“เจ้าพ่อกู่ช้าง” ตำนานช้างมีฤทธิ์เดช พลายคู่บารมีพระนางจามเทวี

พิธีบวงสรวง เจดีย์กู่ช้าง เจ้าพ่อกู่ช้าง ศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง
พิธีบวงสรวงเจดีย์กู่ช้าง (ภาพจาก เว็บไซต์เทศาบาลเมืองลำพูน จังหวัดลำพูล, 17 เมษายน 2562)

เจ้าพ่อกู่ช้าง แห่ง ศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง คือสถูปเจดีย์โบราณที่เชื่อว่าเป็นที่บรรจุซากช้างพลายคู่บารมีของกษัตรีโบราณ พระนางจามเทวี ผู้ปกครองหริภุญชัย รัฐโบราณในดินแดนไทย

ศาลเจ้าพ่อช้างกู่ อยู่ใกล้กับวัดไก่แก้ว ในเขตเทศบาลเมืองลำพูน ห่างจากวัดไก่แก้วไปทางทิศตะวันออกประมาณ 200 เมตร

“กู่ช้าง” คือสถูปที่มีรูปทรงต่างไปจากสถูปทั่ว ๆ ไปในภาคเหนือ เพราะเป็นทรงกลมที่ตั้งอยู่บนฐาน 4 ชั้น องค์สถูปมีลักษณะเป็นทรงกระบอกปลายมน หรือทรงลอมฟาง ก่อด้วยอิฐ สูงจากพื้นดินประมาณ 30 เมตร เหนือสถูปเป็นแท่นคล้ายบัลลังก์เจดีย์

ตำนานเล่าว่า พระนางจามเทวี ผู้ปกครองเมืองหริภุญชัย (บ้างสะกด หริภุญไชย) ราว พ.ศ. 1300 ทรงมีช้างคู่บารมีนามว่า “ผู้ก่ำงาเขียว” หรือผู้กล่ำงาเขียว หมายถึง ช้างผิวสีคล้ำ งาสีเขียว เป็นช้างมีฤทธิ์เดช ทั้งเป็นช้างศึกของเจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ พระราชโอรสแฝดในพระนางจามเทวี เมื่อครั้งทรงออกศึกทำสงครามต้านกองทัพของขุนหลวงวิรังคะ กษัตริย์ชาวลัวะ แห่งระมิงค์นคร ช้างผู้ก่ำงาเขียวมีฤทธิ์ข่มขวัญข้าศึก เมื่ออยู่ในสงคราม หากหันหน้าไปทางศัตรู ศัตรูจะอ่อนกำลังลงทันที

เมื่อช้างเชือกนี้ล้ม (ตาย) ในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 เหนือ เจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศได้นำสรีระของช้างใส่ลงในแพให้ไหลล่องไปตามลำน้ำกวง แต่ขณะที่แพช้างล่องไป ทั้งสองพระองค์ทรงเปลี่ยนพระทัย แล้วให้คนนำร่างช้างกลับขึ้นฝั่งมาไว้บริเวณท่าน้ำวัดไก่แก้ว เพื่อจะฝังไว้ที่บริเวณกู่ช้าง

การสร้างสถูปสำหรับฝังช้างผู้ก่ำงาเขียว ใช้เวลาทั้งสิ้น 8 เดือนจึงแล้วเสร็จ จากนั้นบรรจุซากช้างให้หันหน้าขึ้นฟ้า ส่วนงาทั้งสองข้างนำไปใส่ไว้ในสถูปที่ประดิษฐานบนพระบรมอัฐิของพระนางจามเทวี ภายในเจดีย์สุวรรณจังโกฏ หรือกู่กุด วัดจามเทวี

เวลาต่อมา ชาวเมืองลำพูนพากันสร้าง “ศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง” ขึ้น เพื่อปกปักรักษาเจดีย์กู่ช้าง และเพื่อสักการะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนและเมืองลำพูน

ช่วงสงกรานต์ คือวันที่ 17 เมษายน ของทุกปี ชาวลำพูนจะจัดพิธีรดน้ำดำหัวและบวงสรวงเจ้าพ่อกู่ช้าง เพื่อขอขมาลาโทษ และขอให้เจ้าพ่อช่วยปกปักรักษาผู้คนให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและอันตรายต่าง ๆ

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า กู่ช้าง น่าจะเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นสมัยล้านนา ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 คล้ายเจดีย์พม่าในศิลปะยุคอาณาจักรศรีเกษตร หรือพยู อาจเป็นไปได้ว่า เจดีย์กู่ช้าง สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา

ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนกู่ช้างเป็นโบราณสถานเมื่อปี 2523

คาถาไหว้ “เจ้าพ่อกู่ช้าง”

“สาธุอิสังโต สาธุอิสังโต สาธุอิสังโต กะยา กะโร อิกะตัง พระยาขุนจง คงกระพัน เจ้าพระชาช้างฅนผู้ก่ำงาเขียว อิตะกะตัง จะหิตายะ จะสุขายะ ปรมังโส ติ”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กองบรรณาธิการข่าวสด. (2553). เทพ-เทวะ ศักดิ์สิทธ์-สักการะ. กรุงเทพฯ : มติชน.

เทศบาลเมืองลำพูน. โบราณสถานกู่ช้าง กู่ม้า. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2567. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 2567