“เล่าปี่” ผู้ชายแล้งน้ำใจ ที่ทิ้งลูก, เมีย เพื่อเอาตัวรอดยามคับขัน

ภาพวาด ขงเบ้ง ขี่ม้า ตาม เล่าปี่
ภาพวาดสมัยราชวงศ์หมิง (ซ้าย) ขงเบ้งขี่ม้าตามเล่าปี่ลงจากเขา เมื่อเล่าปี่ไปเชิญเป็นครั้งที่ 3

ในวรรณกรรมสามก๊ก “เล่าปี่” ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในตัวละครที่ “ทรงคุณธรรม” แต่ทางประวัติศาสตร์เล่าปี่คือ ผู้ชายแล้งน้ำใจต่อลูก, เมีย ใส่ใจเพียงการบรรลุถึงการใหญ่

เรื่องนี้ พงศาวดารสามก๊กจี่ ภาคจ๊กก๊ก บทชายาของสองกษัตริย์ กล่าวถึง ภรรยาเอก (ฮูหยิน) ของเล่าปี่ ทั้ง 4 คน คือ กำฮูหยิน, บิฮูหยิน, ซุ่นฮูหยิน และง่อฮูหยิน และทีท่าฉันท์สามีภรรยาของเล่าปี่ ที่มีให้กับฮูหยินแต่ละคน

กำฮูหยิน อดีตอนุภรรยาที่เลื่อนชั้นขึ้นเป็นฮูหยิน เล่าปี่ได้มาตอนเป็นข้าหลวงมณฑลอิจิ๋ว ในหนังสือสืออี้ (บันทึกเก็บตก) ของหวางเจีย เล่ม 8 บันทึกไว้ว่า “กําฮองเฮามเหสีเล่าปี่เป็นคนอําเภอไพก้วน (เพ่ยเสี้ยน) เกิดในตระกูลต่ำต้อย…พออายุ 18 ปี ผิวผุดผ่องเนื้อละมุน ท่วงทีกิริยางามมีเสน่ห์ เล่าปี่รับไว้ในเรือนม่านแพร…”

ก่อนหน้ากำฮูหยิน ภรรยาเอกของเล่าปี่ตายไปหลายคน กำฮูหยินจึงเป็นผู้ดูแลจัดการงานในบ้านทั้งหมด และติดตามเล่าปี่ไปจนถึงเก็งจิ๋ว ภายหลังให้กําเนิดอาเต๊า (เล่าเสี้ยน) อาเต๊าเกิดได้ไม่นานก็เกิดศึกสะพานเตียงปันเกี้ยว

พงศาวดารสามก๊กจี่บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า [เล่าปี่]ทิ้งกําฮูหยินกับเล่าเสี้ยน เคราะห์ดีได้จูล่งช่วยคุ้มกัน จึงพ้นวิบัติภัยมาได้”

ฮูหยินคนแรกนี้ เล่าปี่เลือกตัดสินใจทิ้ง เมีย (และลูก) หนีเอาตัวรอด

บิฮูหยิน ไม่ปรากฏชื่อชัดเจน แต่เป็นน้องสาวบิต๊ก ที่ปรึกษาเล่าปี่ พงศาวดารสามก๊ก ภาคจ๊กก๊ก บทประวัติบิต๊กกล่าวว่า ปีแรกของรัชศก เจี้ยนอัน (ค.ศ. 196) ครอบครัวเล่าปี่ถูกลิโป้จับไป “บิต๊กจึงยกน้องสาวให้เป็นภรรยา” พร้อมทั้งให้ทรัพย์สมบัติเป็นสินสมรสไปด้วยเป็นอันมาก นับเป็นการ “ให้ถ่านกลางหิมะ” แก่เล่าปี่ ซึ่งกําลังยากไร้อับจน

ตามนิยายสามก๊ก คราวศึกสะพานเตียงปันเกี้ยว บิฮูหยินฆ่าตัวตายเพื่อให้จูล่งพาเล่าเสี้ยนฝ่าวงล้อมออกไป ดังข้อความว่า “บิฮูหยินวางอาเต๊าไว้ แล้วโดดบ่อน้ำตาย” แต่ตามเอกสารประวัติศาสตร์ ไม่มีบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับบิฮูหยิน

