นางร้องไห้ ธรรมเนียมในราชสำนักที่รบกวนพระทัยรัชกาลที่ 6 “รู้สึกรกหูเสียจริง”

นางร้องไห้ ผู้หญิงฝ่ายใน โกนผม เศร้าโศกเสียใจ เมื่อมีการออก พระเมรุมาศ ท้าวทศรถ จิตรกรรมฝาผนัง รามเกียรติ์ ณ พระระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
"นางร้องไห้" ผู้หญิงฝ่ายในโกนผมและเศร้าโศกเสียใจเมื่อมีการออกพระเมรุมาศท้าวทศรถ จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ณ พระระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ความเศร้าโศกเสียใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอเมื่อบุคคลที่เคารพรักจากไปอย่างไม่มีวันกลับ จึงมีธรรมเนียมใน งานศพ ที่แสดงความอาลัยแด่ผู้ล่วงลับด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้ง นางร้องไห้ เป็นอีกธรรมเนียมหนึ่งในพิธีของราชสำนักที่จัดขึ้นเพื่อการนี้ใน งานพระบรมศพ ซึ่งการร้องของนางร้องไห้ที่ไม่ได้ร้องออกมาจริงๆ นั้น ทำให้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรำคาญพระทัยยิ่งนัก

การมีนางร้องไห้ในราชสำนักอาจได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากชนชาติมอญ ซึ่งติดต่อสัมพันธ์กับไทยมาเป็นเวลานาน ในประเพณีมอญมีพวกรับจ้างร้องไห้ มีเสียงร้องทำนองโอดครวญ จนนำมาตั้งเป็นชื่อทำนองเพลงว่า มอญร้องไห้ มีที่มาแต่ครั้งพุทธกาล

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงปาฏิหาริย์ให้พระบาททะลุออกมานอกโลงเพื่อให้พระมหากัสสปบูชา ฝ่ายพุทธบริษัทที่ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล ร้องไห้กันระงม จึงสืบเป็นประเพณีมาเมื่อบิดามารดาหรือครูบาอาจารย์ตายไป ลูกหลานและศิษย์ต้องไปร้องไห้แสดงความกตัญญูกตเวที จึงเกิดเป็นผู้เชี่ยวชาญร้องไห้รำพัน รับจ้างร้องเป็นพิเศษ

ผู้เป็นมอญร้องไห้จะเป็นผู้หญิงที่มีอายุมาก และจะร้องในกรณีที่สมภารเจ้าวัดที่เคารพนับถือของประชาชนมรณภาพ ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาไม่ค่อยนิยมทำกัน

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานการมีนางร้องไห้ใน คำให้การขุนหลวงหาวัด อธิบายถึงการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ว่าได้เกณฑ์นางสนมกำนัลมาเป็นนางร้องไห้ ซึ่งในการร้องไห้จะควบคู่การประโคมมโหรีปี่พาทย์ ดังนี้

“แล้วจึงกะเกณฑ์ให้พระสนมกำนัลทั้งปวงมานั่งห้อมล้อมพระบรมศพแล้วก็ร้องไห้เปนเวลาหน้าที่เปนอันมาก แล้วมีนางขับรำเกณฑ์ทำมโหรี กำนัลนารีน้อยๆ งามๆ ดั่งกินนรกินนรีมานั่งห้อมล้อมขับรำทำเพลงอยู่เปนอันมากแล้วจึงให้ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์และมโหรีปี่พาทย์อยู่ทุกเวลา”

ธรรมเนียมการศพเช่นนี้กระทำสืบเนื่องมาจนสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ซึ่งมีนางร้องไห้ และประโคมกลองชนะตามเวลา เหมือนอย่างพระมหากษัตริย์แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

ใน ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายถึงผู้ที่จะมีนางร้องประกอบงานพระศพได้จะต้องเป็นเจ้านายในลำดับชั้นเจ้าฟ้า ซึ่งได้รับการ ช้าลูกหลวง คือมีข้าหลวงสำหรับร้องเพลงเห่ ในเวลาบรรทมภายหลังจากผ่านพระราชพิธีขึ้นพระอู่แล้ว ด้วยท่วงทำนองและใช้คำที่ไม่เหมือนกับเห่เจ้านายตามธรรมเนียม หากเจ้าฟ้าพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์จึงมีนางร้องไห้พร้อมกับสร้างพระเมรุกลางเมืองด้วย ความว่า

“อนึ่ง ถ้ามีช้าลูกหลวงเวลาประสูติแล้ว เวลาสิ้นพระชนม์ก็ต้องมีนางร้องไห้ แลทำพระเมรุกลางเมือง ใหญ่บ้าง ย่อมบ้างตามกาลเวลา”

