอย่างเรียกผีเข้า อาการโรคที่เป็นนั้นบางทีก็พิลึกมาก เชื่อกันว่าเป็นด้วยถูกเวทมนตร์คุณไสยกฤตยา แต่นอกจากอาการป่วยเช่นนี้ หมอสยามยังถือว่าเป็นอำนาจปีศาจแผลงฤทธิ์คือผีเข้าจำต้องกึ่งขับผี จึงรักษาคนไข้ด้วยใช้หวดด้วยหวาดอาคมลงพระคุณ หรือไปหาคนดีมีวิชา หมอหรือแม่มดมาแก้ไข เวลาข้าพเจ้าอยู่ในพระมหานครสยาม (กรุงศรีอยุธยา) นั้น ได้เห็นหมอทำให้คนไข้เชื่อว่า เขาได้ถอนหนังเนื้อทั้งผืนที่ผสมกับยาซึ่งคนไข้ได้กลืนหนังทั้งแผ่น…เข้าไปไว้ในท้องแล้วด้วยคาถาอาคมออกมา” 

มองเซนเยอร์ เดอโลลีแยร์ บาทหลวงฝรั่งเศสที่เป็นราชทูตเดินทางมากรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ กล่าวถึงความเชื่อในเรื่องเวทมนตร์คาถาของคนไทยว่า

“เจ้าพระยาพระคลังจึงได้เรียกถ้วยมา 1 ถ้วย ในถ้วยนั้นจะมีน้ำมันหรือน้ำอะไรก็ไม่ทราบ แล้วได้เอาถ้วยนั้นตั้งบนไฟถ่าน เจ้าพระยาพระคลังได้พัดไฟด้วย แล้วเจ้าพระยาพระคลังได้เอามือประสานที่หน้าอก ทำปากมุมมับจะว่ากระไรก็ไม่ทราบสัก 15 นาที…ครั้นน้ำมันหรือน้ำในถ้วยได้เดือดแล้ว เจ้าพระยาพระคลังได้เอาปลายนิ้วจิ้มลงในน้ำมันที่เดือด แล้วส่งถ้วยน้ำมันให้พวกเราทำบ้าง แต่พวกเราไม่มีใครต้องการจับสักคนเดียว ส่วนเจ้าพนักงานก็ได้เอานิ้วจิ้มลงไปในน้ำมันเหมือนกัน แล้วบุตรเจ้าพระยาพระคลังก็เอานิ้วจิ้มบ้าง คนหนึ่งพูดว่าแดดร้อนกว่าน้ำมันเดือดนี้เสียอีก”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก จิตใส อยู่สุขขี. การศึกษาความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ของคนไทยจากเอกสารสมัยอยุธยา. วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต วิชาเอกประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีนาคม 2539


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2566