ฮูหยินคนนี้ เป็นทั้งหน้าตา และกำลังสำคัญ เพราะชาติตระกูลดี, มีพี่เป็นที่ปรึกษา แถมมีทรัพย์สมบัติ

ซุนฮูหยิน เป็นน้องสาวซุนกวน พงศาวดารสามก๊กจี่ ภาคจ๊กก๊ก บทประวัติองค์บุพราช (เล่าปี่) บันทึกไว้ว่า หลังศึกเซ็กเพ็ก เล่าปี่ยึดครองเก็งจิ๋ว ซุนกวนต้องการเสริมยุทธศาสตร์เป็นพันธมิตรกับเล่าปี่ให้มั่นคง “จึงยกน้องสาวให้เพื่อรักษามิตรภาพให้มั่นคง”

ขณะนั้น เล่าปี่อายุ 49 ปี ส่วนซุนฮูหยินนั้นอนุมานจากอายุซุนกวน ก็น่าจะอายุไม่เกิน 20 เธอมีนิสัยกร้าวแกร่ง ตามพงศาวดารสามก๊กจี่ฯ กล่าวว่า ซุนฮูหยินกับเล่าปี่ไม่ค่อยมีความผูกพันลึกซึ้งต่อกันนัก และมักแยกกันอยู่เสมอ ข้างตัวเธอมักจะมี “สาวใช้ร้อยกว่าคน ล้วนถืออาวุธคอยรับใช้ ทุกครั้งที่เล่าปี่เข้าไปหารู้สึกหวาดผวา” 

ขงเบ้งเองเคยก็กล่าวถึงซูนฮูหยินว่า “เมื่อครั้งนายท่าน (เล่าปี่) อยู่ที่กองอั๋น ด้านเหนือกลัวโจโฉผู้เข้มแข็ง ด้านตะวันออกกลัวซุนกวนบีบคั้น ใกล้ตัวกลัวซุนฮูหยินซึ่งอาจแปรเปลี่ยนเป็นภัยใกล้ตัว” 

ต่อมาซุนกวนกับเล่าปี่แตกคอกัน ซุนกวนส่งคนมารับซุนฮูหยินกลับ ซุนฮูหยินจะเอาเล่าเสี้ยนไปกังตั๋งด้วย ขงเบ้งใช้จูล่งนําทหารไปสกัดกลางแม่น้ำให้ปล่อยตัวเล่าเสียน จึงหยุดยั้งไว้ได้

ฮูหยินคนนี้ จึงแต่งเข้ามาด้วยเหตุทางการเมืองล้วนๆ

ง่อฮูหยิน เป็นชาวเมืองตันลิว (เฉินหลิว คือเมืองไคเฟิงมณฑลเหอหนันในปัจจุบัน) เดิมเป็นเมียเล่ามอ เล่ามอตายแล้วครองหม้ายอยู่ ขณะที่เล่าปี่เองหลังจากซุนฮูหยินกลับกังตั๋ง ก็ไม่มีคนอยู่เคียงกาย เหล่าขุนนางจ๊กก๊กจึงเสนอให้เล่าปี่รับนางมาเป็นภรรยาเอก

ฮูหยินคนนี้ คงตกแต่งมาดูแลเล่าปี่และเรื่องในบ้านเป็นสำคัญ

ภรรยาของเล่าปี่ที่ค้นได้จากบันทึกประวัติศาสตร์มีเพียง 4 นางข้างต้น แต่เล่าปี่ไม่ได้มีภรรยาเพียงเท่านั้น เพราะก่อนหน้ากำฮูหยิน เล่าปี่มีภรรยามาแล้วหลายคน หลังจากเป็นใหญ่ในเสฉวนคงมีชายารองอีกจำนวนหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หลี่ฉวนจวินและคณะ เขียน, ถาวร สิกขโกศล แปล. 101 คำถามสามก๊ก , สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกกรกฎาคม 2556.

หลี่อันสือ เขียน, เกียรติศักดิ์ ฟงปรีชากุล แปล, สงครามสามก๊ก 26 ยุทธวิธีสู่ชัยชนะ, สำนักพิมพ์มติชน 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2567