วิธีการร้องต้องใช้คนจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะใช้ นางพระสนม นางพระกำนัล หรือผู้ที่ได้ถวายตัว มีต้นเสียง 4 คน และมีคู่ร้องรับประมาณ 80-100 คน ครั้งสุดท้ายที่มีนางร้องไห้ตามราชประเพณี คืองานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดนางร้องไห้คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ได้ให้เจ้าจอมและพนักงานคอยร้องไห้ตามบทในเวลาประโคมย่ำยาม คือ ย่ำรุ่ง เที่ยง ย่ำค่ำ ยาม สองยาม สามยาม มีเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เจ้าจอมพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ 5 เป็นต้นเสียงร้องนำ ตามคำร้องต่อไปนี้

โอ้พระร่มโพธิทอง            พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูลกระหม่อมแก้ว       พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระเสด็จสู่สวรรค์ชั้นใด      ข้าพระบาทจะตามเสด็จไป
พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูลกระหม่อมแก้ว        พระพุทธเจ้าข้าเอย

เนื้อหาของคำร้องของบรรดานางร้องไห้เป็นการถวายความจงรักภักดี ที่เหล่าข้าบาทบริจาริกาขอตามไปปรนนิบัติยังสรวงสวรรค์ และถึงกับมีเรื่องเล่าในราชสำนักตามที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับทราบมา

“ได้ยินเขาเล่ากันว่า ทูลกระหม่อมปู่เมื่อเสด็จลงไปเยี่ยมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 ได้ทรงฟังนางร้องไห้ มีพระกระแสรท้วงว่า ‘ก็ถ้าใครๆ ก็จะขอตามเสด็จไปเสียหมดแล้วใครจะอยู่รับใช้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่เล่า?’ ครั้งนั้นเลยต้องงดนางร้องไห้ในเวลาที่ทูลกระหม่อมปู่เสด็จลงไปอยู่ที่พระมหาปราสาท”

เรื่องนางร้องไห้เป็นสิ่งที่รบกวนพระทัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอด งานพระบรมศพ พระราชบิดา

ทั้งนี้นางร้องไห้จะเริ่มร้องตรงเวลากับการประโคมพระบรมศพทำให้พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นการ ให้รู้สึกรกหูเสียจริงๆ” และร้องซ้ำไปซ้ำมา ไม่เป็นการร้องไห้จริงๆ กับทั้งยังส่งเสียงรบกวนเวลาที่พระกำลังถวายพระธรรมเทศนา

รวมไปถึงความประพฤติของผู้ที่ไปฟัง และตัวของนางร้องไห้เอง ที่แสดงกิริยาขาดความเคารพในกาลเทศะอย่างยิ่ง ความไม่เหมาะสมหลายประการที่ไม่ต้องด้วยพระราชนิยม ทำให้ทรงมีพระราชดำริที่จะยกเลิกธรรมเนียมการพระบรมศพดังกล่าว (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“ฉันเองโดนเข้าอย่างนั้นก็โกรธและต้องสั่งให้หยุดเหมือนกัน แต่มีคนที่ชอบนางร้องไห้ก็มีมาก เพราะเหตุต่างๆ พวกคนชั้นเก่า มีกรมนราธิปเปนต้น ชอบเพราะเห็นว่า ‘หรู’ ในพวกชั้นใหม่ๆ ไปฟังกันแน่นๆ เพราะไม่เคยฟังจึ่งอยากฟังฉนั้นก็มี แต่ที่ไปฟังสำหรับความต้องการส่วนตัวก็มี เช่นผู้ชายไปฟังเพราะอยากเห็นตัวนางร้องไห้ หรือถือเปนโอกาสได้ไปพบปะกับผู้หญิงที่ไปฟังนางร้องไห้อีกต่อหนึ่ง

นับว่าการฟังนางร้องไห้เท่ากับไปฟังสังคีตและกรอกัน ฝ่ายตัวผู้ที่เปนนางร้องไห้เองก็ออกจะถือเปนโอกาสไปประชุมคุยกัน คล้ายไปสโมสร ด้วยเหตุทั้งปวงนี้ฉันจึ่งได้เกลียดนางร้องไห้ และสั่งไว้ว่าเมื่อถึงงานศพฉันขออย่าให้มีนางร้องไห้เลย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” เขียนโดย นนทพร อยู่มั่งมี พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน, 2559.


ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 23 ตุลาคม 2560 และ 4 กุมภาพันธ์ 2565 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