ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“เบิกพระโอษฐ์” เป็นคำที่ทุกวันนี้เราอาจไม่ค่อยคุ้นหูกันเท่าใดนัก แต่โดยคำแล้วก็อาจพอสันนิษฐานได้ว่าเกี่ยวข้องกับเจ้านาย แต่หมายความว่าอย่างไร?
ส. พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2553 ให้รายละเอียดไว้ว่า เบิกพระโอษฐ์ เป็นประเพณีโบราณ ทำเมื่อประสูติพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ตามที่ นายเศวต ธนประดิษฐ์ ที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง อธิบายพอสรุปได้ว่า
เมื่อแพทย์ถวายการตัดพระสกุน (รก) เรียบร้อยแล้ว จะมีพระราชวงศ์ผู้ใหญ่รับพระราชโอรสหรือพระราชธิดาอัญเชิญลงในพระกระด้งหุ้มผ้าขาว รองด้วยหนังหมี ทอดพระยี่ภู่ (เบาะ) ปูลาดด้วยผ้าขาว
ตามราชประเพณี มีของวางในพระกระด้ง คือ พระภูษาทรงคาด (พระภูษารัดพระองค์) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผืน 1 พระแสงกริช 1 พระแสงปืนนพรัตน์ 1 (พระแสงทั้ง 2 นี้ ถ้าเป็นพระราชธิดาเปลี่ยนเป็นเครื่องปักถักร้อย) กระดานชนวน 1 สมุดดินสอ 1
เมื่อผู้รับพระองค์ทำพิธีร่อนพระกระด้งตามแบบโบราณแล้ว จึงอัญเชิญพระกระด้งวางลงบนตั่งทอง พระมหากษัตริย์ทรงรินน้ำในพระมหาสังข์ลงในจอกทองที่มีพานทองรองรับ แล้วทรงใช้ช้อนวัก (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ช้อนทรงตักทำด้วยทอง) ตักน้ำในจอกทองหยอดลงในพระโอษฐ์พระราชโอรสหรือพระราชธิดา เป็นเสร็จพระราชพิธีเบิกพระโอษฐ์ อย่างไรก็ดี ราชประเพณีโบราณนี้ยังมีรายละเอียดอีกมากในการแบ่งชั้นของเครื่องใช้ตามยศศักดิ์
ส. พลายน้อย ระบุอีกว่า ผู้ที่โปรดให้เป็นผู้รับพระองค์นั้น เข้าใจว่าจะทรงเลือกเฟ้นเป็นพิเศษ เช่น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เจ้าจอมมารดาปราง พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นผู้รับพระองค์เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เพราะทรงยกย่องตรัสเรียกว่า “แม่ปราง” มาตลอด
หลายคนอาจสงสัยว่าน้ำในพระมหาสังข์เป็นน้ำอะไร เรื่องนี้ ส. พลายน้อย บอกว่า ตามประเพณีโบราณเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จฯ ทรงลอยพระประทีปในคืนวันเพ็ญ เดือน 12 แล้ว ทรงตักน้ำจากกลางแม่น้ำ แล้วโปรดให้เก็บรักษาไว้ที่ห้องพระ เมื่อมีพระราชพิธีเบิกพระโอษฐ์ เจ้าพนักงานก็จะนำมาบรรจุในพระมหาสังข์ดังกล่าวข้างต้น
อ่านเพิ่มเติม :
- หม่อมถนัดศรี เผยรสชาติ-ข้อกำหนดอาหารในวัง และเหตุถูกแซวเป็น “พระยาโบราณทำลายราชประเพณี”
- นางร้องไห้ ธรรมเนียมในราชสำนักที่รบกวนพระทัยรัชกาลที่ 6 “รู้สึกรกหูเสียจริง”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ส. พลายน้อย. “เบิกพระเนตร เบิกพระโอษฐ์”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2542.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 2567